xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เตือนแบงก์ชาติเสี่ยงสูงรับซื้อตราสารหนี้เอกชน ระวังซ้ำรอย ปรส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” เตือนแบงก์ชาติรับซื้อตราสารหนี้เอกชนมีความเสี่ยงสูง ซ้ำอาจผิดกฎหมาย เหตุไม่มีอำนาจ ระวังซ้ำรอย ปรส. ลั่นไม่ควรเอาทรัพยากรประเทศไปอุ้มคนรวย-นักลงทุนต่างชาติ เสนอให้ทำผ่านแบงก์รัฐซึ่งมีความชำนาญในการจัดสรรเครดิตมากกว่า ส่วนธนาคารกลางแค่ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับสถาบันการเงินที่รับซื้อ



วันที่ 9 เมษายน 2563 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “คำเตือนถึงแบงก์ชาติ แก้วิกฤตหุ้นกู้ต้องรอบคอบ”

โดย นายธีระชัย กล่าวว่า หลังการระบาดโควิด-19 พฤติกรรมคนจะเปลี่ยนไป ทั้งการเดินทาง การท่องเที่ยว จะสะดุดนานแค่ไหนเดาไม่ออก ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รอขายต่างชาติก็ขายลำบาก โอกาสกลับมาไม่ใช่ง่าย แล้วเมื่อไหร่จะสบายใจพอที่ให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยว อสังหาริมทัพย์มีปัญหา ก็ลามไปธุรกิจก่อสร้าง ความต้องการออฟฟิศต่ำลง เพราะคนเคยชินกับการทำงานที่บ้าน ด้านค้าปลีกก็ไปเป็นอีคอมเมิร์ซ

คนที่วางแผนซื้อของหนักๆ เช่น บ้าน รถยนต์ ก็จะคิดหนัก ใช้เงินต้องวางแผน เหมือนที่หมอยงบอก สู้กับโควิดวิ่งร้อยเมตรไม่ได้ เราจะหมดแรง อาจต้องวิ่งแบบมาราธอน ต้องวิ่งระยะยาว

ส่วนของมาตรการระยะ 3 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท บางส่วนเป็นการวิ่งร้อยเมตร บางส่วนไม่ถึงร้อยเมตร เวลามีเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งแรกที่ทุกรัฐบาลต้องทำ คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องการล็อกดาวน์ การป้องกันการแพร่กระจาย ต้องเอาให้อยู่ ยิ่งปิดนานปิดมาก คนเจ็บหนักคือคนระดับล่าง

ทุกรัฐบาลตอนนี้ช่วยประชาชนฝ่าฟันวิกฤตได้ โดยเพิ่มส่วนที่เยียวยาเป็น 6 แสนล้าน อันนี้พอรับได้ แนวทางในการออกเป็น พ.ร.ก. สังคมก็รับได้ แต่ส่วนของ 4 แสนล้านที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลายคนชักเริ่มตั้งคำถาม การหาเงินของรัฐ ในรูปแบบ พ.ร.ก.ทำได้เร็ว ผ่านสภาถือว่าจบ แต่ข้อเสียคือ รัฐธรรมนูญกำหนดเฉพาะกรณีเร่งด่วน ซึ่งตรงนี้จะออกเป็น พ.ร.บ.ทำเป็นงบประมาณกลางปีก็ทำได้ โดยต้องผ่านสภา 3 วาระรวด แต่แบบนั้นต้องต้องจับมือรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่จะทำให้ขบวนการใช้ 4 แสนล้านนี้ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภา และเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ พ.ร.ก.เหมือนกับการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล แล้วถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย ว่าจะใช้ 4 แสนล้านโครงการไหน เท่าไหร่

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ไม่เปิดให้ขั้นตอนการเอาเงินไปใช้ได้อย่างอิสระเสรี ต้องให้ความสำคัญพิเศษ เปิดช่องทางการตรวจสอบให้ฝ่ายค้านเข้ามาวิจารณ์ได้ กำกับดูแลให้โปร่งใสไม่รั่วไหล

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า เงิน 4 แสนล้าน ระบุว่า เน้นไปสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ตรงนี้ถ้ารัฐบาลวางหมากดีและถูกต้อง สามารถที่จะขยับทิศทางของประเทศไปสู้กับโควิดได้ แต่ถ้าเอาเงินไปแจกคนเรื่อยๆ แบบนี้มันทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลพยายามจะเลี้ยงคนตลอด โดยใช้เงินจากภาษี ไม่นานคนที่จ่ายภาษีก็ต้องหมด แต่ 4 แสนล้าน ต้องเอาไปช่วยคนในการปรับตัวในการทำมาหากินหลังโควิด ต้องคิดอ่านแบบละเอียด เพราะการก่อสร้าง โรงแรม การท่องเที่ยว อาจไม่กลับมาเร็ว แรงงานที่กลับไปต่างจังหวัดอาจเข้าท่าแล้วก็ได้ ให้อยู่ที่นั่นเลย แล้วเราก็ปรับขบวนการหากินในต่างจังหวัด ให้มันรองรับพลวัตของโลก เช่น ให้ชุมชนมีความสามารถบริหารตัวเองมากขึ้น ให้ชาวบ้านมองตัวเองว่าชุมชนมีจุดเด่นจุดแข็ง ในการสร้างตัวเองให้อยู่ในโลกอนาคตอย่างไร ให้ชุมชนคิดเอง รัฐแย่าแทรกแซง แต่รัฐคอยช่วยส่งเสริมเรื่องงบประมาณ 4 แสนล้านนี้ ถ้าตั้งหลักให้ชุมชนไปข้างหน้าได้ ไม่พอด้วย กู้เพิ่มได้ เพราะกู้แล้วยั่งยืน สร้างวิธีทำมาหากิน ให้เขาอยู่ได้ ถือเอาวิกฤตเป็นโอกาส

