xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ประเมินวิกฤตโควิด-19 หนักกว่าต้มยำกุ้ง ลากยาวปลายปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อิสระ บุญยัง
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบระบบเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก แม้ว่าการแพร่ระบาดแค่ 2 เดือน แต่กลับส่งผลกระทบร้ายแรง ภาคอสังหาฯประเมิน “วิกฤตโควิด-19” หนักกว่า “วิกฤตต้ำยำกุ้ง”


นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ถือว่ามีความรุนแรงไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 แต่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ วิกฤตต้มยำกุ้ง 1.แกนกลางเกิดขึ้นภายในประเทศ 2.ขยายไปสู่ภูมิภาค และ 3.พื้นฐานแตกต่างจากวิกฤตโควิด-19 คือ 1.ประเทศไม่มีเงิน รัฐบาลไม่มีเงิน เงินทุนสำรองของไทยในขณะนั้นถือว่าต่ำที่สุดมีเพียง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น สถาบันการเงินล้มก่อนลูกหนี้ ธนาคารถูกปิด สถาบันการเงิน 56 แห่งถูกปิด เมื่อสถาบันการเงินถูกปิดลูกหนี้จะดีหรือไม่ดีย่อมล้มตาม 2.การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหนี้ต่างประเทศกลายเป็นหนี้เพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในชั่วข้ามคืน ทุกคนสาละวนอยู่กับการแก้หนี้ ทั้งสถาบันการเงินและเอกชน การปล่อยเงินกู้มีความเข้มงวดมาก เอกชนบางรายก็วิ่งหาสินทรัพย์ของตนเองว่าถูกขายไปที่ไหน

แต่อานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน รวมถึงการส่งออก หลังจากนั้นเศรษฐกิจของไทยก็พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกมาตลอดระยะเวลากว่า 22 ปี ธุรกิจเกือบทุกประเภทเติบโตด้วยการการรองรับการท่องเที่ยวและส่งออก การค้าชายแดน เศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยว ประเทศคู่ค้า ประเทศเพื่อนบ้านที่หลายประเทศใช้สินค้าของไทยทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เศรษฐกิจของไทยผูกติดกับการท่องเที่ยวและการส่งออก การค้าชายแดน

สถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนปี 2540 มีภาวะโอเวอร์ซัปพลายมาตลอด โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตัวเลขที่อยู่อาศัยยอดจดทะเบียนใหม่ปีละกว่า 140,000 หน่วย ในขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินว่าควรมีประมาณ 70,000-80,000 ยูนิต ซึ่งแม้ว่าจะเปิดวิกฤตในปี 2540 แต่เนื่องจากเป็นยอดซื้อล่วงหน้าก่อนการก่อสร้างจึงทำให้ในปี 2540 มียอดจดทะเบียน 148,000 หน่วย และในปี 2541 มียอดจดทะเบียน 67,000 หน่วย ในขณะที่จีดีพีติดลบ -10.5% และในปี 2542 จีดีพีโต 4.5% แต่ยอดจดทะเบียนต่ำสุด 29,000 หน่วย หลังจากนั้นค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนมีอยู่ที่ระดับ 70,000-80,000 หน่วย ในปี 2549 และขึ้นมาถึงระดับ 125,020 หน่วยในปี 2555

“เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคยังดีทำให้หลังวิกฤตดีมานด์ฟื้นตัวขึ้นทันที แต่ซัปพลายมีน้อยเพราะสถาบันการเงินต่างสาละวนอยู่กับการแก้หนี้ ลูกหนี้ต้องตามทรัพย์สินของตนเองว่าไปอยู่ที่สถาบันการเงินใด ผู้ประกอบการไม่มีเงินทุนพัฒนาโครงการใหม่ออกมาในช่วงปี 2542-2544 ขายดี ใครที่มีสต๊อกสร้างเสร็จขายดีหมด และจนเป็นที่มาบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย ไม่เห็นบ้านอย่าซื้อ” นายอิสระ กล่าว


วิกฤตโควิด-19 ต่างจากต้มยำกุ้งอย่างสิ้นเชิง
ในปัจจุบันวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ตรงข้ามกับปี 2540 อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากในปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยถือว่าแข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือมีประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สถาบันการเงินของไทยก็มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเช่นกัน ทำให้สามารถประคับประคองลูกหนี้ได้ ในส่วนของรัฐบาลก็สามารถใช้งบประมาณในการช่วยเหลือภาคประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาฯ เริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2560-2562 แต่เนื่องจากได้อานิสงส์ของกลุ่มผู้ซื้อชาวจีน ในขณะที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนากับผู้ประกอบการชาวไทยหลายราย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ยังสามารถระดมเงินในตลาดทุนได้อย่างเสรี ทำให้ผู้ประกอบการยังคงมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากำลังซื้อในไทยจะชะลอตัวก็ตาม

