xs
xsm
sm
md
lg

“โฆษกคลัง” เผยน่าเสียใจคนลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ให้ข้อมูลเท็จทำผู้เดือดร้อนจริงได้เงินช้าขึ้น ยันคัดกรองเข้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โฆษกคลัง” เผยยอดลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” พุ่งทะลุกว่า 20 ล้านรายแล้ว เกินจากที่ประเมินไว้มาก ลั่นน่าเสียใจ คนให้ข้อมูลเท็จทำให้ผู้เดือดร้อนจริงอาจได้รับเงินช้าขึ้น ยันคัดกรองเข้ม ใช้ “เอไอ” ขั้นต้น ส่วนคนที่ไม่ชัดเจนจะติดต่อขอข้อมูลเพิ่ม



วันนี้ (30 มี.ค. 63) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เคลียร์ให้หายข้องใจ เงิน 5,000 กับ โฆษกคลัง”

โดย นายลวรณ กล่าวว่า ยอดคนลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเมื่อตอน 6 โมงเย็น อยู่ที่ 20 ล้านเศษๆ เริ่มซาแล้ว ที่เยอะขนาดนี้คาดว่า ประชาชนคงไม่มั่นใจว่าคุณสมบัติครบถ้วนหรือเปล่า เลยลงทะเบียนไว้ก่อน แล้วให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังตรวจสอบ ถ้าได้ก็รับ ไม่ได้ก็ไม่รับ คงมีที่คิดอย่างนี้เยอะ ตัวเลขที่ประเมินไว้ไม่น่าจะสูงขนาดนี้ โดยดูจากแรงงานนอกระบบทั้งหมดว่าทำงานกี่คน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เดิมประมาณการที่ 3 ล้านคน

เมื่อเข้าสู่การคัดกรองแล้ว ตอบไม่ได้ว่าจะเหลือกี่คน เพราะไม่มีกระบวนการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดู แต่คัดกรองด้วยเอไอ โดยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่เรียนเพื่อความสบายใจว่า ตัวเลขสุดท้ายออกมาเท่าไหร่ก็ตาม ถ้ามั่นใจว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริงๆ รัฐบาลพร้อมเยียวยาท่าน

โฆษกคลัง กล่าวอีกว่า เมื่อลงทะเบียนเสร็จก็เข้าสู่การคัดกรองทันที โดยเอไอทำงานเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของภาครัฐ และฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะสามารถเชื่อมโยงหาตัวตนของท่านให้ใกล้เคียงที่สุด ว่า ท่านประกอบอาชีพอิสระจริงไหม เป็นลูกจ้าง แรงงานจริงหรือเปล่า อยู่ในประกันสังคมไหม และที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น คือ ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือไม่ เราอยากเยียวยากลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง ถูกปิดสถานประกอบการ ถูกลดเงินเดือน เป็นกลุ่มแรกที่เราอยากดู แม้ใช้เอไอตัดกรอง แต่อาจมีคนประกอบด้วย

“ผลของการคัดกรอง จะออกมาทั้งหมด 3 กลุ่ม กลุ่มที่ไม่มีปัญหา ผ่านเกณฑ์ทุกเกณฑ์ ชัดเจนว่าได้รับเงินเยียวยา กลุ่มที่ชัดเจนว่าไม่ได้ เช่น อายุไม่ถึง 18 ปี อยู่ในระบบประกันสังคม ถูกตัดออกแน่นอนเหมือนกัน กลุ่มที่สามคือ ที่อยู่ตรงกลาง ยังไม่แน่ว่าจะได้หรือไม่ได้ อันนี้จะมีการติดต่อสื่อสารไปถึงท่าน อาจจำเป็นต้องขอข้อมูลประกอบบางเรื่องเพิ่มเติม เพื่อมั่นใจว่าท่านอยู่ในกลุ่มคนที่ได้หรือไม่ได้” โฆษกคลัง กล่าว

นายลวรณ กล่าวอีกว่า การขอข้อมูลเพิ่มเติม จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละอาชีพ สมมติเป็นมัคคุเทศก์ อาจขอดูใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าค้าขาย ก็ต้องดูว่าขายอยู่ที่ไหน ถูกปิดจริงไหม กระทบจริงไหม

เมื่อถามว่า ร้านค้าข้างทาง จะต้องมีเอกสารอะไรเพิ่มเติม นายลวรณ กล่าวต่อว่า เดี๋ยวรอให้ระบบคัดกรองก่อน เราไม่เพิ่มความยากลำบากให้ประชาชนแน่ จะขอเท่าที่จำเป็นและเพื่อความมั่นใจเท่านั้นเอง ความยากคือเราไม่เคยมีฐานข้อมูลของผู้ประกอบอาชีพอิสระในประเทศไทย เราตอบไม่ได้เลยว่ามีกี่คน อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร ถ้ามีฐานข้อมูลตรงนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง แต่เรายึดวันลงทะเบียนเป็นหลัก แม้กระบวนการยืดออกไป แต่ก็จะได้รับ 3 เดือนเท่ากัน ทั้งนี้อย่างเร็วสุด 7 วันทำการหลังลงทะเบียน จะทราบผลว่าได้หรือไม่

