xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แนะโยกงบที่ไม่จำเป็นมาทุ่มเยียวยาพิษโควิด-19 ชี้วัดใจรัฐเลือกกลุ่มทุนหรือประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เสนอโยกงบที่ไม่จำเป็นมาทุ่มเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชี้ วัดใจรัฐบาลจะเลือกกลุ่มทุนหรือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ลั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-มาตรการเยียวยาลูกจ้าง ออกช้าไป ทำคนแห่หนีออกต่างจังหวัดหมดจนควบคุมยาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ แนะอย่าลืมเยียวยาให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการร่ายย่อยด้วย



วันที่ 24 มี.ค. 63 อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “มาตรการ-คำสั่งที่น่าจะออกมาหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

โดย อ.ปานเทพ กล่าวว่า สิ่งที่เตือนไป ถ้าปิดกิจการแล้วปิดไม่หมด จะต้องปิดยาว ที่สำคัญกว่านั้น การไม่ได้รับการเยียวยาทันทีหลังสั่งปิด ทำให้พนักงาน ลูกจ้าง ต้องเดินทางออกนอก กทม. จากนั้นจึงค่อยมีมาตรการคัดกรอง ซึ่งสายไปแล้ว หลักการควบคุมโรคต้องปิดการเข้าออกเป็นสิ่งแรก แล้วไม่ใช่บอกล่วงหน้า

นอกจากปิดกิจการที่มีความเสี่ยง ควรปิดสถานที่ราชการและเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 ด้วย แล้วใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำกัดการเคลื่อนย้าย ห้ามรวมตัวเกิน 5 คน ถ้าทำก่อนที่มีการหนีออกไปต่างจังหวัด เราจะคุมได้ในระยะสั้น ในงบและบุคลากรที่จำกัด สอดส่องงายกว่ากระจายไปทั่วประเทศ เสียดายมากถ้ามาตรการเยียวยาและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำทันทีหลังสั่งปิด จะไม่มีจุดที่ต้องมาครอบคลุมทั้งประเทศแบบตอนนี้ รัฐยังคงประกาศทุกอย่างตามหลังสถานการณ์อยู่

อ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เราไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจริงจัง ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงแบบอิตาลีและยุโรปแน่ ตนเห็นด้วยที่ประกาศ แต่ช้าไป การออกมาตรการเยียวยาก็เป็นรูปธรรมมาก แต่ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์และช้าไป

แล้วตอนนี้รัฐคิดแต่เยียวยาพนักงาน แต่อย่าลืมผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย ก็มี เขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้เลย หากเขายืนหยัดไม่ปลดพนักงาน รัฐก็ต้องดูแลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการด้วย

รัฐมีงบประมาณแผ่นดิน สถานการณ์ปัจจุบันเป็นวิกฤตชาติ ยังมีหัวจิตหัวใจไปลงทุนเมกะโปรเจกต์ในภาวะที่ประชาชนเดือนร้อนจากวิกฤตและมีสิทธิล้มละลายปิดกิจการ รัฐจะแก้ยังไง อาจจำเป็นต้องโยกเงินงบประมาณกลับมาโดยอาศัยการเกิดวิกฤตในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้

“งบประมาณไม่จำเป็นเยอะเลย ที่ผ่านมาคิดแต่จะทำเมกะโปรเจกต์ การประมูลต่างๆ ลองเปลี่ยนโยกงบมาดูแลเรื่องนี้ กลุ่มทุนรวยยังมีเวลา ต้องเอาประชาชนก่อน” อ.ปานเทพ กล่าว

สิ่งที่สำคัญสุดที่รัฐต้องเร่งแก้ไข คือ หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ ถึงวันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่เลย หน้ากากอนามัยนำเข้า บางรายการภาษีสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จริงหรือไม่ ต้องยกเลิกภาษีเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ชุดตรวจนำเข้าจากต่างประเทศ กว่าจะผ่าน อย. ใช้เวลา 6 เดือน จริงหรือไม่

หน้ากากอนามัยที่จีนส่งให้ไทย เราก็มีข้อจำกัดอีกเยอะ ตรวจสอบนั่นตรวจสอบนี่ ตอนนี้ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้รัฐก็ยังให้คำตอบประชาชนไม่ได้ว่าให้ประชาชนถึงหน้ากากได้อย่างไร ตนเสนอว่าต้องปล่อยเสรีในการนำเข้า แล้วมันจะเกิดการแข่งขันเสรีเอง

อ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า กระบวนการตัดสินใจขณะนี้ยุ่งยากมาก ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ รัฐรู้อยู่แล้วว่าเงินประกันสังคมมาจากธุรกิจอะไร กลุ่มไหนถูกปิดจากสถานการณ์ก็ชดเชยได้เลย รัฐต้องช่วยอย่างเต็มที่ เรามาช้าไปแต่ดีกว่าไม่ทำ และควรทำให้ง่าย โอนเข้าบัญชีเลย ไม่ต้องขึ้นทะเบียน คำว่าลงทะเบียนเป็นปัญหาที่สุด ไม่ใช่ลูกจ้างทุกคนจะทำเป็น รัฐต้องลดขั้นตอน ใช้ระบบที่เคยจ่าย นายจ้างขึ้นทะเบียนมีใครบ้าง ก็จ่ายเลย ไม่ใช่อาศัยความยุ่งยากในขึ้นทะเบียน เพื่อหวังให้คนมาลงทะเบียนน้อยจะได้ลดภาระงบประมาณ

อ.ปานเทพ กล่าวด้วยว่า ถ้าเราผ่านการปิดประเทศไปได้ รัฐอย่าเพิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้ เพราะเราจำเป็นต้องมีเงินอีกก้อนหนึ่ง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ หลังเราได้รับชัยชนะแล้ว ซึ่งจำเป็นมาก และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เสมือนเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยปลอดโควิด-19 ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ทำพร้อมกันเราไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าถึงจุดนั้นต้องอัดเงินให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าต่างประเทศกำลังชุลมุนกันอยู่ จนกระทั่งถึงเฟสที่เรียกว่าต่างชาติมีนโยบายทัดเทียมหรือเหมือนกับเรา คือ คุมสภาพได้แล้ว แล้วก็เริ่มถ่ายโอนนักท่องเที่ยวซึ่งกันและกันก่อน ถ้าเป็นแบบนี้เรามีสิทธิได้รับอานิสงส์ทางเศรษฐกิจเร็ว ยกตัวอย่าง จีน ญี่ปุ่น ถ้าเราคุมโรคได้ทัน เขาก็ยอมรับมาตรฐานไทย แค่ 2 ประเทศนี้เราก็ฟื้นการท่องเที่ยวได้แล้ว

ตนขอย้ำเฟสที่หนึ่ง คือ ปิดประเทศ เฟสที่สอง ควบคุมโรค เฟสสาม กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เฟสสี่ ดึงนักท่องเที่ยว โอนถ่ายกับประเทศที่มาตรฐานเดียวกัน ส่วนเรื่องโยกงบ เป็นการวัดใจรัฐบาลว่าเลือกกลุ่มทุนหรือประชาชนที่เดือดร้อนอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น