xs
xsm
sm
md
lg

ดร.โกร่ง กับแบงก์ชาติ จุดยืนผลประโยชน์ที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เลยว่า เป็นครั้งแรกที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน ที่รับตำแหน่งต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2558 เรียงแถวกันออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนแบงก์ชาติ กรณีตั้งกองทุนดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือบีเอสเอฟ (BSF : Corporate Bond Stabilization)

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติทั้ง 3 คนได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นางธาริษา วัฒนเกส และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

การตั้งกองทุน BSF เป็นหนึ่งในสองมาตรการรับมือผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ของแบงก์ชาติ หลักการคือ กองทุนซึ่งมีวงเงิน 4 แสนล้านบาท จะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ คือ หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตไม่ต่ำว่า BBB ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้หมด โดยมีเงื่อนไขว่า นอกจากหุ้นกู้นั้นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า BBB แล้ว ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น จะต้องช่วยตัวเองเสียก่อน ทั้งด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือเพิ่มทุน ขาดเหลือเท่าไรแบงก์ชาติจึงจะเข้าไปช่วยซื้อหุ้นกู้บางส่วน

การออกหุ้นกู้ ก็คือ การกู้เงินจากตลาด จากนักลงทุนที่เป็นสถาบัน หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แทนที่จะกู้จากธนาคารเพราะดอกเบี้ยถูกกว่า กู้ง่ายกว่า เมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน บริษัทจำนวนมากจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่กู้เงินอีกรอบ เพื่อเอาเงินไปคืนผู้ซื้อหุ้นกู้ชุดเดิมที่ต้องการไถ่ถอน เหมือนการหมุนเงินด้วยการออกเช็คใบใหม่ให้เจ้าหนี้ แทนเช็คใบเดิมที่ถึงกำหนดชำระ

ถ้าออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิมแล้ว ขายไม่ออก ขายไม่หมด เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจในสถานการณ์ อยากถือเงินสดไว้ก่อน บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ก็ต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาจ่ายคืนผู้ถือหุ้นกู้ ถ้าหาไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายคืน ก็จะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ ถ้ามีมากรายก็จะเกิดความแตกตื่น นักลงทุนแห่กันไปไถ่ถอนหุ้นกู้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก เหมือนเช็คเด้ง ทำให้ผู้ฝากเงินวิตกแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ทำให้ธนาคารล้ม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ

นี่คือภาพที่แบงก์ชาติไม่อยากให้เกิดกับตลาดตราสารหนี้ และบริษัทมหาชนที่ออกหุ้นกู้จึงตั้งกองทุน BSF เป็น “หลังพิง” โดยมีเงิน 4 แสนล้านบาทในกระเป๋าสำหรับการเข้าไปซื้อหุ้นกู้ที่ขายไม่ออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

มาตรการนี้ถูกคัดค้านจาก “นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ” นำโดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และคณะ โดยอ้างว่า แบงก์ชาติทำเกินหน้าที่การกำกับดูแล “นโยบายการเงิน” และการเข้าไปรับซื้อหุ้นกู้เอกชนเองอาจจะไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติ ควรเอาเงิน 4 แสนล้านบาทให้ธนาคารรัฐ หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้ซื้อ

เป็นเหตุให้อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติทั้ง 3 ราย ต้องออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วย สนับสนุนการตั้งกองทุน BSF ว่า ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาด 3.6 ล้านล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 3 ของสินเชื่อระบบธนาคาร จึงมีความสำคัญมาก

“ผมคิดว่า แบงก์ชาติได้ประเมินและพิจารณาแล้วว่า เที่ยวนี้ปัญหามีขนาดใหญ่มาก และแบงก์ชาติคงเห็นสัญญาณแล้ว จำเป็นต้องหามาตรการมารองรับให้รวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากไม่ทำอะไรเลย หรือทำช้าไม่ทันกาล อาจจะเกิดความเสียหายหนักและย้อนกลับมากระทบเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวมของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ที่กำลังเปราะบางอย่างหนัก”

เป็นความเห็นบางส่วนของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประสาร ซึ่งความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และนางธาริษา ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ว่า เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่จะต้องเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เป็นการมองระบบการเงินอย่างกว้าง ไม่คับแคบจำกัดเฉพาะธนาคาร สถาบันการเงินเท่านั้น

