พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือกองทุน BSF วงเงิน 400,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันครั้งใหญ่ ในหมู่อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
BSF จัดตั้งขึ้น เพื่อซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ ระดับอินเวสท์เมนท์เกรด หรือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป และเป็นการระดมทุนเพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดการไถ่ถอน โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายในและภายนอกให้ได้เป็นส่วนใหญ่ก่อน
ส่วนหุ้นกู้ที่แบงก์ชาติจะซื้อไม่จำกัดว่า มีหลักประกันหรือไม่
ความกลัวตลาดตราสารหนี้จะพัง ความหวั่นไหวระบบสถาบันการเงินจะปั่นป่วนจนรับมือไม่อยู่ จึงนำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน BSF วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยแบงก์ชาติกระโดดลงเป็นผู้เล่นเสียเอง ปล่อยกู้ตรงให้บริษัทเอกชน ในรูปการซื้อหุ้นกู้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติกลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุน BSF เพราะขัดกับหลักการของแบงก์ชาติ กลัวเสียความเป็นกลาง กลัวการเอื้อบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และกังวลในความเสียหายจากการซื้อหุ้นกู้ ถ้าเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติหลายคนออกมาสนับสนุนกองทุน BSF
ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 20% ของจีดีพี แต่เป็นหุ้นกู้กลุ่มบริษัทเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมกันประมาณ 1 ล้านล้านบาท และเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทุน BSF จะออกมาอุ้มหุ้นกู้กลุ่มเจ้าสัว
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ไม่มีสิทธิเข้าถึงกองทุน BSF เพราะไม่มีบริษัทเอสเอ็มอีที่มีอันดับเครดิตอินเวสท์เมนท์เกรดหรือ BBB- ขึ้นไป
บริษัทที่อยู่ในระดับอินเวสท์เมนท์เกรด จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แม้ประกอบการจะขาดทุนหนัก เหมือนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยังได้จัดอันดับเครดิตระดับ A หรือแม้แต่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งเคยขาดทุนต่อเนื่องนับสิบปี แต่ไม่เคยตกจากอันดับอินเวสท์เมนท์เกรด
ดังนั้นกองทุน BSF จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยบริษัทขนาดใหญ่จนถึงบริษัทขนาดยักษ์ของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย โดยสร้างความมั่นใจว่า หุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ จะไม่มี Default หรือผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีแบงก์ชาติเข้ามาช่วยค้ำประกันในทางอ้อม
กองทุน BSF จะช่วยให้หุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ขายคล่องขึ้น ที่สำคัญต้นทุนในการระดมเงินต่ำ โดยหุ้นกู้บริษัทเจ้าสัวธนินท์และเจ้าสัวเจริญ ดอกเบี้ยประมาณ 2.5-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น ทำให้เจ้าสัวสามารถซื้อกิจการอะไรก็ได้ จะเทกโอเวอร์บริษัทระดับหลายแสนล้านล้านบาท ก็ไม่ต้องกังวลแหล่งเงินทุน
เพราะแม้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ แต่สามารถออกหุ้นกู้ได้ และต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยระดับ 3% จะซื้อกิจการอะไรในโลกก็ได้ โดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยง เพราะเจ้าของเงินลงทุนคือประชาชน และมีแบงก์ชาติมาช่วยอุ้มอีก
ความกลัวกิจการขนาดใหญ่จะมีปัญหาการชำระหนี้ และก่อชนวนวิกฤตหนี้ทั้งระบบ จนต้องตั้งกองทุน BSF มาช่วยอุ้มหุ้นกู้นั้น จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกิจการกลุ่มเจ้าสัว ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จนกลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ดำรงความได้เปรียบในการแข่ง ทั้งในด้านทุน ต้นทุนทางการเงิน และมาตรการสนับสนุน ซึ่งกลายเป็นการเอื้อประโยชน์โดยปริยาย
ระหว่างปี 2530-2540 ยุคที่กลุ่มบง.เอกธนกิจหรือหรือฟิน-1 ของนายปิ่น จักกะพาก รุ่งเรือง กลุ่มเอกธนกิจเคยเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่โตคับตลาดหุ้นมาแล้ว และนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า “เอกธนกิจ” จะไม่มีวันล้ม โดยแบงก์ชาติไม่กล้าดำเนินมาตรการกำกับดูแลหรือตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะกลัวผลกระทบที่ตามมา
เพราะหาก “เอกธนกิจ” มีปัญหา หรือล้ม บริษัทไฟแนนซ์ทั้งระบบจะล้มตาม ตลาดหุ้นจะปั่นป่วนครั้งใหญ่
ปัจจุบัน บริษัทในกลุ่มเจ้าสัว กำลังอยู่ในฐานะเดียวกันกับกลุ่มเอกธนกิจเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน โดยเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการดูแลอย่างดี และดำรงความได้เปรียบทางการแข่งขันทุกด้าน โดยเฉพาะการระดมทุนและต้นทุนทางการเงิน
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับการเยียวยาเป็นพิเศษกว่าธุรกิจทั่วไป
ทำไมต้องห่วงการออกหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ ทำไมไม่ปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเหมือนธุรกิจทั่วไป
ทำไมแบงก์ชาติกลัวว่า หุ้นกู้ที่มีคุณภาพ อันดับเครดิตระดับอินเวสท์เมนท์เกรดของบริษัทขนาดใหญ่ จะไม่มีคนซื้อ ถ้าจะเพิ่มผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยเพื่อจูงใจนักลงทุน
จากดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2.5% หรือ 3% ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ขยับดอกเบี้ยเป็น 4% หรือ5% ทำไมจะขายไม่ได้ ทำไมไม่ให้ประชาชนผู้ลงทุน มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่บ้าง
กลัวเจ้าสัวจะมีต้นทุนทางการเงินสูงไป กลัวกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะไม่ได้เปรียบในการแข่งขันหรือไม่ จึงจัดตั้งกองทุน BSF มาช่วยอุ้มหุ้นกู้เจ้าสัว