อานิสงส์ LTV ฉุดสต๊อกในตลาดน้อยลง
“การออกมาตรการ LTV เพื่อควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ถือเป็นการชะลอความร้อนแรงของตลาดลงไปได้มาก เมื่อกำลังซื้อถูกจำกัด ผู้ประกอบการแม้ว่าจะมีเงินทุนเยอะ แต่ก็มีความระมัดระวังมากขึ้น หลายรายเลือกที่จะชะลอการลงทุน ทำให้ปริมาณซัปพลายใหม่ออกสู่ตลาดน้อยลงไปมาก นับว่าเป็นข้อดีของมาตรการ LTV ทำให้ลดการเกิดโอเวอร์ซัปพลาย ซึ่งแม้ว่าซัปพลายจะถูกเบรกไปมากจากมาตรการ LTV แต่ก็ยังมีซัปพลายคงเหลือในตลาดจำนวนมากที่ผู้ประกอบการต้องระบายออกมาในช่วงนี้ ” นายอิสระ กล่าว

สถานการณ์ในปัจจุบันต่างจากปี 2540 โจทย์ของผู้ประกอบการ คือ Demand shottage รายได้ผู้บริโภคลด ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ภาคการส่งออก ใครที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบ รายได้ลดหรือถูกเลิกจ้าง กำลังซื้อจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลบวกคือ ธุรกิจอาหาร อาหารส่งออก แต่เนื่องจากธุรกิจส่งออกอาหารมีสัดส่วนแค่ประมาณ 20% ของการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น จึงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก มีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่จะยังเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้หลังจากนี้

ในปัจจุบัน ซัปพลายมีมากแต่ดีมานด์หาย แต่ผู้ประกอบการแข็งแกร่ง สถาบันการเงินแข็งแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินสำรองมาก ดังนั้น การออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี แม้จะเป็นการแจกเงินหรือแจกสิ่งของ แต่เป็นการทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและสำคัญ การออกซอฟต์โลน หรือการช่วยในเรื่องภาษีและมาตรการอื่นๆล้วนช่วยให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้

แนะผู้ประกอบการคอนโทรลแคชโฟลว์
การปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ดีในภาวะวิกฤตคือ การคอนโทรลแคชโฟลว์หรือบริหารกระแสเงินสดให้ดี ซึ่งการควบคุมแคชโฟลว์มีหัวใจหลักแค่ 2 อย่างคือ 1.การจำกัดเงินไหลออก เช่น การชะลอการเปิดโครงการ ชะลอการก่อสร้าง การแบ่งเฟสพัฒนา การเจรจาสถาบันการเงินเพื่อยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้ การจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย

2.การดึงเงินไหลเข้า การออกแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อของผู้ประกอบการในช่วงนี้ถือเป็นการดึงเงินไหลเข้าอีกอย่าง เช่น การลดราคา 20-50% การผ่อน 0% หรือผ่อนให้ 1-2 ปี อยู่ฟรี 1-2 ปีเป็นต้น แคมเปญต่างๆ ดังกล่าวล้วนเป็นการสร้างกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ เพราะไม่ว่าจะเป็นแคมเปญอยู่ฟรี หรือผ่อนให้ แม้ว่าลูกค้าจะเริ่มผ่อนตอนนี้หรืออีก 12-24 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการล้วนได้รับเงินจากสถาบันการเงินมาแล้วเต็มจำนวน ซึ่งผู้ประกอบการอาจเสียดอกเบี้ยแทนลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยถูก การกระตุ้นในขณะนี้เป็นการกระตุ้นคนที่มีกำลังซื้อ

“การบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤตปี 2563 ไม่ใช่เรื่องของการบริหารกำไรขาดทุนแล้ว แต่เป็นการบริหารเงิน บริหารแคชโฟว์ การบริหารให้เงินไหลเข้ามากที่สุด ให้เงินไหลออกน้อยที่สุด ซึ่งทุกคนต้องทำ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม ที่กระจายการลงทุนไปในเซกเมนต์อื่นๆ บ้านเดี่ยว ธุรกิจให้เช่า เพื่อบริหารความเสี่ยง” นายอิสระ กล่าว