ดร.วีรพงษ์ หรือดร.โกร่งนั้น เป็นไม้เบื่อ ไม้เมากับแบงก์ชาติมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี ยกเว้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งเคยเป็นเพื่อนรักกันมาก่อนจะแตกคอกัน แบงก์ชาติในยุคอดีตผู้ว่าการฯ ทั้งนางธาริษา และนายประสาร ล้วนถูกดร.โกร่ง วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ไม่ทันโลก ดำเนินนโยบายการเงินที่จะสร้างความพินาศให้ระบบเศรษฐกิจไทย ผู้ว่าการแบงก์ชาติปัจจุบัน วิรไท สันติประภพ ก็ไม่รอดพ้นจากการเป็น “เหยื่อ”

เรื่องที่แบงก์ชาติถูกดร.โกร่ง อัดมาตลอดคือ นโยบายคงดอกเบี้ยในอัตราสูง และการที่ค่าเงินบาทแข็งตัว หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว เรื่องดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ควรจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก

แต่สำหรับดร.โกร่ง ที่คนทั่วไปรับรู้ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ เขาสวมหมวกอีกใบหนึ่ง คือ ตัวแทนภาคเอกชนที่รับเงินเดือน โบนัส ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) มานานกว่า 10 ปีแล้ว

ในมุมมองของพ่อค้าดอกเบี้ยถูก ค่าเงินบาทอ่อน ย่อมเป็นผลดีกับธุรกิจ โดยเฉพาะถ้าเป็นธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรที่ต้องแข่งขันกันเรื่องราคา อย่างกลุ่มเกษตรพืชผล เจ้าของดั๊บเบิ้ล เอ ในขณะที่แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลระบบการเงินในภาพรวมให้มีความสมดุล ไม่เอื้อภาคเศรษฐกิจจนส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอื่น เป็นจุดยืนที่ขัดแย้งกันของ “ส่วนรวม” กับ “ส่วนตัว”

เรื่องการคัดค้านแบงก์ชาติตั้งกองทุนซื้อหุ้นกู้เอกชนก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ลงนามในจดหมายไม่ใช่เป็นนักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น บางคน เช่น นายเสรี จินตนเสรี มีอาชีพเป็นกรรมการบริหาร บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ที่ ดร.วีรพงษ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร บางคนเป็นอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้จัดการขายหุ้นกู้ให้ดั๊บเบิ้ล เอ มาโดยตลอด

ดั๊บเบิ้ล เอ เคยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนจะนำกิจการออกจากตลาด แต่ยังคงสภาพเป็นบริษัทมหาชน มีคุณสมบัติที่จะออกหุ้นกู้ได้ ที่ผ่านมาหลายปี ดั๊บเบิ้ล เอ ใช้วิธีออกหุ้นกู้ระยะ 3-5 ปี เพื่อกู้เงินจากตลาดมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน แทนการกู้เงินสถาบันการเงิน แต่ละปี หนี้ระยะยาวของดั๊บเบิ้ล เอ มีสัดส่วนหนี้ที่เป็นหุ้นกู้ถึง 80% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อหุ้นกู้ชุดใดครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อนำเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิม

ปี 2563 หุ้นกู้ดั๊บเบิ้ล เอ ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ในสภาวะปกติการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อนำเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอย่างที่เคยทำมา ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์ทางการเงิน ขอถือเงินสดไว้ให้อุ่นใจก่อน การหมุนเงินผ่านตลาดตราสารหนี้อาจไม่ง่ายแล้ว

หุ้นกู้ดั๊บเบิ้ล เอ มีอันดับเครดิต BBB –ไม่ใช่หุ้นกู้ที่ลงทุนได้ (investment grade) เป็นหุ้นกู้สำหรับการลงทุนแบบเก็งกำไร จึงไม่อยู่ในข่ายที่กองทุน BSF จะเข้าซื้อในกรณีที่ขายไม่ออก เพราะหุ้นกู้ที่ BSF จะเข้าซื้อต้องมีอันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า BBB

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) จึงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุน BSF ของแบงก์ชาติเลย ต้องช่วยเหลือตัวเอง การแสดงท่าทีคัดค้านแบงก์ชาติของ ดร.วีรพงษ์ กับคณะที่ชูป้ายว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ จึงเป็นเรื่องของจุดยืนผลประโยชน์มากกว่าเรื่องมุมมองทางวิชาการ ว่าด้วยบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น