xs
xsm
sm
md
lg

‘มะกัน’ ยังอ่วมแม้ ‘ทรัมป์’ มองโลกแง่ดี ‘อิตาลี-สเปน’ หวังสถานการณ์ใกล้พ้นวิกฤต ‘ญี่ปุ่น’ การระบาดยังไม่ชะลอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งขึ้นทำสถิติครั้งใหม่ ทั้งในอเมริกาและยุโรป ดับฝันทรัมป์ที่คุยว่า เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว กระนั้น ทั้งอิตาลีและสเปนมีสัญญาณว่า การระบาดใกล้ถึงจุดสูงสุด และอาจเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในอีกไม่นาน ขณะที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของญี่ปุ่น ไม่สามารถชะลอการระบาดได้ ล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 5,000 คน

ไวรัสโคโรนาคร่าชีวิตชาวโลกแล้วกว่า 87,000 คน และมีผู้ติดเชื้อเกิน 1.5 ล้านคน และยังนำโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุด

วันพุธ (8 เม.ย.) เป็นวันที่ 2 ติดต่อกันที่อเมริการายงานยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 คน รวมยอดสะสมเป็นกว่า 14,700 คน ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมก็เพิ่มเป็นเกือบ 430,000 คน ขณะที่มีการลดธงครึ่งเสาในรัฐนิวยอร์กที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดในประเทศ

ทางด้านยุโรป อังกฤษรายงานผู้เสียชีวิต 938 คน ในวันเดียวกัน ถือเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ ขณะที่ นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤตเป็นคืนที่ 3 โดยมีอาการกระเตื้องดีขึ้น

สำหรับฝรั่งเศส จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อวันพุธเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็นกว่า 10,000 คน รายงานระบุว่า รัฐบาลเตรียมขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกระยะ

ไวรัสโคโรนายังบุกโจมตีพื้นที่ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่น ในทวีปแอฟริกานั้น เอธิโอเปียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และไลบีเรียล็อกดาวน์กรุงมอนโรเวีย นอกจากนี้ ที่อเมริกาใต้ ยังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในกลุ่มชนเผ่ายาโนมานิในป่าแอมะซอน

ที่เมืองกัวยากิล เมืองใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ ผู้ป่วยหลายคนหมดสติก่อนไปถึงแผนกฉุกเฉิน ผู้สูงวัยบางคนนั่งตัวงอในรถเข็นในโรงพยาบาลที่แออัดวุ่นวาย โรงพยาบาลบางแห่งขาดแคลนทั้งออกซิเจน ยา พยาบาล แพทย์ และเปลหาม

ข้ามมาทางด้านเอเชีย ที่ญี่ปุ่น สถานีวิทยุและโทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงานในวันพฤหัสบดี (9) ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 29 คน เป็น 5,002 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็น 105 คน สะท้อนว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 6 จังหวัด ยังไม่ช่วยชะลอการระบาดของไวรัสโคโรนา

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมทั่วโลกนั้น เริ่มมีความหวังปรากฏขึ้นในศูนย์กลางการระบาดหลายแห่ง เริ่มจากรัฐนิวยอร์กที่ผู้ว่าการรัฐ แอนดรูว์ คูโอโม ระบุว่า เส้นกราฟการระบาดดูเหมือนเริ่มเอียงลง

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในนิวยอร์กเมื่อวันพุธแตะระดับ 150,000 คน และมีผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 779 คน รวมแล้วอยู่ที่ประมาณกว่า 1 ใน 3 ของยอดผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่ทางการแถลงอาจต่ำกว่าตัวเลขจริงเนื่องจากไม่รวมผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่บ้าน

ด้าน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความหวังว่า สถานการณ์การระบาดกำลังมุ่งหน้าสู่ช่วงสุดท้ายและเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เขายังย้ำว่า ต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งแต่สำทับว่า ต้องเป็นหลังจากที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเข้าสู่ช่วงขาลง

