“ผู้เชี่ยวชาญ” ยกสิงคโปร์เทียบไทย หนุนกู้เงินทุ่มงบมหาศาลรับมือโควิด-19 เผย สถานะการคลังของเราไม่แย่ เครดิตการกู้ดีมาก แนะเน้นดูแลด้านสาธารณสุขเอาไวรัสให้อยู่โดยเร็วที่สุด พร้อมกับเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง ควรผ่อนปรนกฎ ยอมให้เกินไปบ้างแต่อย่าขาด ไม่เช่นนั้น จะเป็นเรื่องใหญ่ ชี้ พิษเศรษฐกิจรอบนี้กระทบคนรายได้น้อยโดยตรง แล้วจะมีปัญหาสังคมตามมาอีกเพียบ หวังเห็นทีมเศรษฐกิจพิเศษ มีหมอ-นักเศรษฐศาสตร์ ถกหาทางอออกร่วมกัน
วันนี้ (2 เม.ย. 63) ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group (บริษัทแม่ของ การีนา ช็อปปี้ แอร์เพย์) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถนีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “บาซูก้าการคลัง” สู้โควิด-19 ต้องมากแค่ไหนและใช้อย่างไร
ดร.สันติธาร กล่าวว่า สิงคโปร์ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ จึงเรียกว่าปืนใหญ่ “บาซูก้า” ทางการคลัง ด้วยเม็ดเงินประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ GDP ประมาณ 11% ของจีดีพีสิงคโปร์ ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเขาเลย หากเทียบกับไทย มาตรการชุดที่ 1 และ 2 ที่ดูเยอะแล้ว เทียบกันแล้ว ของเราอยู่ที่ 3.1% ของจีดีพีเท่านั้นเอง ถ้าเทียบกันใหญ่กว่าเรา 4 เท่า
สิงคโปร์หมดหน้าตักจริงๆ เดิมยังไงก็ไม่ยอมหยิบมาใช้ แต่คราวนี้ยอมหยิบเงินก้นถุงมาใช้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาเพิ่งออกมาตรการช่วยเหลือไปไม่นาน ก็ถือว่าดีระดับหนึ่ง แต่ไม่ทันไรก็คลอดชุดสองทันที ซึ่งใหญ่กว่าเดิมมาก เพราะเขาเห็นว่า สถานการณ์ 1 เดือนที่ผ่านมา มันแย่ลงเยอะมาก เขารู้แล้วว่าตอนนี้อยู่ในช่วงสงครามกับไวรัส สงครามกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แนวคิดทั้งหลายที่เป็นเวลาปกติต้องทิ้งไป
ดร.สันติธาร กล่าวอีกว่า วิกฤตรอบนี้มีความซับซ้อนสูงมาก เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มันยากมากที่มีเรื่อง สาธารณสุข และเศรษฐกิจปนเปอยู่ด้วยกัน
วัคซีนเศรษฐกิจ ที่จะรักษาได้ต้องมี 3 ตัว คือ นโยบายการคลัง การเงิน แต่ตัวที่เป็นพระเอก ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา คราวนี้คือสาธารณสุข เราต้องยุติไวรัสให้ได้ ตลาดทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป ทุ่มเต็มที่เหมือนกัน อย่างอเมริกาประกาศทุ่ม 10% ของจีดีพี และทำคิวอีพิมพ์เงินออกมาไม่จำกัด สุดท้ายตลาดหุ้นขึ้นไปได้แค่วันเดียว วันต่อมาตกอีก เพราะคนดูจำนวนคนติดเชื้อยังพุ่งทะยานสูง ถ้าอันนี้ไม่หยุด มาตรการอะไรก็ไม่สำคัญเลย
เงินต้องไปที่การรักษาคนก่อน อุปกรณ์การแพทย์ต้องพร้อม ส่วนหนึ่งที่ได้ผลมากในประเทศอื่น คือ การตรวจโรคให้มาก ไปที่นี่ก่อนอันดับแรก อันดับสอง สิงคโปร์ไปที่คน โดยเฉพาะแรงงาน เป็นครั้งแรกที่ชดเชยให้บริษัทอย่าไล่คนออก โดยชดเชยค่าจ้างให้ 25% ทุกคนทุกวงการ ส่วนวงการที่กระทบหนัก เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม การบิน ชดเชยถึง 75-90% แล้วนานถึง 9 เดือน
มีการแจกเงินให้คนอาชีพอิสระด้วย แต่จุดต่างจากไทย คือ คนอาชีพอิสระในไทยมีมากกว่าสิงคโปร์มาก โจทย์เราเลยยากกว่า เขาแจกเงิน เพราะถ้าไม่ให้ สุดท้ายแรงงานก็ต้องออกไปทำงานหาเงิน โอกาสรับเชื้อก็สูง โอกาสแพร่เชื้อต่อก็สูง นี่คือการผูกโยงกันของเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ถ้าแก้เศรษฐกิจไม่ได้ มันก็กลายเป็นปัญหาสาธารณสุข พอปัญหาสาธารณสุขก็กลับมาหลอนเศรษฐกิจใหม่