นายธีระชัย ยังกล่าวถึง พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจจำนวน 5 แสนล้านบาท ว่าให้สินเชื่อ SMEs วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ตนว่าเยอะไป สัก 100 ล้านก็พอ กลัวว่าจะได้ลงไปไม่ถึงรายย่อยหลักการไม่ว่ากัน แต่ความเป็นธรรมในการกระจาย แบงก์อาจเน้นให้รายใหญ่ แล้วต้องระวังสินเชื่อใหม่ ถ้าเกิดปล่อยใหม่แล้วเสีย ไม่รู้จริงหรือไม่ว่ารัฐจะรับประกัน 70% แบงก์พาณิชย์อาจถือโอกาสเอาดอกเบี้ยค้างมาเป็นสินเชื่อใหม่ แบงก์ชาติลองดูบทเรียนในอดีตแล้วเอามาใช้ การทำโครงการใหญ่ๆ มีคนคอยจ้องเอาประโยชน์ตลอด ต้องทันเกม

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนของ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้าน โดยให้แบงก์ชาติซื้อหุ้นกู้เอกชน ก่อนนี้ปัญหาเกิดเนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศเยอะ รัฐบาลไม่ได้ไปกั้นเท่าไหร่ พอเข้าเยอะเงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ก็ต่ำ เพราะเข้ามาซื้อมาก ดอกเบี้ยก็ยิ่งต่ำ ก็กลายเป็นว่าคนที่ใช้เงินออกตราสารยาวๆ ได้เขาก็แฮปปี้ ก็ออกตราสารได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็เลยมีคนที่ออกตราสารแล้วเอาเงินไปใช้ กลุ่มแรกก็คือสถาบันการเงิน อีกกลุ่มก็คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และอาจมีบริษัทอื่นด้วย ปัญหาคือเวลานี้หลายคนชักเริ่มกังวลว่า คนที่ออกตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นคนที่ทำธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ แล้วธุรกิจของเขามีสัดส่วนที่เป็นโรงแรมสูง ก็อาจมีข้อกังวลว่ามันจะมีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้กระเทือน คนซื้อก็จะซื้อต่อเมื่อลดราคาลงมา คนขายเดิมซื้อมาร้อย ตอนนี้จะขายก็ต้องลดเหลือ 80 ก็ไม่อยากขาย จะเกิดปัญหานี้ทั่วโลกเลย ขณะนี้แม้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ก็ลามแล้ว หลายคนบอกว่าครบกำหนดออกใหม่ไม่เอาแล้ว เว้นแต่ต้องไปแก้ปัญหาอะไรกันก่อน

นายธีระชัย กล่าวว่า ต้องมองเศรษฐกิจหลังโควิด มันไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตร มันเป็นการวิ่งมาราธอน ต้องมองว่าบางธุรกิจจะไปรอดปีครึ่งถึงสองปีได้หรือไม่ ถึงอยากเสนอแนะเพื่อป้องกันปัญหานี้ ทางแบงก์ชาติควรเรียกพวกบริษัทที่ออกตราสารหนี้รายใหญ่ ๆ เข้ามา แล้วให้แบงก์พาณิชย์อีกหนึ่งแบงก์เป็นตัวนำ แล้วบอกเลยคุณมีปัญหาไหม ถ้าคิดว่าแง่ของเงินสดหมุนเวียนไม่ชัวร์ ให้ทำตัวเลขมองไปข้างหน้า 12-24 เดือน เอามาให้แบงก์พาณิชย์ดู พอดูแล้ว สมมติมีคอนโดขายคนจีนติดค้างอยู่ โรงแรม การบิน ดูแล้วรายได้ไม่เข้าเต็มที่ ก็ต้องถามจะแก้ยังไง วิธีแก้ก็อาจต้องลดทุน สัดส่วนการเป็นเจ้าของ จากร้อยก็ลดเป็นเท่าไหร่ๆ

ถ้าลดทุนยังไม่พอก็ต้องเพิ่มทุน แบงก์พาณิชย์เข้าช่วยได้แค่ไหน สุดท้ายยังไงก็ประคองไม่ได้ ก็อาจต้องยอมรับว่าตราสารที่ราคาร้อยอาจต้องว่ากันในราคาที่ต่ำกว่านั้น นี่คือการยอมรับความเป็นจริง

