บล.ทรีนีตี้เปิดกลยุทธ์การลงทุนเดือนเมษายน หวังเม็ดเงิน บจ.ซื้อหุ้นคืน-กองทุน SSF ช่วยหนุนตลาด เชื่อหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุด 970 จุดไปแล้ว พร้อมแนะลงทุน 5 กลุ่มเด่น 12 หุ้นปลอดภัยจาก โควิด-19 น้ำมัน ภัยแล้ง มองแนวต้าน SET ไว้ 2 ระดับ ที่ 1,130-1,140 จุด และ 1,220 จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในเดือนเมษายน 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ทั้งการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่จะเข้ามากระทบอีก
"ยอมรับว่าผลกระทบจาก COVID-19 นั้นค่อนข้างรุนแรงเพราะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ จนส่งผลให้ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว" นายณัฐชาตกล่าว
ทั้งนี้ ทรีนีตี้ประเมินว่าในเดือนเมษายนนี้จะมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มในประเทศเกิดขึ้นใหม่จาก 2 เหตุการณ์สำคัญ นั่นก็คือ การเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนกว่า 20 แห่ง และการเริ่มขายกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ประเภทพิเศษ หรือ SSF-X ซึ่งจากการคำนวณของทรีนีตี้โดยอ้างอิงกับระดับการเข้าซื้อของกองทุน LTF ในอดีตคาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่กองทุน SSF-X ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้
ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนเมษายนจะมีแนวต้านสำคัญอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่ 1,130-1,140 จุด และ 1,220 จุด โดยระดับ 1,130-1,140 จุดเป็นระดับที่อิงการปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 8.9% จากดัชนีปิดต่ำสุด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการ Rally ในช่วงตลาดขาลง 3 รอบหลังสุดและยังเป็นระดับที่เทียบเคียง P/E ในกรณีล่างที่ 14.2 เท่า (อิงประมาณการ EPS ที่ 80 บาท)
ส่วนระดับดัชนี 1,220 จุดนั้นเป็นระดับที่อิง P/E ในกรณีฐานที่ 15.2 เท่า ในสถานการณ์แบบนี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุน Selective การถือครองไปยังหุ้นแนะนำ ขณะเดียวกันถ้าดัชนีขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 1,130-1,140 จุด แนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วน และหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1,220 จุด แนะนำเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นจะปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของ บจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส มองการประกาศเคอร์ฟิวหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลบวกต่อ SET เนื่องจากจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาจุดสูงสุดของปัญหาให้ใกล้เข้ามายิ่งขึ้น” นายณัฐชาตกล่าว
แนะลงทุน 5 กลุ่มเด่น 12 หุ้นปลอดภัย
สำหรับธีมการลงทุนแนะนำในเดือนเมษายนนั้นยังคงโฟกัสไปที่ 5 กลุ่มการลงทุนซึ่งประกอบไปด้วย 12 บริษัท โดยคาดว่าหุ้นเหล่านี้มีโอกาสเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่กำลังจะได้รับสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากการเปิดขายกองทุน SSF-X ในเดือนเมษายนนี้ โดยเฉพาะจากกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active Management ประกอบด้วย
1. กลุ่มโรงไฟฟ้า ที่ Valuation เริ่มลดความร้อนแรงลง และยังมีความน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอและปันผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยหุ้นที่น่าสนใจคือ บี.กริมเพาเวอร์ (BGRIM) โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และราช กรุ๊ป (RATCH)
2. กลุ่มสื่อสารที่มีอัตราเงินปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากปริมาณการใช้ Data ที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)
3. กลุ่ม Consumer Staple ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน และได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน รวมถึงมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าจากทางรัฐบาลและ ธปท. คือ สยามแม็คโคร (MAKRO) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลงและมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM)
5. กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการ Turn around ของกำไร คือ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)
สำหรับหุ้นกลุ่มโรงแรม สายการบิน สนามบิน ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตาม โดยมองจุดการเข้าซื้อที่ปลอดภัยที่สุดยังคงได้แก่การรอให้ทาง WHO ประกาศการควบคุมโรค COVID-19 ให้ได้อย่างเป็นทางการเสียก่อน
อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ต้องการซื้อเร็วกว่านั้น มองว่าอย่างน้อยก็จะต้องรอให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดให้ได้เสียก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลล่าสุดนั้นยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ยังคงแนะนำการถือครองทองคำในสัดส่วน 10% ของพอร์ตโฟลิโอรวมต่อไป เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์อันดับแรกๆ จากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่เอ่อล้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สะท้อนจากขนาดงบดุลของ 4 ธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่ ณ ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 16.8 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าจุดสูงสุด ณ ช่วงต้นปี 2018 ที่อยู่เพียง 15.8 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น