xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐคลอดนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” กระตุ้นเศรษฐกิจ หวังเห็นดัชนีหุ้นพ้น 1,400 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเตรียมหารือรัฐเสนอข้อคิดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ แนะนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิดคลี่คลาย ดึงคนมีกำลังซื้อและไม่ได้รับผลกระทบออกมาจับจ่ายใช้สอยและเที่ยวในประเทศ แนบแพกเกจเชื่อมโยงกันทุกอุตสาหกรรมกระจายเม็ดเงิน ขณะแนวโน้มดัชนีหุ้นอาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมา คาดปีนี้เห็นระดับ 1,400 จุด ขึ้นอยู่กับมาตรการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ขณะเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 6-7%

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” ไม่ผิดไปจากที่กล่าวไว้ เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังเข้าสู่ปีชวดได้ไม่กี่วัน กลิ่นน้ำหมึกจากการเจรจายุติสงครามการค้าเฟสแรกยังไม่ทันจางหาย สหรัฐฯ ก็เปิดสงครามลอบสังหารนายพล โซเลมานี ผู้นำทางการทหารคนสำคัญของอิหร่าน จนสร้างความแตกตื่นกังวลไปทุกกระดานตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ถูกกระชากดัชนีฯ ดิ่งลงเหวไปตามๆ กัน ในทางกลับกันก็ผลักดันให้ราคาน้ำมันและทองคำพุ่งขึ้นในทันที ผลที่ตามมาต่อจากนั้นถึงขั้นที่อิหร่านประกาศชักธงแดงขึ้นสู่ยอดเสาสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกาศความพร้อมสู่ภาวะสงคราม แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ทันที่จะเริ่มสงครามอ่าวในตะวันออกกลางรอบใหม่ มหันตภัยเงียบที่มนุษย์มองไม่เห็นอย่าง “โคโรนาไวรัสอู่ฮั่น หรือ COVID-19” ก็ค่อยๆ ทยอยระบาดคืบคลานออกจากเมืองอู่ฮั่นและลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทุกพื้นที่ทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงที่หลายๆ คนตั้งแต่เกิดมาในชีวิตยังไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน

กระทั่งองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ต้องออกมาประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดอันตรายร้ายแรงทั่วโลก หรือ Pandemic จากระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือนที่ COVID-19 ได้ระบาดไปทั่วโลก และลากยาวตั้งแต่ไตรมาสแรกมาจนถึงไตรมาสสอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และติดเชื้อจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 09.00 น. วันที่ 12 พ.ค. 2563 มียอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 4,254,193 คน เสียชีวิตแล้ว 287,257 คน และรักษาหายแล้ว 1,527,106 คน ทำให้ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดกว่า 1.3 ล้านคน และยอดผู้เสียชีวิตกว่า 8.1 หมื่นราย ส่วนอันดับสองได้แก่ สเปน ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 2.6 แสนคน และอันดับสามได้แก่ สหราชอาณาจักร ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2.2 แสนคน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในยุโรป และอเมริกา แต่ในหลายๆ ประเทศแถบภูมิภาคเอเชียกลับส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดน้อยลง ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยซบเซาลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานกว่า 3 เดือน โดยหน่วยงานด้านตลาดทุนมองว่าหลังจากนี้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนให้ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ให้มุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนไทยในอีก 3 เดือนนับจากนี้ว่า ประเมินจากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนมองว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือเดือนกรกฎาคม 2563 จะอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” หรือ Neutral โดยพิจารณาจากช่วงค่าดัชนี 80-119 โดยเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40 ขณะดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในโซนทรงตัวเช่นเดียวกัน

“ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายนที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวหลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกันสามเดือน โดยทุกกลุ่มปรับตัวขึ้นอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ซบเซา ซึ่งการที่เดือนเมษายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อจากเดือนมีนาคมนั้นมาจากปัจจัยในประเทศที่ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา เช่น การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยวงเงิน 9 แสนล้านที่ออกมาช่วย SMEs และการออกกองทุน BSF เพื่อประคองตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,100-1,250 จุด จากนั้นดัชนีฯ ทยอยปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนจากมาตรการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 SET index ปิดที่ 1,301.66”

