xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้เชี่ยวชาญ” ชี้ ทั่วโลกอัดฉีดเงินแค่ยื้อระบบ เตรียมรับมือ ศก.ทรุดครั้งใหญ่ แนะต้องเด็ดขาดหยุด “โควิด” ให้เร็วที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ.ทวีสุข” ชี้ รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินมหาศาลแค่ยื้อระบบ เพราะอยู่ในช่วงท้ายก่อนเศรษฐกิจหดตัวแล้ว ถ้าหยุดไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ใน 3-6 เดือน เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แน่ แนะรัฐบาลไทยไม่ต้องฟังโซเชียลฯมาก ต้องเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ คุมโรคให้ได้ก่อน แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ตามมา ที่สำคัญ อย่าให้เกิดแพนิกแห่เทขายกองทุน-ถอนเงินจากธนาคาร



วันที่ 8 เมษายน 2563 อ.ทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถนีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ผ่ามาตรการอัดฉีดเงินทั่วโลก สู้วิกฤต “โควิด-19” จบหรือไม่ ?

โดย อ.ทวีสุข กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกลัว ก็คือ การอุปโภคที่หยุดนิ่งแล้วก็ชะลอตัว ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะประชาชนมีหนี้ค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้มันเกินคำว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มันต้องใช้คำว่าเข้าสู่การหยุดนิ่ง ออกไปทำกิจกรรมอะไรก็ไม่ได้

อเมริกาตอนนี้ถือว่าหนักสุดในโลก จากที่เศรษฐกิจเปราะบางอยู่แล้ว เฟดตัดสินใจเรื่องการใส่เงินเข้าสู่ระบบมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ต้นปีก็ใส่เงินเข้าระบบตั้งแต่ ม.ค.- ก.พ. จนกระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส ทำใหตลาดหุ้นตกตั้งแต่ ก.พ. มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการช็อกทั้งโลก กลายเป็นว่าสิ่งที่จะหยุดไวรัส คือการไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน การไม่ได้เดินทาง เกิดการหยุดหมดเลย สิ่งที่รัฐบาลห่วงคือการหยุด แต่สถานการณ์วันนี้ การตัดสินใจให้หยุดก็ผิด ไม่ให้หยุดก็ผิด เพราะถ้าไม่หยุดโรคก็ไม่หยุด ให้หยุดกิจกรรม เศรษฐกิจก็ทรุดตัว การทุ่มเงินมหาศาลก็เพื่อรักษาบริษัท กิจการ และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้

อ.ทวีสุข กล่าวอีกว่า รัฐบาลทั่วโลกตัดสินใจใส่เงินเข้าไป ตนไม่เรียกว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่ แต่ใช้คำว่าฝูงบินทิ้งระเบิด B-52 ที่มากันทั้งฝูงบินใหญ่เลย

“จะได้ผลไหม คิดว่าแค่ยื้อระบบเท่านั้นเอง เพราะตอนนี้เราอยู่ใน Late Cycle (ช่วงท้ายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจก่อนที่การหดตัว) ที่สุดแล้วของระบบเศรษฐกิจยุคที่ 3 ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวขับดัน แต่สิ่งที่โชคดีที่ยังยื้อได้ เพราะทุกคนยังเชื่อมั่นในทฤษฎีทางการเงิน และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่ถูกสอนว่าดอลลาร์สหรัฐ เป็นเบสพื้นฐานของระบบการเงินโลกอยู่” อ.ทวีสุข ระบุ

อ.ทวีสุข กล่าวต่อว่า เราจะเห็นตั้งแต่ปี 2008 (เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) เราถูกแก้ปัญหาด้วยการใส่เงินเข้าในระบบ หรือ QE แต่จริงๆ ไม่ได้ดันเศรษฐกิจขึ้น สิ่งที่ดันคือ Balance Sheet (งบดุล หรืองบแสดงฐานะการเงิน) ให้เกิดขึ้น มันเลยทำให้หุ้นบริษัทเติบโต ยกตัวอย่าง Amazon ปกติเป็นเว็บขายสินค้าเล็ก ๆ ที่ไม่ใหญ่มาก วันหนึ่งไปขอกู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปซื้อกิจการโฮลฟูดส์ มาร์เก็ต อิงค์ เท่ากับว่าสินทรัพย์และกระแสเงินสด ของโฮลฟูดส์ คือกระแสเงินสดของ Amazon บริษัท Amazon ก็ใหญ่ขึ้น นี่คือรูปแบบของการเพิ่มของ Balance Sheet

