xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” แนะนายกฯอย่าฟังแต่เศรษฐี ค้านแนวคิด “เจ้าสัว” ให้กู้แหลก ชี้ภาระตกที่คนชั้นกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย” จี้ นายกฯ เปลี่ยนแนวคิด รับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 แนะอย่าฟังแต่เศรษฐี-ข้าราชการ ควรเปิดรับความคิดเห็นจากภาคสังคมอื่นด้วย ค้านข้อเสนอ “เจ้าสัวธนินท์” ยุรัฐกู้แหลก ชี้จากโครงสร้างกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม สุดท้ายภาระจะตกที่คนชั้นกลางที่ต้องจ่ายภาษี



วันที่ 21 เมษายน 2563 รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมสนทนาในรายกาาร “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “บันทึกเศรษฐกิจโลกยุคโควิด-19 โลกฟุบยาว ไทยฟื้นช้า อวสานทุนนิยมโลก?”

โดย ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวว่า ตนคาดว่า เศรษฐกิจไทยไม่มีทางฟื้นตัวแบบตัววี (V) คือ ตกเร็ว อัดเงินเข้าไปแล้วฟื้นเร็ว แต่จะฟื้นแบบตัวยู (U) แน่นอน คือ ยังจะตกอยู่นานประมาณหนึ่ง ที่น่ากลัวและมีโอกาสเป็นไปได้ คือ ฟื้นแบบตัวแอล (L) แต่ก็เอาใจช่วย ไม่อยากให้เป็นในรูปแบบนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์จีดีพีไทย ปี 2563 จะติดลบ 6.7% เหตุผลก็มาทั้งจากภายในเอง และภายนอก

ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ต้องถือว่าล้มเหลว ก่อให้เกิดหนี้สินครัวเรือนถึง 80% ต่อจีดีพี เราต้องยอมรับว่า เราอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์มาเกือบ 7 ปี ไม่ใช่เพราะแค่โควิด แต่เศรษฐกิจมันอ่อนแออยู่แล้ว

เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่อย่างไร ต้องยอมรับความจริงก่อน ว่า นโยบายบริหารเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ประเทศไทยอยู่ในระบบโลก เป็นบริวารของระบบโลก ถ้าเศรษฐกิจโลกดี ก็ดีด้วย ถ้าตกต่ำก็แย่ตามไปด้วย

ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า หลังโควิด-19 รัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวคิด ตนขอเรียกว่าประยุทธ์โนมิกส์ ซึ่งวิกฤตเที่ยวนี้ ถ้ายังยืนอยู่บนวิธีเก่า ที่เป็นรัฐราชการนายทุนขุนศึก จะเอาไม่อยู่ ภายใต้ภาวะวิกฤต โจทย์ใหม่ ต้องแก้ปัญหาได้เร็ว มีภาวะผู้นำพิเศษ คิดเร็ว รู้จักใช้คน แต่ตั้งแต่เกิดโควิดขึ้นมา นายกฯก็ยังคิดแบบเก่าอยู่ คือใช้บริการกลุ่มทุน

กรณีนายกฯส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐี ตนลำดับเหตุการณ์ ก่อนหน้านี้ ออกมาบอกว่า เศรษฐี 20 คน พอมาล่าสุดปฏิเสธจำนวนคน บอกว่าไม่ได้พูด หลังมีข่าวออกมา ก็มีคนวิจารณ์ เหมือนรัฐบาลโยนก้อนหินถามทาง หยั่งกระแส ซึ่งทำแบบนี้บ่อยๆ มันไม่ได้

ถ้าจะขอความคิดเห็นจากเศรษฐี ผู้มีประสบการณ์ ก็ต้องให้ความสำคัญข้อมูลความรู้จากแหล่งอื่นด้วย เช่น ประชาชน นักวิชาการ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ แต่คิดว่าปัจจุบัน ก็ยังเป็นประยุทธ์โนมิกส์แบบเก่า เนื้อหาไม่ต่างกัน คือต้องฟังจากกลุ่มทุน

ดร.วิวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเรื่องแจกเงิน 5 พันบาท มีคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เสนอแบบแจกทั่วถึงเป็นธรรม คือ ให้ทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และแรงงานในมาตรา 33 ข้อเสนอแบบนี้ นายกฯได้สนใจหรือไม่ หรือฟังแต่กลุ่มทุน และข้าราชการ ตอนนี้ยังไม่สายเกินที่จะปรับตัว

ส่วนแนวคิดของ ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวซีพี สนับสนุนให้รัฐบาลกู้เงินเยอะๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ไม่ให้เศรษฐกิจล่ม เข้าใจได้ เพราะเป็นมุุมมองคนทำธุรกิจ ทุ่มเงินเข้าไปหมดมีโอกาสเศรษฐกิจฟื้น แต่ไม่ถามว่าใครบ้างที่ต้องจ่ายในการฟื้น โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย คนจนเยอะ คนชั้นกลางที่ต้องเสียภาษีเยอะ โครงสร้างที่กระจายรายได้ไม่เป็นธรรม เมื่อเป็นหนี้สินแล้วจะเป็นภาระใคร ตนจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะมีทางเลือกอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น