อย่างไรก็ตาม จากทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า มองว่าสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังมากที่สุดคือ “นโยบายภาครัฐ” จะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อทิศทางการลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะเดียวกัน การที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2563 ที่จะประกาศออกมา ก็อาจเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดได้เช่นกัน เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ รองลงมาคือแนวโน้มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด ขณะที่การไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวล COVID-19 หากรัฐบาลประกาศคลายมาตรการ Lockdown และไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนอาจกลับมาแพร่ระบาดรอบสอง ซึ่งสอดคล้องกันกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ลงเช่นกัน นอกจากนี้ ความกังวลในเรื่องภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงความวิตกด้านสงครามการค้า หรือ Trade war ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งสัญญาณปะทุขึ้นมาในรอบใหม่ อาจส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนทั่วโลก และกระแสการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินในรอบใหม่ และความคาดหวังถึงการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ได้สำเร็จที่จะนำมาใช้ได้โดยเร็ว ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องจับตามอง คือการออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาตลาดแรงงานทั้งลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs

ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นดัชนีมีโอกาสแกว่งตัว แต่แนวโน้มที่ดัชนีจะปรับตัวลงแรงมีจำกัด โดยอาจมีแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง เพราะดัชนีปรับตัวขึ้นมาถึง 30% จากระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ 969 จุด คาดปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีหุ้นไทยที่ 1,400 จุด โดยขึ้นอยู่กับมาตรการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไม่ให้เกิดการระบาดในรอบสองจนถึงขั้นต้องมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดูแลบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ประสบภาวะล้มละลาย เพื่อไม่ให้กดดันให้เศรษฐกิจปรับตัวลงลึกมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 6-7%

“สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเตรียมที่จะหารือร่วมกันกับรัฐบาลเพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ โดยอาจนำนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาลได้เคยนำมาใช้ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลายลง โดยจะเสนอแนะให้มีการกระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกมาจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยวภายในประเทศ ในลักษณะที่เป็นแพกเกจเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันในทุกอุตสาหกรรมเพื่อกระจายเม็ดเงินออกไปในทุกระดับ”

ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่า แนวโน้มการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในเดือนพฤษภาคมนี้อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับร้อยละ 0.75 ในปัจจุบัน จากปัจจัยหลักคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มติดลบ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และการไหลออกสุทธิของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ โดยดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. มิถุนายน 2563 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 42 และ 39 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับ 0.7% และ 1.39% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (17 เม.ย. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญคืออุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund Flow ต่างชาติ

ขณะที่ วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET ให้มุมมองการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2563 และทิศทางการลงทุนในปี 2564 ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวแรง ซึ่งนำไปสู่การปรับฐานครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันภาวะการแพร่ระบาดในหลายจุดเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดหุ้นเริ่มมีการฟื้นตัว ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาประกอบด้วย

ชั่งน้ำหนักระหว่างเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านสาธารณสุข : จากการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในไทยพบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสานกับตัวเลขผู้หายป่วยที่เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนการควบคุมด้านสาธารณสุขของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แน่นอนว่าจะนำไปสู่มาตรการผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงถัดไป ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าหลังจากนี้จะเห็นการกลับมาเร่งตัวขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือไม่ ซึ่งจุดนั้นจะเพิ่ม Downside ต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน หาก SET ปรับฐาน มองเป็นโอกาสในการสะสม : ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของรอบนี้แล้วกว่า 30% ตอบรับความคาดหวังเชิงบวกต่อพัฒนาการที่ดีขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 ในไทย และโอกาสในการผ่อนคลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปในระดับหนึ่งแล้ว ในขณะที่ในระยะสั้น ตลาดอาจใกล้เผชิญปัจจัยลบ เช่น งบบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอ, Valuation ของตลาดในช่วงสั้นที่เริ่มตึงตัว ซึ่งอาจนำสู่การปรับฐานสั้นได้ โดยหากเกิดขึ้นจริงคาดอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่การปรับฐานครั้งนี้คาดจะไม่รุนแรงเหมือนในอดีต โดยประเมิน Downside ของ SET ที่ 1,220-1,200-1,180 และหากว่ากรณีแย่สุดจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 1,150 จุด (ต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนสถาบันในขารีบาวนด์) ซึ่งจังหวะย่อตัวเราประเมินเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นเพื่อรอการฟื้นตัวในช่วง 2H63 สู่ระดับเป้าหมาย SET สิ้นปีที่ MBKET ประเมินไว้ที่ 1,380 จุด

