เป็นเรื่องที่ยากมากที่แบรนด์ระดับโลกจะถือกำเนิดโดยคนไทย และหนึ่งในนั้นคือแบรนด์ "โลตัส" ที่ต้องผลัดมือจากคนไทยสู่ต่างชาติ และกำลังจะมีการผลัดมืออีกครั้ง
ย้อนประวัติไปช่วงยุคที่เศรษฐกิจดีมาก แม้กระทั่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปีนั้นพุ่งสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,753.73 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ซีพีเป็นผู้ก่อตั้งไฮเปอร์มาร์ทแห่งแรกของไทยในนาม "โลตัส ซูเปอร์เซนเตอร์" ขึ้นในปี 2537 จนกระทั่งปี 2541 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ซีพีต้องจำใจขายโลตัสออกไปให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่รีเทลจากประเทศอังกฤษ เกิดเป็นตำนานวงการค้าปลีกไทยที่น่าสนใจ ว่ามีอะไรบ้างให้เรียนรู้ และต่อไปจะเป็นอย่างไร หลังการขับเคี่ยวเพื่อซื้อกิจการกลับสู่มือคนไทยเป็นเจ้าของ
พ.ศ. 2537
เปิดตำนานวงการค้าปลีกไทย ในยุคนั้นประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบการค้าที่เรียกว่าไฮเปอร์มาร์ท โดยโลตัส ซูเปอร์เซนเตอร์ (ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์) จุดเริ่มต้นของธุรกิจที่เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2537 ในนามของ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ภายใต้การบริหารงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์วงการค้าปลีกไทย
พ.ศ. 2538
โลตัส มหาชัย ดิสเคานต์สโตร์แห่งแรกเปิดดำเนินการในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ภายใต้คอนเซ็ปต์การดำเนินธุรกิจค้าปลีกเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาย่อมเยา เพื่อเป็นทางเลือกและช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน
พ.ศ. 2539
เปิดศูนย์กระจายสินค้าวังน้อย เปิดดำเนินการเพื่อรองรับการเจริญเติบโตและการขยายตัวในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้งบประมาณการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยกว่า 3,000 ล้านบาท ในช่วงเวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พ.ศ. 2541 วิกฤตต้มยำกุ้ง
“เทสโก้” เข้ามาซื้อกิจการโลตัสในประเทศไทยช่วงปี 1998 (ปี 2541) หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากกลุ่มซีพี มูลค่าประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท)
หลังจากกลุ่มเทสโก้ กลุ่มค้าปลีกชั้นนำในสหราชอาณาจักร ได้เข้ามาบริหารงาน เพิ่มศักยภาพการเติบโตให้ธุรกิจค้าปลีก ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือว่า ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ธุรกิจใหญ่น้อยในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบกันหมด บ้างก็ล้มละลายลุกไม่ขึ้นอีกเลย บ้างก็พยุงตัวเองอยู่รอดมาได้แบบทรงๆ เรื่อยมา บ้างก็หาทางเอาตัวรอดพ้นวิกฤตแล้วสามารถขยายใหญ่โตยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งธุรกิจใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.กรุ๊ป เป็นแบบหลัง ที่เราเห็นว่า ซี.พี.ยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งระดับโลกอย่างทุกวันนี้ แต่ในช่วงที่ “ต้มยำกุ้ง” พ่นพิษ บริษัทใหญ่ๆ อย่าง ซี.พี.ก็แย่เหมือนกัน
เจ้าสัวธนินท์เล่าต่อว่า ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นความเสี่ยงที่นักธุรกิจคาดไม่ถึง บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศล้วนแต่ล้มกันไป เพราะว่าค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่าเท่าตัว จาก 25 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 55 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงต้องหาทางคืนเงินกู้ให้เร็วที่สุด
“เจอกับตัวเองเลย รู้สึกมืดแปดด้าน ตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศล้มไปเลยครับ จาก 25 บาท กลายเป็น 55 บาท จะไปคืนหนี้ได้ยังไงครับ ความเสี่ยงนี้ผมคิดว่านักธุรกิจคิดไม่ถึง ตัวผมเองก็คิดไม่ถึงว่ามันจะร้ายแรงอย่างนี้ เพราะต้มยำกุ้งเกิดที่เมืองไทย แม้ว่ามีสัญญากับธนาคารต่างประเทศว่ากู้ 5 ปี แต่ในสัญญามีข้อหนึ่งระบุว่า ถ้าเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ เขาจะเอาเงินกลับทันทีไม่ต้องรอ 5 ปี”
หนทางที่จะรอดได้คือ ซี.พี.ต้องขายธุรกิจบางส่วนออกไป เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ เป็นแนวทางที่เจ้าสัวบอกว่า ต้องเลือกสละบางอย่าง เพื่อรักษาเรือและเอาชีวิตให้รอด โดยต้องเลือกให้ได้ว่าธุรกิจอะไรที่สำคัญต้องรักษาไว้ และธุรกิจอะไรที่จะขายออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธุรกิจที่จะขายในช่วงวิกฤตก็ต้องเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตจึงจะมีคนซื้อ จึงได้ตัดสินใจขายโลตัสให้กับเทสโก้จากประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นธุรกิจแรกที่ขายออกไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
เจ้าสัวธนินท์เล่าลงรายละเอียดว่า ตอนวิกฤตผมไปคุยกันสี่พี่น้องว่า ผมรับรองว่าธุรกิจเดิมของเราจะไม่ล้ม ธุรกิจเกษตรทั้งหลาย ผมรับรองว่าไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้แน่ ส่วนธุรกิจใหม่ที่ผมสร้างขึ้นมา ให้ผมปวดหัวคนเดียวก็พอ พี่ทั้งสามไม่ต้องปวดหัว เพราะผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน อยากให้พี่ๆ สบายใจ ไม่งั้นเขาก็ห่วง ซึ่งการขายโลตัสออกไปในวันนั้น ทำให้เห็นถึงความผูกพันกับแบรนด์โลตัส ในฐานะที่เป็นผู้สร้างขึ้นมากับมือ
พ.ศ. 2563 เทสโก้กำลังจะเปลี่ยนมือ (อีกครั้ง)
โอกาสที่โลตัสจะกลับสู่คนไทยเป็นเจ้าของ หลังจาก Tesco (เทสโก้) เจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ประเทศอังกฤษ กำลังตัดสินใจขายกิจการในประเทศมาเลเซีย และกิจการในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “เทสโก้ โลตัส” ด้วยมูลค่าประเมินสูงสุดถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาท โดย “เทสโก้” มีกิจการในประเทศไทย ในนาม “เทสโก้ โลตัส” มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 300,000 ล้านบาท) มีจำนวนสาขา 1,967 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัสกำลังเจอปัญหาใหญ่ จำนวนของลูกค้าที่เดินเข้ามาลดลงในระดับตัวเลข 2 หลัก ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อที่น้อยลง รายได้จึงไม่อู้ฟู่เหมือนเดิม อีกทั้งภาคอีสานก็เจอลักษณะคล้ายกัน ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ทำให้ชาวบ้านจับจ่ายน้อยลง และยังถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาดโคโรนา ทำให้คนเลือกไปเดินห้างลดน้อยลง ทำให้เหตุผลของการประมูลคงไม่ใช่เพียงเพื่อทำกำไร แต่อาจเป็นการแข่งขันเพื่อเอาลูกที่พลัดพรากจากไปไกลให้กลับสู่บ้านก็เป็นได้