แม้ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุกรอบเวลา ทว่า แลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาอาวุโสทางเศรษฐกิจ แย้มว่าอาจเป็นในอีก 4-8 สัปดาห์หน้า


ส่วนที่กรุงมาดริด นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน แถลงต่อรัฐสภาในวันพฤหัสฯ ว่า สเปนอาจใกล้ถึงจุดเริ่มต้นที่การระบาดจะเริ่มสงบลงแล้ว อย่างไรก็ดี เขาขอให้สมาชิกรัฐสภาอนุมัติการต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่ 26 เดือนนี้ เพื่อให้ประชาชนกักกันตัวเองในบ้าน แต่อาจผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับภาคธุรกิจ

ซานเชซ เสริมว่า มาตรการรับมือโควิด-19 ช่วยรักษาชีวิตคนจำนวนมาก และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดจาก 22% อยู่ที่ 4%

ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 757 คน เป็น 14,555 คน สูงสุดอันดับ 3 ของโลก รองจากอิตาลีและอเมริกา ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 140,510 คนในวันอังคาร (8) เป็น 146,690 คน

อิตาลีก็เช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนติ ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุและโทรทัศน์บีบีซีเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า อิตาลีอาจค่อยๆ ยกเลิกมาตรการจำกัดบางอย่างปลายเดือนนี้ เนื่องจากการระบาดเริ่มลดลงแล้ว แต่จะยังคงมาตรการต่อสู้กับไวรัสต่อไป

ทั้งนี้ อิตาลีรายงานว่า ในวันพุธมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 542 คน ลดลงจาก 604 คน ในวันก่อนหน้า รวมเป็นทั้งสิ้น 17,669 คน และผู้รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต 3,693 คน ลดจาก 3,792 คน และเป็นการลดลงติดต่อกันวันที่ 5 ส่วนจำนวนเคสใหม่เพิ่มขึ้น 3,836 คน เทียบกับ 3,039 คน ในวันอังคาร รวมเป็น 139,422 คน สูงสุดอันดับ 3 รองจากอเมริกาและสเปน

ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ออกมาพูดถึงกรณีที่ทรัมป์โจมตีว่า ฮู มุ่งโฟกัสสนใจจีนมากเกินไป และให้คำแนะนำผิดพลาด โดยเขาเรียกร้องให้มีความสามัคคีกันในช่วงแห่งวิกฤตการณ์โลก และสำทับว่า ถ้าไม่อยากเห็นคนตายมากขึ้น ควรยุติการนำวิกฤตนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง

นอกเหนือจากเรื่องสุดฮอตเฉพาะหน้า คือ การรับมือสกัดกั้นการระบาดของไวรัสแล้ว ประเทศต่างๆ ยังกำลังดิ้นรนแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจพังพาบไปทั่วโลก

องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เตือนว่า การระบาดของไวรัสโคโรนามีแนวโน้มกดดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในช่วงชีวิตนี้ โดยการค้าโลกอาจทรุดลงถึง 1 ใน 3

ธนาคารกลางฝรั่งเศส ประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจหดตัวลง 6% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือว่า เลวร้ายที่สุดนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

เยอรมนี ประเทศมหาอำนาจแห่งยุโรป คาดว่า เศรษฐกิจกำลังหดตัวถึง 10% ขณะที่ประเทศในยูโรโซนกำลังถกเถียงกันเรื่องการออก “โคโรนาบอนด์” เพื่อช่วยชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอย่างสเปนและอิตาลี

ที่ไมอามี่ รถเป็นร้อยคันจอดต่อคิวกันเพื่อรอรับแบบฟอร์มความช่วยเหลือคนว่างงาน หลังจากเว็บไซต์ล่มเพราะคนแห่เข้าไปลงทะเบียน ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ชาวอเมริกัน 10 ล้านคนตกงานหลังจากธุรกิจมากมายปิดตัวลง


กำลังโหลดความคิดเห็น