สะสมหุ้นที่คาดฟื้นตัวดีในช่วง 2H63 และปี 2564 : คาดภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 63 แนะนำทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี แนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมเด่นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หุ้นที่จะทยอยฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564

อย่างไรก็ดีสิ่ง ที่นักลงทุนต้องพิจารณาได้แก่ SET ซึมซับปัจจัยบวกไปในระดับหนึ่งแล้ว ขณะปัจจัยลบอาจกำลังรออยู่ : SET ฟื้นตัวขึ้นกว่า +30% จากจุดต่ำสุดรอบนี้ที่บริเวณ 969 จุด คาดมีแรงหนุนจาก 1) พัฒนาการเชิงบวกของสถานการณ์ COVID-19 ในไทย และต่างประเทศ 2) ความคาดหวังต่อการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดในช่วงถัดไป และ 3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่เร่งด่วนและมีนัยสำคัญ ซึ่งทุกปัจจัยล้วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตลาดอาจกำลังจะเผชิญกับปัจจัยลบ เช่น 1) การรายงานงบบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอ 2) ตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 3) การปรับลดประมาณการกำไรที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้ Valuation ของ SET ในระยะสั้นเข้าสู่ภาวะตึงตัว ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจนำมาสู่การปรับฐานระยะสั้นของ SET

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการลงทุน Sell in MAY and go away หรือไม่? : การปรับฐานรอบนี้คาดอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับสถิติย้อนหลังในอดีตที่ตลาดมักจะปรับฐานในช่วงเดือนนี้ ด้วยความน่าจะเป็นในอดีตที่ราว 80% แต่อย่างไรก็ดีคาดว่าการปรับฐานครั้งนี้จะไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และ SET มีการปรับฐานใหญ่ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งถือเป็นต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนสถาบันในการซื้อสะสมขารีบาวนด์ในรอบนี้

จังหวะย่อเป็นโอกาสทยอยสะสม : แนะสะสมหุ้นที่คาดฟื้นตัวดีในช่วง 2H63 และปี 2564 โดยหุ้นพื้นฐานดีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ที่คาดแนวโน้มของผลประกอบการฟื้นตัวเด่น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) 2H63 The Survival : PTTEP, TOP, CRC, BEM, RBF, CPN, BDMS, SCC, BAM และ 2) 2564 The Survival : GULF, PTT, CPALL, AOT, ADVANC, BBL, GFPT, AWC, CHG, SAWAD, CENTEL

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส มองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ถูกคาดหมายว่า EPS Growth จะหดตัวลง 17% YoY ในปี 2563 มาอยู่ที่ 72.6 บาท/หุ้น แต่จากการติดตามการประกาศผลประกอบการ Q1/63 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีบริษัทฯ ที่ประกาศออกมาแล้ว 44% ของ Market Cap มีกำไรสุทธิลดลง 59% YoY และ 46% QoQ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลงอีกครั้งหนึ่งหลังการประกาศตัวเลข Q1/63 ครบ ซึ่งก็เท่ากับว่าที่ระดับ SET Index ปัจจุบันมีค่า PER อยู่ที่บริเวณ 18 เท่า และหากมองข้ามไปในปี 2564 ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับของการทำกำไรบริษัทจดทะเบียน เบื้องต้นคาดฐานกำไรสุทธิรวม 8.45 แสนล้านบาท คิดเป็น 78.6 บาท/หุ้น ก็จะทำให้ค่า PER ปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ราว 16.4 เท่า