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนถูกกระตุ้นมากที่สุดเลยคือการเป็นหนี้ เช่น หนี้อสังหาริมทรัพย์ แล้วก็ไปเป็นหนี้เพื่อการบริโภค แล้วบริษัทเอกชนก็สร้าง Balance Sheet ขึ้น เป็นเหตุผลที่ดัชนีหุ้นเติบโต แล้วคนเข้าใจว่าเศรษฐกิจกลับมา แต่เทียบกับปริมาณเงินที่ใส่เข้าไป กับการเติบโตของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มันไม่สอดคล้องกันเลย เพียงแต่เราหลอกตัวเอง เพราะเราเห็นตลาดหุ้นมันยังไปต่อ

อ.ทวีสุข ยังกล่าวอีกว่า จังหวะนี้เกินคำว่าน่ากลัว ไม่ต้องแปลกใจ ทำไมต้องสร้างหนี้มหาศาล แล้วก็ไม่ได้เป็นการสร้างหนี้เพื่อการลงทุน แต่เป็นการสร้างหนี้เพื่อยื้อระบบ ถ้าเหตุการณ์ไวรัสไม่หยุดภายใน 3-6 เดือน หลังจากนี้ โจทย์ใหญ่เรื่องการเกิด Great Depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) มันรออยู่อยู่แล้ว ทีนี้มันจะเกิด Massive Default (การผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง) ของการที่ก่อให้เกิดหนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

อ.ทวีสุข กล่าวว่า จังหวะนี้น่ากลัว ค่าเงินทั้งหมดในโลกนี้มีดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตัวค้ำประกัน ดังนั้นอเมริกากำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ (inflation) เพื่อเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ในช่วง 1-3 ปีหลังจากนี้ ถ้าหากมีการพิมพ์เงินไม่หยุด แล้วไวรัสไม่หยุดภายในปีนี้

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง จากนั้นค่าเงินจะเสื่อมค่าอย่างรวดเร็วด้วยตัวของมันเอง เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว เยอรมันพิมพ์เงินเขาสู่ระบบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนเยอรมันกลัว ไปถอนเงินเก็บไว้ที่บ้าน ทำให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หยุดการหมุนของเงิน เงินเสื่อมค่า ราคาทองคำจากประมาณ 200 ดอยช์มาร์ค แค่ 6 ปีขึ้นไปเป็น 87 ล้านล้านดอยช์มาร์ค

สิ่งที่น่ากลัว ทั้งโลกไม่ได้ถูกสอนว่าถ้าเงินอเมริกาเสื่อมค่าแบบฉับพลันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะธนาคารกลางทั่วโลกใช้ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรองหมดเลย นี่เข้าสู่ยุคท้าทายที่สุดว่าแบงก์ชาติทั่วโลกจะรับมืออย่างไร เพราะเขาไม่เชื่อกันว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กัน

เมื่อถามถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย อ.ทวีสุข กล่าวว่า ตอนนี้ใครมาเป็นรัฐบาลต้องสงสาร นาทีนี้ไม่ต้องฟังโซเชียลฯมาก ต้องกล้าตัดสินใจ เพราะตัดสินใจอะไรไปก็ผิดหมด แรกๆ ที่เกิดโรคระบาด หากปิดประเทศตอนนั้น รัฐบาลก็จะโดนด่าว่าทำประเทศพัง แต่มาวันนี้อยากให้ปิดกัน คือถ้าวันนั้นกล้าหาญปิดเลย แล้วเวลาผ่านไปประชาชนจะเข้าใจ ที่เราตัดสินใจวันนั้น

