xs
xsm
sm
md
lg

"พิโก้ไฟแนนซ์-พิโก้พลัส" มียอดอนุมัติสินเชื่อสะสมถึงสิ้นเดือน ก.ย. ราว 3.6 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รองโฆษก สศค." เผย ยังมีผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค 62 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทำธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และพิโกพลัสสุทธิรวมกัน 1.1 พันราย และมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมถึงสิ้นเดือน ก.ย 62 อีกกว่า 3.6 พันล้านบาท ส่วนยอดรวมสินเชื่อคงค้างสะสมจะอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เช่นเดียวกับ "ออมสิน-ธ.ก.ส." ที่ช่วยกันอนุมัติเงินกู้โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินไปแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วน สตช. มียอดจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบสะสม 4 ปี รวม 5.3 พันราย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สศค. ได้ปรับปรุงประกาศของ สศค. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ต.ค. 62 ในส่วนของรูปแบบการเขียนแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดในการจัดทำเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยแผนการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 62 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสในเดือน ต.ค. ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้ด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค 62 นั้น มนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวม 1,231 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 110 ราย กรุงเทพมหานคร 95 ราย และขอนแก่น 64 ราย

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาต 126 ราย ใน 51 จังหวัด ดังนั้น จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิรวม 1,106 ราย ใน 75 จังหวัด และมียอดผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท รวมทั้ง 712 ราย ใน 72 จังหวัด ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 617 ราย ใน 68 จังหวัด และได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อแล้ว 566 ราย ใน 68 จังหวัด

ส่วนปล่อยสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์นั้น มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 997 ราย ใน 76 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้ว 701 ราย ใน 72 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 606 รายใน 68 จังหวัด

ขณะที่สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 109 ราย ใน 43 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมที่ได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 70 ราย ใน 35 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่จำนวน 39 ราย ใน 8 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้วจำนวน 11 ราย ใน 6 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 11 ราย ใน 6 จังหวัด

สำหรับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน ก.ย 62 มีทั้งสิ้น 138,479 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 3,679.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,572.47 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วยสินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 68,199 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,011.74 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 70,280 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,667.99 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะเดียวกันยังมียอดสินเชื่อคงค้างสะสม ณ สิ้นเดือน ก.ย. 62 รวมทั้งสิ้น 64,336 บัญชี คิดเป็นเงิน 1,755.29 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวม 7,719 บัญชี หรือคิดเป็นเงิน 230.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.13% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวม 6,818 บัญชี หรือคิดเป็นเงิน 191.22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.89% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นอกจากนี้ นายพรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินที่สะสมตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 จนถึงเดือน ต.ค. 62 ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ทั้ง 2 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 622,780 ราย คิดเป็นเงิน 27,361.33 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 577,099 รายรวมเป็นเงิน 25,391.23 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 60 จำนวน 45,681 ราย รวมเป็นเงิน 1,970.10 ล้านบาท

ด้านการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดสะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 59 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 62 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,309 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น