“ถ้าให้แบงก์ชาติเข้าไปรับซื้อเอง ตรงนี้อันตราย เนื่องจากแบงก์ชาติประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปซื้อตราสารหนี้ของเอกชน เขาจะไม่ซื้อตราสารหนี้ออกใหม่ แต่ซื้อในตลาดรอง แต่นี่ไทยคือการเข้าตลาดแรก เข้าไปซื้อของบริษัทที่ครบกำหนดแล้วออกใหม่ แบงก์ชาติเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการจัดสรรเครดิต แล้วจะบอกว่าบริษัทนี้ควรเข้าไปซื้อ บริษัทนี้ไม่ควร ดร.โกร่งก็ชี้ว่า ภัยเกิดขึ้นทั่วโลก แม้ เป็น Investment Grade (ตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตสูง) วันข้างหน้าจะต่ำลงก็เป็นได้ เกิดความเสี่ยงกับแบงก์ชาติเอง

กระบวนการในการจัดสรรเครดิต คนที่ทำเป็นอาชีพคือธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน ตรงนี้สิ่งที่ควรจะทำคือปล่อยให้เขาเป็นคนทำ ปล่อยให้เขาไปซื้อ แล้วแบงก์ชาติก็รับรีไฟแนนซ์ คือ ให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกับสถาบันการเงินที่รับซื้อ อย่างนี้จะมีคนกรองในเรื่องความเป็นธรรม เรื่องของราคา ความเหมาะสม การจัดสรรเครดิต ซึ่งเขามีอาชีพตรงนี้โดยตรง ให้เขาเป็นหน้าด่าน แล้วแบงก์ชาติเป็นทัพหลวง ไม่ใช่เข้าไปเลย”

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ไม่มีแบงก์ชาติไหนทำแบบนี้ การเสนอแบบนี้เป็นการดำเนินการนอกเหนือจากงานธนาคารกลาง ตนคิดว่าผิดกฎหมายด้วย เป็นการออก พ.ร.ก.บังคับแบงก์ชาติทำในสิ่งที่ไม่มีอำนาจ จากประวัติศาสตร์ทั่วโลกก็ไม่มีใครทำ กระทั่งอเมริกา ยุโรป ทำเพราะตราสารหนี้ภาครัฐไม่พอ แต่ก็ไม่ได้ซื้อในตลาดแรก เพื่อแน่ใจว่ามีคนประเมินรอบคอบเสียก่อน

คนที่ถือตราสารหนี้อยู่ปัจจุบัน ถ้าบริษัทมีปัญหา ไม่สามารถที่จะออกใหม่ แล้วขายได้ในราคาเดิม หรือพูดง่ายๆ ชำระหนี้ไม่ได้ ราคาจาก 100 จะลงไปเหลือ 60-40 คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่ถืออยู่ปัจจุบัน ซึ่งพวกนี้จะเป็นคนฐานะดี อันดับต้นๆ ของเมืองไทย กลายเป็นว่าเราต้องระวัง ไม่เอาทรัพยากรประเทศไปอุ้มพวกนี้ แล้วอย่าลืม คนที่มาซื้อบางส่วนก็เป็นนักลงทุนต่างชาติ เอาเงินประชาชนไปอุ้ม อย่างนี้ก็ไม่ถูก

นายธีระชัย กล่าวว่า ทีแรกนึกว่ารัฐบาลออกเองไม่ได้ปรึกษาแบงก์ชาติ แต่ปรากฏว่าแบงก์ชาติเสนอเอง เลยแปลกใจ ทั้งที่กฎหมายปัจจุบันทำได้อยู่แล้วโดยผ่านแบงก์รัฐ ทำไมไม่ขอรัฐบาล หรือถ้าแบงก์ไม่ไหวก็ตั้งเป็นกองทุน สำหรับทุกแบงก์มารวมกัน ทำแบบนี้ไม่ต้องออก พ.ร.ก.เลย ใช้กฎหมายปัจจุบันก็ได้แล้ว

ตอนนี้ตนพยายามเตือน หวังว่า จะเข้าใจ ถ้าไม่ระวังวันนึงจะเจอปัญหาแบบ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) คิดดี ทำดี แต่ในที่สุดก็ถูกสอบสวนมีความผิด ระวังให้ดี ต่อให้รัฐบาลคุ้มครองความเสี่ยงให้ก็ตาม ถ้าตีความออกมาแล้วไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง เสี่ยงมาก

นายธีระชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ ต้องมาสุมหัวกันคิดเพื่อวางนโยบายทิศทางในการเดินไปข้างหน้า ให้สอดคล้องกับการวิ่งมาราธอน การเบรกโรคระบาดทำได้แน่นอน ตนเชื่อว่าภายในเมษายนนี้ ปลดล็อกกรุงเทพฯ ได้ แต่แผลเป็นมันยังมี หลายคนประสาทเสีย ต่างประเทศมีคนตายเยอะ การอุปโภคบริโภคจะไม่กลับมาฟื้นโดยเร็ว ลักษณะการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป




กำลังโหลดความคิดเห็น