สิ่งต้องทำอย่างแรก ต้องหยุดการแพร่ระบาดให้ได้ จากนั้นให้กลับมาทำการค้าเหมือนเดิม วันนี้ประหลาดใจมาก เราต้องเขียนประวัติศาสตร์ว่าเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากคนไม่กี่พันคนที่ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อตัวเองเลย ตอนนี้ทุกอย่างหยุดเลย เพราะคนไม่รับผิดชอบไม่กี่คน

ตอนนี้ทุกรัฐบาลเหมือนกันหมด ต้องเอาเงินเข้าระบบ ซึ่งทำก็ผิด ไม่ทำก็ผิด ผิดคือก่อหนี้ เอาเงินใส่แล้วเงินก็หาย แต่หนี้ก้อนใหญ่ก็อยู่ แต่ถ้าไม่ทำก็ผิดยิ่งกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง คือ จะไม่เหลือเครื่องมือในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ ต้องคิดเลยไม่ใช่แค่ช็อตนี้ มันมีช็อตถัดไปรออยู่

“ต้องหยุดการระบาดให้เร็วที่สุด ถ้าหยุดได้ คนออกไปค้าขายได้ ทำงานได้ ฉะนั้นต้องเด็ดขาดเรื่องการควบคุม ในโซเชียลฯช่วยกันตรวจสอบนี่ดีมากแล้ว ทำให้คนเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้มแข็ง หยุดได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ เศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับมา แม้ไม่ดี แต่ดีกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน” อ.ทวีสุข กล่าว

อ.ทวีสุข ยังกล่าวแนะนำด้วยว่า ถ้าเป็นธุรกิจ รีบปรับโครงสร้างตามที่แพคเกจธนาคารให้มาในแต่ละที่ ฟรีซดอกเบี้ยตรงไหนได้รีบฟรีซ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะดีดกลับเมื่อไหร่ ฟรีซต้นทุนก่อน แล้วก็บริหารจัดการ สิ่งที่ดีที่สุด ทุกบริษัทมาคุยกันดีกว่า อย่าให้เกิดการที่ว่าจู่ๆ เอาคนออกเลย เรามานั่งคุยระดมสอง เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มานั่งคุยจะแก้ปัญหาบริษัทร่วมกันยังไง

ส่วนประชาชนระวังตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม อันนี้สำคัญที่สุดในเวลานี้ แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจมันจะเป็นตัวที่ตามมา

สิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือ ระวังอย่าให้เกิดการแพนิคเกิดขึ้น เช่น เทขายกองทุนแบบที่ผ่านมา หรือถอนเงินจากธนาคารแบบปี 40 จนระบบเศรษฐกิจล้ม ทันทีที่ถอนเงินมาเก็บไว้ที่บ้าน เงินจะเป็นขยะ เพราะสุดท้ายถ้าประเทศพัง เงินที่เอามาเก็บก็พังอยู่ดี เราต้องอย่าแพนิค แล้วให้คนที่มีหน้าที่จัดการ ซึ่งตนคิดว่าธนาคารกลางรู้ปัญหาเกือบทั้งหมด

ตนขอฝากแบงก์ชาติเลย ถ้าเกิด Fund Flow (เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ) ไหลออก เราจะรับมืออย่างไร อันที่สองเหนือจินตนาการ ก็คือทุนสำรองของเรามันเสื่อมค่า หรือ Credit Rating (อันดับความน่าเชื่อถือ) ลด หรือเกิดการผิดชำระหนี้ คุณจะรับมมืออย่างไร เรื่องการรับมือวิกฤตที่เกิด เกินกว่าจินตนาการคาดถึง

เมื่อถามว่า ทองคำยังเป็นหลุมหลบภัยที่ดีหรือไม่ อ.ทวีสุข กล่าวว่า การถอนเงินจากธนาคารเป็นเรื่องอันตราย แต่ถ้าเปลี่ยนจากเงินเป็นทองคำปลอดภัยกว่าไหม เพราะพิสูจน์มาแล้วกว่า 4 พันปี ว่า อย่างไรก็คือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแท้จริง ซื้อก้อนเล็กๆ เปลี่ยนเป็นเงินที่หลัง ถามว่าควรขายเมื่อไหร่ ขายเมื่อตองการใช้เงิน และเมื่อทุกคนบนโลกนี้ต้องการทองคำ


กำลังโหลดความคิดเห็น