ส่วนเรื่องดำเนินคดีในการให้ข้อมูลเท็จ นายลวรณ กล่าวว่า น่าเสียใจ วันนี้เรากำลังจะช่วยเหลือเยียวยาคนที่ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิตช่วงโควิด จากที่เราควรประเมินข้อมูลสัก 10 ล้านราย แต่ต้องมาประเมิน 20 ล้านชุดข้อมูล ท่านอาจมองว่าเป็นสิทธิของท่าน แต่เป็นการเพิ่มภาระงานในการกลั่นกรองข้อมูล ให้คนที่ถูกต้องได้รับเงินช้า ท่านทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบ แต่ต้องประเมินก่อนว่าเจตนาไม่เจตนา แล้วจำนวนมีมากน้อยเพียงใด แต่เรียนว่าการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพ์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องจะถูกเก็บภาษีย้อนหลัง กรมสรรพากรก็ยืนยันแล้วว่าไม่ใช้ฐานข้อมูลนี้ในการประเมินการเก็บภาษี

ต่อข้อถามว่า ถ้าคนลงทะเบียนไปแล้ว เห็นว่าไม่เข้าข่าย ขอถอนการลงทะเบียนได้ไหม โฆษกคลัง กล่าวว่า เราไม่ได้คิดไว้ว่าจะมีการถอนเลย แต่ได้มีการหารือกันเบื้องต้นว่า ในขั้นตอนที่เราแจ้งผล ในกรณีที่ผลออกมาว่าท่านไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ท่านสามารถอุทธรณ์ได้ ขออธิบายเพิ่มเติมได้ เราเปิดช่องทางนี้ไว้ให้ แต่ถ้าท่านไม่อุทธรณ์ก็ยุติเรื่องกันไป กำลังคิดแบบนี้อยู่ แต่ยังไม่สรุป

โฆษกคลัง กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการงบประมาณมีเพียงพอ ในการดูแลมาตรการนี้ สิ่งที่ต้องสื่อสารให้ดี ผู้ที่ลงทะเบียน 20 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงินทั้ง 20 ล้านคน ข้อมูลต้องตรวจสอบกลั่นกรอง แต่สุดท้ายออกมาเท่าไหร่ สบายใจได้ รัฐบาลดูแลเยียวยาทุกคน

ช่วงแรกรัฐบาลอนุมัติเงินมา 4.5 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่พอก็มีกระบวนการในการบริหารจัดการได้ ไม่ต้องห่วง เพราะนี่เป็นนโยบายไปแล้ว นายกฯ ให้ความสำคัญตรงนี้มาก จะกี่คนก็ตาม แต่ขอให้คัดกรองให้แม่นยำ และมั่นใจว่าได้เก็บตกคนที่เดือดร้อนทุกคน

จากนั้น ผู้ดำเนินรายการได้ถามคำถามจากทางบ้าน ดังนี้

- เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับการช่วยเหลือเรื่องราคายาง และอีกงานขายของในแหล่งท่องเที่ยว เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาไหม แล้วถ้าได้จะตัดสิทธิช่วยเหลือราคายางหรือไม่

นายลวรณ ตอบว่า ต้องเทียบเคียงกรณีนักศึกษา สถานะหนึ่งเป็นนักศึกษา อีกสถานะเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ เวลาการระบบคัดกรองออกมา เขาก็ประเมินว่าเป็นนักศึกษา ไม่ใช่แรงงานจริงๆ ไม่เข้าเงื่อนไข ก็ต้องดูอาชีพหลักของท่านว่าคือเกษตรกร หรือ ค้าขาย แล้วก็ต้องชี้แจงว่าผลกระทบจากโควิดของท่านคืออะไร

- ทำงานรับจ้างทั่วไป ขับรถรับลูกค้าที่สนามบิน เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาไหม

นายลวรณ ตอบว่า ต้องดูว่าเข้าข่ายรถรับจ้างสาธารณะ แล้วสิ่งที่ยืนยันตัวท่านได้ดีที่สุด คือ ใบขับขี่สาธารณะ

- ลงทะเบียนผ่านแล้ว แต่วันถัดมา SMS บอกไม่ถูกต้อง ถือว่าลงทะเบียนสำเร็จหรือยัง

นายลวรณ ตอบว่า แนะนำให้ลงทะเบียนใหม่ เพราะถือว่าข้อมูลบัตรประชาชนที่กรอกไม่สมบูรณ์ เวลากรอก ดูดีๆ สะกดข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง เพราะมีการเช็กกับข้อมูลกระทรวงมหาดไทย

- อยู่ในประกันมาตรา 39 ขายเสื้อผ้าอยู่ต่างจังหวัด แต่มารับของที่สำเพ็ง ประตูน้ำ ไม่ได้ เพราะปิด จะได้รับเงินไหม

นายลวรณ ตอบว่า มีสิทธิลงทะเบียน แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร

- เป็นผู้สูงอายุ ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ แต่มีร้านตัดผม ซึ่งถูกสั่งปิดไป เข้าเกณฑ์ไหม

นายลวรณ ตอบว่า ไม่ได้มีเกณฑ์ว่าได้เบี้ยผู้สูงอายุแล้วจะไม่ได้รับเงินเยียวยาโควิด มาตรการที่ออกมาตอบโจทย์ผู้รับต่างกันไป ถ้าประกอบอาชีพอื่นด้วย ก็ดูว่าเข้าข่ายจริงหรือไม่ อย่างถ้าเปิดร้านทำผมจริง ก็เข้าข่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น