xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นฟุบ-เศรษฐกิจพัง

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา



ผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 รุนแรงเกินกว่าความคาดหมายแล้ว โดยตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพังพินาศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกใกล้จะตายซาก

ตลาดหุ้นไทยต้องสังเวยวิกฤตไวรัส โดยนักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก เทขายหุ้นหนีตาย จนดัชนีหุ้นทรุดฮวบลง หลุดจากระดับ 1,400 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 ปี และไม่อาจประเมินได้ว่า จุดต่ำสุดรอบนี้อยู่ที่ใด

ส่วนเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จนต้องปรับประมาณการเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกันวุ่นวาย โดยปีนี้จีดีพีอาจโตเพียง 1.5% หรือต่ำกว่า

แมลงเม่าในตลาดหุ้นตายกันเป็นเบือ เพียงในช่วงเวลาเพียงประมาณ 1 เดือน ดัชนีหุ้นรูดลงกว่า 200 จุด จากระดับ 1,600 จุด ลดลงเหลือต่ำกว่า 1,400 จุด กระดานหุ้นแดงเถือก

หุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก จับมือกันดิ่งเหว

ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาลงมากว่า 2 ปีแล้ว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องยาวนานหลายปี เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตไวรัส อาจจุดชนวนวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ร้ายยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

แม้ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอยู่แล้ว โดยภาคการส่งออกทรุด กำลังซื้อในประเทศตกต่ำสุดขีด การลงทุนชะลอตัวอย่างหนัก การค้าขายเงียบเหงา ภาคการเงินเผชิญปัญหาหนี้เสีย จนธนาคารพาณิชย์ต้องควบคุมการปล่อยสินเชื่อ

การท่องเที่ยวเคยเป็นรายได้หลักสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจ แต่วิกฤตไวรัส COVID-19 ได้ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยงจนพังทลายทั้งระบบ

ผลกระทบจากวิกฤตไวรัสแผ่ขยายไปทุกภาคธุรกิจ สร้างความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และไม่สามารถประเมินได้ว่า สถานการณ์จะเลวร้ายอีกยาวนานเท่าไหร่

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังขยายวงไปทั่วโลก โดยไม่มีสัญญาณว่าจะควบคุมได้ จึงไม่อาจประเมินผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้

ตลาดหุ้นแม้จะหลุดแนวรับ 1,400 จุดลงมาแล้ว แต่ก็อาจไม่ใช่จุดต่ำสุด จีดีพีที่หั่นลงมาเหลือประมาณ 1.5% แต่โตจริงอาจต่ำกว่า 1% ก็ได้

ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งมองโลกในแง่ดี และอย่าพยายามชักชวนใครให้มองโลกสวย แต่จะต้องเตือนให้ทุกคนมองโลกอย่างเป็นจริง และเตรียมตัวรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะเลวร้ายลง

ตลาดหุ้นที่ถูกถล่ม เป็นสัญญาณเตือนบ่งชี้ว่า นักลงทุนกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ กลัววิกฤตใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา จึงพากันเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง

นักลงทุนที่มองโลกในแง่ดี คิดว่าหุ้นลงมาต่ำแล้ว และทยอยซื้อเก็บ ขณะนี้อาจถอดใจแล้ว เพราะยิ่งซื้อยิ่งเจ็บตัว กระเป๋าฉีกตามๆ กัน

ส่วนภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวกันครั้งใหญ่ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกันเต็มที่ เพื่อประคองตัวให้รอด และการปลดพนักงานก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดภาระค่าใช้จ่าย จึงมีข่าวการปลดพนักงานกันต่อเนื่องในช่วงนี้

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพรอวันตาย เพราะนอกจากไม่มีสายป่านแล้ว ยังขาดช่องทางการระดมทุน และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซา รายได้หด จนอาจต้องล้มหายตายจากกันจำนวนมาก

แม้แต่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผ่านบทเรียนปี 2540 และควบคุมความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด ยังต้องประสบปัญหาหนี้เสีย ฉุดให้ผลประกอบการตกต่ำ จนเป็นอีกธุรกิจที่น่าห่วง

หนี้สาธารณะ แม้เพดานการก่อหนี้ยังต่ำ โดยเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2562 มียอดหนี้สาธารณะจำนวน 6.95 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 41.19% ขอจีดีพี ขณะที่เพดานการก่อหนี้สาธารณะกำหนดไว้ไม่เพียง 60% ของจีดีพี แต่จีดีพีที่ชะลอตัว จะส่งผลให้เพดานหนี้สาธารณะขับสูงขึ้น

งบประมาณปี 2563 ตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณไว้ 4.69 แสนล้านบาท งบประมาณปี 2564 ตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณไว้ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท โดยจะมีการกู้เงินทดแทนงบประมาณที่ขาดดุล ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะพุ่งขึ้น สวนทางกับจีดีพีที่หดตัว และอาจผลักดันให้สัดส่วนหนี้สาธารณะกับจีดีพีเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ก่อให้เกิดความกังวลในการก่อหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก่อหนี้แล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท

ทั้งตลาดหุ้น ทั้งเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะที่วังเวง น่าเป็นห่วง ธุรกิจรอวันล่มสลาย และไม่เหลือความหวังใดจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์แล้ว

ดูเหมือนทุกฝ่ายจะถูกปล่อยให้ทำใจ นั่งดูหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามา ทำใจยอมรับว่า ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 หนักเกินความสามารถที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะ “เอาอยู่”

และคงต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจากเชื้อไวรัสอย่างสิ้นหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น