xs
xsm
sm
md
lg

NOBLE นำร่องหุ้นกู้ขายฝืด / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE รายงานการเสนอขายหุ้นกู้ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายนที่ผ่านมา วงเงิน 1,500 ล้านบาท ปรากฏว่า มีการจองซื้อเพียง 490 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน

หุ้นกู้ NOBLE ที่เสนอขาย มีอายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี โดยทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตที่ BBB และมีแนวโน้ม “เชิงลบ” และเป็นการเสนอขายหุ้นกู้เพื่อระดมเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน (ROLL OVER) ในเดือนมิถุนายนนี้

แม้จะขายหุ้นกู้ไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ NOBLE มีแหล่งเงินเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีแหล่งเงินไว้รองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดเหมือน NOBLE

ปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 6.2 แสนล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทย คงประเมินแล้วว่า จะมีปัญหา DEFAULT หรือการผิดนัดชำระหุ้นกู้แน่ ถ้าแผนการ ROLL OVER โดยการออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อไถ่ถอนห้นกู้เดิมไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงขอการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาทไว้รองรับ
ตลาดตราสารหนี้ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักลงทุนไม่มั่นใจการลงทุนในหุ้นกู้ และหลีกเลี่ยงการลงทุน


หุ้นกู้ NOBLE เป็นเพียง 1 ในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายแห่งที่เสนอขายในเดือนเมษายนนี้ และไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน เนื่องจากขายหุ้นกู้ไม่หมด

สถานการณ์ “โควิด-19” ทำให้นักลงทุนต้องการถือเงินสดมากขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการลงทุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อาจไม่จูงใจมากพอ

ถ้า NOBLE กำหนดดอกเบี้ยหู้นกู้สัก 6% ผลลัพธ์ในการขายหุ้นกู้อาจออกอีกแบบ ไม่เหลือขายบานเบอะเหมือนที่เกิดขึ้น

NOBLE และบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่งส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ปีนี้อาจไม่หมู เหมือนปีก่อนๆ ซึ่งอาจรวมถึงห้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ของกลุ่มเจ้าสัวด้วย

แม้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจะคุยเขื่องออกมาว่า ได้เตรียมแหล่งเงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไว้แล้ว ถ้าหุ้นกู้ที่จะเสนอขายเพื่อนำเงินมา ROLL OVER มีปัญหาขายไม่หมด

แต่ทุกบริษัทหรือที่จะมีแหล่งเงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในทุกรุ่น รวมทั้งหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ของกลุ่มเจ้าสัวที่มีวงเงินหุ้นกู้รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท

ถ้าหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ อาจนำไปสู่ชนวนวิกฤตตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เช่นเดียวกับกองทุนตราสารหนี้ที่ถูกถล่มขายคืนหน่วยลงทุน จนกองทุนตราสารหนี้ในค่ายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องประกาศปิดการซื้อขายหน่วยลงทุน 4 กองทุน เนื่องจากไม่สามารถขายตราสารหนี้และไม่สามารถนำเงินมาไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทัน

และวิกฤตกองทุนตราสารหนี้ของกองทุนค่าย “ทหารไทย” ได้นำมาสู่การจัดตั้งกองทุน BSF ซึ่งจะเข้าไปซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต อินเวสเมนต์ เกรด หรือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป หากเสนอขายนักลงทุนไม่หมด

เงินกองทุน BSF กว่า 400,000 ล้านบาท ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้ใช้ เพราะถ้ายังกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ไม่คุ้มกับความเสี่ยงในสถานการณ “โควิด-19” นักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ หรือประชาชนทั่วไปคงไม่ซื้อ และปล่อยให้แบงก์ชาตินำเงินเข้าไปอุ้มหุ้นกู้ภาคเอกชนแทน

ถ้าส่งสัญญาณให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจขึ้น บางทีหุ้นกู้อาจขายกันเกลี้ยง โดยแบงก์ชาติไม่ต้องออกแรงเข้าไปอุ้ม

หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าไปอุ้มจริงๆ อัตราผลตอบแทนจากหุ้นกู้ที่เข้าไปช่วยซื้อ ควรคุ้มค่ากับความเสี่ยงของแบงก์ชาติ






กำลังโหลดความคิดเห็น