"รัชชพล" แนะมาตรการพักหนี้ควรให้ทุกคน จะได้ลดการเดินทางไปแบงก์เพื่อเจรจา จี้รัฐช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็ก - กลาง ให้มากกว่าแค่ปล่อยสินเชื่อ จู่ ๆ ให้เป็นหนี้ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขา ชี้ประชาชนสามารถใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน เห็นบทเรียนชัดไม่มีเงินสำรองยามฉุกเฉินทำเดือดร้อนหนัก
วันที่ 25 มี.ค. 63 นายรัชชพล เหล่าวานิช ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "รวมมิตรมาตรการเยียวยารัฐ ยุคโควิด-19"
โดย นายรัชชพล ได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า มาตรการพวกพักชำระหนี้ พวกสินเชื่อต่าง ๆ แนวคิดดี แต่น่าให้ไปหมดเลย แต่ตอนนี้เหมือนต้องให้ประชาชนเดินกลับไปที่ธนาคาร ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้อยากให้มีโซเชียลดิสแทนซิ่งไม่ใช่หรือ เมื่อเป็นนโยบายไปแล้ว ยกตัวอย่างสินเชื่อบัตรเครดิตเห็นชัดเจน เมื่อบอกลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ทุกบัตรเครดิตทำเหมือนกันหมด บิลที่ส่งมาก็ระบุไปเลยว่าเหลือ 5% ให้เลือกจ่ายขั้นต่ำ ส่วนคนที่มีกำลังจ่ายก็คงไม่จ่ายแค่ 5% หรอก
หรือสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ ในเมื่อประกาศให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนได้ หรือลดค่างวดจากเดิมจ่าย 100% เหลือจ่าย 70% เป็นเวลา 6 เดือน ก็ส่ง SMS ให้ลูกค้าเลยว่ามีโปรโมชันพิเศษให้เลือกเอหรือบี แล้วก็ตอบรับผ่านระบบโทรศัพท์กลับมาได้เลย มันไม่ควรให้เราเดินทางออกจากบ้านไปอีก แบงก์ควรช่วยกันในเรื่องนี้ด้วย ส่วนปัญหารายได้ธนาคารจะหายไปเยอะ ก็ต้องให้แบงก์ชาติช่วยสนับสนุนอะไรก็ว่ากันไป
นายรัชชพล ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง มีสินเชื่อรายย่อยให้ โดยขอกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก อันนี้ก็ต้องไปแสดงตนคุยกับแบงก์
ซึ่งจุดอ่อนของมาตรการชุดสองนี้ คือเน้นให้แรงงาน ลูกจ้าง แต่ฝั่งผู้ประกอบการยังน้อย ตนหวังว่าระลอก 3 ต้องช่วยผู้ประกอบการมากกว่านี้ มีจำนวนมากช็อก รายได้หดหาย ถึงขั้นสาหัส จู่ ๆ จะให้เขากู้ ทั้งที่ไม่เคยกู้ ไม่เคยเป็นหนี้ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดเขา รัฐบาลควรคิดให้ผู้ประกอบการมากกว่านี้ได้ไหม
ตนขอเสนอกรณีร้านอาหาร คิดแบบเร็ว ๆ รัฐอาจจะช่วยให้ร้านที่ได้รับผลกระทบเข้าไปในแอปพลิเคชันสั่งอาหาร แล้วอุดหนุนเงินส่วนหนึ่งให้ประชาชนสำหรับใช้ซื้อจากร้านเหล่านี้ ก็จะได้ช่วยให้ร้านมีออร์เดอร์เยอะขึ้น หรือจะให้เงินโดยตรงเหมือนที่ช่วยลูกจ้างก็ได้
นายรัชชพล กล่าวต่อว่า คนอาจมองว่าถ้าช่วยหมดเป็นเม็ดเงินมหาศาล รัฐสามารถเพิ่มเพดานเงินกู้ได้ ออก พ.ร.ก. โอนงบประมาณได้ เพราะงบที่ออกมาตอนนี้จัดสรรสำหรับสถานการณ์ปกติ แต่ตอนนี้มันไม่ปกติ ฉะนั้นโยกมาได้ ถ้ายังไม่พออีก ก็ออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินกู้เงิน ก็ออกไป ตอนนี้คนไทยไม่ว่าอะไร ขอให้ไปต่อได้ แล้วไม่ต้องห่วงจีดีพีเพราะมันติดลบอยู่แล้ว ขอแค่ให้อยู่รอดกันต่อ อย่าให้ล้มหายตายจากไปหมดก็พอ
นายรัชชพล กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ควรทำที่สุดตอนนี้ คือกลับมาทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองก่อน ถ้าไม่ได้ออกไปไหน ค่าเดินทางจะลดลง ค่ากินลดลงบ้างเพราะหลายร้านปิด ส่วนหนี้สิน รัฐพยายามช่วย เราก็บริหารจัดการหนี้ไป แล้วพยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถือโอกาสนี้บริหารจัดการการใช้จ่าย ตนเชื่อว่าถ้าลากยาว 3-6 เดือน นิสัยการใช้เงินจะเปลี่ยนเลย และทำให้คนสำเหนียกว่าที่ผ่านมาใช้เงินเกินตัวขนาดไหน การไม่เคยมีเงินสำรองฉุกเฉิน ตอนนี้ออกอาการหมด ถือเป็นข้อดีของโควิด-19 ทำให้เรากลับมาตระหนักเรื่องการใช้ชีวิตแบบพอเพียง