นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือฯ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ พร้อมคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ และผู้บริหารเครือซีพี เข้าเยี่ยมชมโรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยเป็นวันแรก รวมทั้งได้ทำการส่งมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 100,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ
นายธนินท์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและมีความสุขมากที่เครือซีพีสามารถสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนได้ภายในเวลา 5 สัปดาห์ ซีพีเห็นความสำคัญว่าสถานการณ์ขณะนี้ต้องเร่งปกป้องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีพลังที่จะปกป้องประชาชน ดังนั้น จึงสำคัญมากที่ต้องผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย จะเป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยส่งต่อไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศ และส่วนที่เหลือจึงแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปฟรี
ทั้งนี้ กำลังการผลิตปัจจุบันตั้งเป้าวันละ 100,000 ชิ้น หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเป็นโรงงานอัตโนมัติใช้ผู้ควบคุมในโรงงานเพียง 3 คน เพื่อให้เป็นโรงงานที่ปลอดเชื้อโรคสูงสุดสามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง
นายธนินท์ ประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการระบาดโควิด-19 แตกต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลกที่เกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง ผู้คนต้องกักตัวในที่พักอาศัยเพื่อเลี่ยงการแพร่เชื้อ
สำหรับประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั้งระบบ ซึ่งไทยพึ่งพารายได้ด้านการท่องเที่ยวมหาศาล ดังนั้นจึงเสนอให้เตรียมแผนเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวและส่งออกไว้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม และขอให้ภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆ เตรียมพร้อมด้านกำลังคน และภาคแรงงานไว้ หากสามารถที่จะช่วยเหลือไม่เลิกจ้างแรงงาน ทำให้ผู้คนยังมีกำลังจับจ่ายภายในประเทศได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะวันนี้เมื่อมืดที่สุด ก็จะสว่าง เมื่อสว่างแล้วจะต้องเตรียมตัวทำอย่างไร เช่นเดียวกับเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก เพราะหลังวิกฤตแล้วมีโอกาสแน่นอน
นายธนินท์ กล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในสถานการณ์นี้ยืนยันว่าซีพีทุกประเทศทั่วโลกจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานออกแม้แต่คนเดียว และต้องดูแลพนักงานของซีพีให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อช่วยปกป้องพนักงานไม่ให้เข้าไปเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีการใช้มาตรการทำงานที่บ้านโดยยังจ่ายเงินเดือนและรายได้เช่นเดิม ซึ่งซีพีให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานมาก เพราะการรักษาคนของซีพีเท่ากับบริษัทรักษาพลังของบริษัทไว้คู่กัน เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย เพราะเมื่อถึงเวลานั้นประเทศต้องเดินหน้าต่อได้ทันทีเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคแรงงานและกำลังคนของซีพีก็จะเดินหน้าได้ทันทีหลังวิกฤตจบลง ซึ่งซีพีใช้แนวทางนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดหนักที่เมืองอู่ฮั่นในจีน