ดร.สันติธาร กล่าวว่า นอกจากสิงคโปร์ มาเลเซียก็ใช้ถึง 17% ของจีดีพี แต่ดูเนื้อในยังไม่เป๊ะเท่าสิงคโปร์ มีคนบอกไทยจน เอาไปเทียบกันไม่ได้ ตรงนี้ต้องดูสถานะการคลัง ยกตัวอย่างมาเลเซีย สถานะการคลังแย่กว่าไทยมาก หนี้สาธารณะเทียบกับจีดีพี ไทย 41% มาเลเซีย 52% ขนาดนั้นเขาก็ยังอัด 17% ดูที่ดอกเบี้ย จะบอกได้ว่านักลงทุนทั่วโลกอยากจะปล่อยกู้ให้รัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ จากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของไทย 1.5% ส่วนมาเลเซีย 3% กว่าๆ เห็นชัดว่าฐานะการคลังเราค่อนข้างแกร่ง เงินเรามี เราใช้ได้ เพราะสถานการณ์หนักแน่ แบงก์ชาติคาดการณ์เศรษฐกิจติดลบ 5.3% แต่หลายคนบอกว่าอาจจะมากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยิบบาซูก้ามาใช้ แม้รัฐไทยรายได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เครดิตการกู้ดีมาก ในยามสงครามกู้ได้ก็ต้องกู้
ส่วนข้อเสนอโยกงบที่ไม่จำเป็นของแต่ละกระทรวงมา 10% อันนี้ดี ถูกต้อง แต่มีบางอันล็อกไว้ อาจไม่ได้โยกมาได้มากอย่างที่คิด อาจไม่ถึง 3 แสนล้าน อย่างงบสัมมนา ตอนนี้สัมมนาไม่ได้ ก็หยิบมาใช้ได้ก่อน ตอนนี้เอามาช่วยหมอ พยาบาลอย่างเต็มที่ ถ้าโยกมาใช้กับสิ่งที่สำคัญที่สุด คนก็จะเห็นว่ารัฐเอาจริงนะ แล้วเขาจะเข้าใจปัญหา แต่โยกงบอย่างเดียวไม่พอ กระสุนเท่าเดิม แค่ใช้ให้ถูกต้อง ยังไงก็ไม่พอ ต้องใช้กระสุนที่ใหญ่กว่านั้น
เมื่อถามว่า ไทยควรทุ่มงบมากขนาดไหน ดร.สันติธาร กล่าวว่า สมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ไทยใช้ประมาณ 5-6% ของจีดีพี แต่คราวนี้หนักกว่า ควรสูงกว่านั้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ต้องดูสถานการณ์ไปด้วย ต้องดูกลับไปว่าเราเอาโรคอยู่เมื่อไหร่ ถ้าเอาอยู่เร็ว จบสั้นก็ไม่ต้องไปถึง 10% ของจีดีพี
สิงคโปร์ตอนแรกชดเชยเงินเดือน 3 เดือน ตอนนี้เลื่อนให้ 9 เดือน มาตรการของไทย แจก 5 พัน 3 เดือน อาจต้องขยายมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ สัก 5-6 เดือน แล้วจำนวนคนต้องมากกว่าที่ประเมินไว้ ควรเป็นเงินก้อนที่ใหญ่เลย ส่วนกลุ่มคนในประกันสังคม ก็มีช่องโหว่ ถ้ารัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ ก็ไม่ได้เงินเยียวยา อย่างภาคท่องเที่ยว เหมือนเขาถูกทำโทษ ต้องไปดูว่ากฎกติกามันรัดกุมเกินไปไหม เวลานี้เราอยู่ในภาวะสงคราม ต้องหลุดไปบ้าง มีคนที่ไม่ควรได้ไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เกินได้แต่อย่าให้ขาด ถ้าขาดเป็นเรื่องใหญ่
ยามนี้การตัดสินใจที่เด็ดขาดเป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนมีคนด่าคนบ่น การตัดสินใจรวดเร็วมันมีพลาดบ้าง แต่การไม่ตัดสินใจอะไรเลยอันตรายยิ่งกว่า อย่างสิงคโปร์ตอนแรกออกมาตรการ คนก็ด่า เพราะยังไม่เห็นถึงปัญหา แต่สุดท้ายเวลาผ่านไป เห็นสิ่งที่รัฐบาลทำ เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว
เมื่อถามว่า เทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ต่างกันไหม ดร.สันติธาร กล่าวตอบว่า ต่างกันพอสมควร ข่าวดีคือรอบนี้สั้นกว่า รอบนั้นภาคการเงินพิการไปช่วงหนึ่ง เดินหน้าไม่ได้ หนี้เสียเต็มไปหมด รอบนี้ถ้าเราจัดบาซูก้าจริง ภาคการเงินเราไม่ล้ม ไวรัสสิ้นสุดเมื่อไหร่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว แต่ข่าวร้ายคือ รอบนี้สูญเสียทางด้านมนุษย์ และตอนนั้นคนตกงานในเมือง ยังไปต่างจังหวัด มีการเกษตรรองรับได้บ้าง แต่รอบนี้ไม่มี เพราะภัยแล้งก็แย่สุดในรอบหลายปี บวกกับความเหลื่อมล้ำ คราวนี้น่ากลัวกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง คนกระทบหนักตอนนั้นคือคนชั้นกลางไปจนถึงคนมีเงิน แต่รอบนี้ ด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่ต้องทำ เช่นการเว้นระยะห่างทางสังคม จะกระทบโดยตรงกับคนรายได้น้อย แล้วจะมีปัญหาสังคมตามมาอีกเยอะเลยที่ต่างจากต้มยำกุ้ง
ดร.สันติธาร ยังกล่าวด้วยว่า ตนหวังว่า อยากเห็นโควิดนี้ พังทลายกำแพงหลายๆ อย่างที่มีอยู่ อยากเห็นทีมเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ ที่ต้องมีทั้งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ระบาดวิทยา และนักเศรษฐศาสตร์ คือ หมอรู้ว่าปิดตรงนั้นตรงนี้ช่วยคนได้เท่าไหร่ แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่รู้ แต่หมอก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะพังเท่าไหร่ ฉะนั้น ต้องอยู่ห้องเดียวกัน การลดกำแพงลงจะสำคัญมาก