ดังนั้น หากประเมินว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นไปได้ต่อ ก็ต้องมองข้ามผลประกอบการที่คาดว่าจะหดตัวแรงในปี 2563 ไป แล้วไปคาดหวังบนคาดการณ์ EPS ปี 2564 เพราะจากผลกระทบ COVID-19 ส่งผลให้ กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด Q1/63 มีการรายงานงบออกมาแล้วทั้งสิ้น 111 บริษัท (คิดเป็น 44% ของมูลค่าตลาด) มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 46.5%QoQ และ 58.9%YoY (ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลดลง 17%) เพราะฉะนั้นการที่กำไรงวด Q1/63 ลดลงแรง บวกกับมีแนวโน้มลดลงอีกในงวด Q2/63 ทำให้โอกาสในการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของแต่ละโบรกเกอร์ลงอีก ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของตลาด และหากประเมินสถานะของประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนล่าสุด พบว่ามีการทยอยปรับลดประมาณการลง จนล่าสุดกำไรปี 2563 ลดลง 6.2 หมื่นล้านบาท เหลือ 7.19 แสนล้านบาท (ลดลงจาก 7.81 แสนล้านบาท) และกำไรปี 2564 ลดลงเหลือ 8.45 แสนล้านบาท ส่งผลให้ EPS63F ลดลงจาก 72.62 บาท/หุ้น เหลือ 66.82 บาท/หุ้น และEPS63F เหลือ 78.56 บาท/หุ้น

คาด SET Index ปี 64 ระดับ 1,366 จุด

จากสถิติแสดงให้เห็นว่า SET Index ณ ปัจจุบันที่ 1,287.30 จุด ถูกซื้อขายกันบน Expected PER63 และเท่ากับ 19.27 เท่า ถือเป็นระดับที่แพง แต่หากประเมินจาก Expected PER64 เท่ากับ 16.4 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก และเป็นแรงที่ช่วยสร้างความหวังให้ตลาดยืนอยู่ได้ และหากประเมินเป้าหมาย SET Index จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ภายใต้ระดับ PER 17.4 เท่า (ประเมินจาก Market Earning Yield Cap ที่ระดับ 5%) จะได้เป้าหมายดัชนีปี 2564 อยู่ที่ 1,366 จุด

ขณะเดียวกัน หากพิจาณา Fund Flow ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยแล้วกว่า 4.3 แสนล้านบาท (ขายสุทธิ 4 ใน 5 ปี) ซึ่งสวนทางกับสถาบันในประเทศที่กลับเข้าซื้อสุทธิกว่า 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ขนาดใกล้เคียงกันของ 2 นักลงทุนหลัก ทำให้ช่วยพยุงให้ SET Index ปรับตัวขึ้นกว่า 22.66%

ต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิกว่า 1.7 แสนล้านบาท
หากพิจารณา Fund Flow ในปี 2563 นี้ พบว่าต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเช่นเคย โดยขายสุทธิไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท(ytd) ขณะที่สถาบันกลับซื้อสุทธิเพียง 5.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของแรงขายจากต่างชาติ และมีโอกาสชะลอการไหลเข้าต่อ ด้วยเหตุผล 2 อย่างหลักๆ ได้แก่ 1. สภาพคล่องส่วนเกินอาจถูกดึงออกไปช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) มากยิ่งขึ้น ภายหลัง พ.ร.ก.กระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1 ล้านล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่ง พ.ร.ก.ข้างต้นจะเป็นการจัดสรรเม็ดเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) โดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ภาคการเงิน (Financial Sector) มีน้อยลง 2. เม็ดเงินกองทุน LTF ที่หายไปกว่า 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้มีกองทุน SSFX มาช่วยพยุงแต่ยังไม่มากพอ สังเกตได้จากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเงื่อนไขพิเศษ (SSFX) ทั้งหมด 17 กองทุน ที่มีการอัปเดตข้อมูลกับทางตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2563 พบว่ายังไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเท่าที่ควร เนื่องจากมียอดซื้อสะสมเพียง 1.36 พันล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ ต้องมีระยะเวลาการถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นานกว่าเงื่อนไขกองทุน LTF พอสมควร และยังสามารถซื้อได้เฉพาะช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 เท่านั้น (ระยะเวลา 3 เดือน) NAV ของแต่ละกองทุน SSFX

โดยสรุป ในยามที่ Valuation ตลาดเริ่มตึงตัวและมีความเสี่ยงที่กำไรจะถูกปรับลดลงอีกและยังขาด Fund Flow หนุน กลยุทธ์การลงทุนจึงจำเป็นต้องพิถีพิถันในการลงทุน และแนะลงทุนในหุ้นที่ Laggard มีโอกาสเป็นเป้าหมายของ Fund Flow ในการ Rotation มาถึงในระยะถัดไป




กำลังโหลดความคิดเห็น