xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ลดเป้าจีดีพีโตแค่ 0.5% อ่วม COVID-19 ฉุดสินเชื่อ-รายได้แบงก์ร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดเป้าจีพีดีเติบโตเพียง 0.5% ระบุตัวแปรสำคัญ COVID-19 ยังไม่นิ่ง หวังเข้าสู่จุดสูงสุดไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังกระเตื้องขึ้น คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีกรอบในการประชุมเดือนนี้ พร้อมปรับลดสินเชื่อแบงก์โตแค่ 1%

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เติบโตที่ 0.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.7%เมื่อปลายปี 2562 โดยตัวแปรหลักมาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มมีผลมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และมีผลหนักขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยการคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ปัจจัยดังกล่าวควบคุมได้ในครึ่งแรกของปี ประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื่อในประเทศจีนที่ลดลงต่อเนื่องไม่มีการกลับมาระบาดซ้ำ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นสูงในไตรมาสที่ 2 และสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทยรายใหม่ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การปรับลดจีดีพีของไทยโดยหลักๆ แล้วมาจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 8 ล้านคน ส่งผลให้เม็ดเงินหายไป 400,000 ล้านบาท การส่งออกที่ถูกกระทบทั้งทางตรงจากจีนและทางอ้อมจากซัปพลายเชน ก็จะส่งผลกระทบลามมาถึงการลงทุน การใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคของเอกชน รวมถึงภาวะการจ้างงานที่คาด่าจะมีจำนวนการว่าจ้างงานลดลงกว่า 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้จีดีพีในช่วงไตรมาส 1 และ 2 อยู่ในระดับติดลบ และค่อยๆ ดีขึ้นในไตรมาส 3 ที่คาดว่าจะโตได้ใกล้ๆ 1% และไตรมาส 4 ที่ใกล้ๆ 3%

"สถานการณ์ที่เป็นอยู่ประเมินยาก ตัวแปรหลักคือ COVID-19 ยังไม่นิ่ง ซึ่งการปรับลดจีดีพีครั้งนี้ เราไม่ได้ปรับรวดเดียวจาก 2.7% เป็น 0.5% แต่ลดมาเป็นขั้นๆตั้งแต่เกิดเรื่องมาที่ 1.5% จากสมมติฐานว่า COVID-19 จะจบในไตรมาสแรก แต่ก็ยังไม่ได้เพราะสถานการณ์ยังแย่ลง แม้ในจีนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ทั่วโลกกลับมาเพิ่มมากขึ้น ในไทยก็เช่นกันแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะทรงๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่เข้ามาใหม่และอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น จึงต้องประเมินกันวันต่อวัน ทั้งสถานการณ์โลกเพราะเรายังพึ่งพาเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ในไทยเองที่หวังว่าจะเกิดการติดเชื้อเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ คือ เพิ่มจำนวนมาก 20-30 คน ในเวลารวดเร็ว"

สำหรับมาตรการที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในขณะนี้คงต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน โดยมาตรการทางการเงินคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 มีนาคมนี้อีก 0.25% อยู่ที่ 0.75% ซึ่่งช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการได้เมื่อนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ขณะที่มาตรการการคลังก็จะต้องออกมาเช่นกัน ซึ่งควรจะเป็นการช่วยเหลือให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการว่าจ้างงานทำให้สามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้จะตอบโจทย์กว่า ขณะที่การประชุมด่วนของเฟดที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% และตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดอีก 0.50% นั้น บ่งบอกแนวโน้มดอกเบี้ยโลกอยู่แล้วว่าเป็นทิศทางขาลง

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยืดเวลาชำระหนี้ ไปจนถึงการปรับโครงสร้างที่อาจจะต้องลดดอกเบี้ย รวมถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ได้ เนื่องจากรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลง จึงได้ปรับอัตราการขยายสินเชื่อรวมธนาคารพาณิชย์ปีนี้เหลือ 1% จากเดิมที่ 3% โดยสินเชื่อภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีจะยังคงติดลบจากปีก่อนที่ -1.8% สินเชื่อรายย่อยคาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 5% จากปีก่อนที่เติบโต 7.5% ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอยู่จากสิ้นปีก่อนที่ 2.98% มาเป็น 3.1-3.2% ในไตรมาสแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น