สถานการณ์ตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปี ผลการดำเนินงานที่ออกมาผู้ประกอบการยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากในช่วงมกราคม-กลางเดือนมีนาคม แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสในจีนแต่ยังไม่กระจายออกมานอกประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างยอดขายได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแบ็กล็อกอีกจำนวนหนึ่งที่เร่งโอนให้ทันมาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” ที่หมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม และเชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนไตรมาส 3 หรือ 4 ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะคลายล็อกในบางธุรกิจให้เปิดกิจการได้ แต่เมื่อตัดความเชื่อมโยงของธุรกิจท่องเที่ยว การเดินทาง ทัวร์ จะเกิดอะไรขึ้นซึ่งอยากที่จะคาดเดาแต่
วิกฤตลากยาวถึงปี 64


“วิกฤตต้มยำกุ้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือสถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินกู้สูง แต่ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อ เมื่อมีการลอยตัวค่าเงินบาทก็ทำให้กำลังกลับมาเร็ว แต่ในวิกฤตในครั้งนี้แตกต่างกันกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นแหล่งรายได้หลัก เกิดภาวะ Demand shottage แม้ว่าการแพร่ระบาดจะหยุดลงแต่กำลังซื้อจะยังไม่ฟื้นตัวในทันทีซึ่งคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงปลายปี 2564 ตลาดบ้านแนวราบจะยังคงเป็นตลาดเพื่อการซื้อเพื่อต้องการที่อยู่อาศัยจริง ส่วนตลาดอาคารชุดจะไม่เหมือนเดิม โดยจะต้องกลับไปสู่ฐานเดิมคือที่ระดับ 30,000-40,000 หน่วย/ต่อปี” นายอิสระ กล่าว

ปริญญา เธียรวร
VMPC ประเมินวิกฤตโควิดรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง
นายปริญญา เธียรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท วี. เอ็ม. พี. ซี. จำกัด (VMPC) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์ COVID-19 กับวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ปี 2540 หรือเรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่าวิกฤต COVID-19 หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เนื่องจากรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่และทันท่วงที ด้วยการใช้วิธีการเพิ่มกระแสเงินสด (Cash flow) ให้เกิดการหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถาบันการเงิน เช่น พักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจต่อไปได้

“โดยส่วนตัวมองว่าวิกฤต COVID-19 หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ปัญหาสามารถบริหารจัดการในประเทศได้ ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งเป็นการกู้เงินสกุลตราต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทไทยจากเดิมที่ตรึงไว้ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนตัวสูงสุดประมาณ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าความมั่งคั่งของประเทศหายไปชัดเจน เหมือนโดนต่างชาติปล้น ซึ่งวิกฤตรอบนี้อยู่ในระดับที่เรียกว่า ‘หนักกว่า แต่ไม่นาน’ คือโดนหมัดเดียว ถ้าไม่น็อกลุกขึ้นมาก็ยังเดินต่อไปได้ โดยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและวินัยทางการเงินของแต่ละบริษัท แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ ‘หนักและนาน’ ลากยาว 8-9 ปี เหมือนโดนหมัดชุดชกจนน็อก” นายปริญญา กล่าว

“ส่งออกอาหาร-สินค้าเกษตร”พระเอกกู้วิกฤต
นายปริญญา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการท่องเที่ยวเดินเครื่องเต็มกำลังมาหลายปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลัง แต่เมื่อการท่องเที่ยวต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลให้แก่นักท่องเที่ยว ดังนั้น การส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ โดยได้รับอานิสงส์จากความวิตกกังวลทำให้คนกักตุนอาหาร การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารได้รับประโยชน์ และถือเป็นยุคทองของการส่งออกอาหารและการเกษตร ส่วนปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงนั้น รัฐบาลต้องหาทางบริหารจัดการให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และผลผลิตมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ถ้าผลผลิตเหลือจึงส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

สำหรับการท่องเที่ยวยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยธุรกิจโรงแรมต้องสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของผู้เข้าพัก ซึ่งคาดว่าภาพของการคัดกรองและป้องกันจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้าอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจสอบประวัติการเดินทาง การระบุข้อมูลการเช็กอินในสถานที่ต่างๆ รวมถึงการบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่างๆ ของโรงแรม และสถานบริการ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะต่อเนื่องยาวนานต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งนี้ โดยรัฐบาลจะต้องมีนโยบายระดับประเทศเพื่อฟื้นฟูและสร้างความมั่นใจในภาพรวมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย

แนะรัฐสร้างความเชื่อมั่นคุม COVID-19
นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ปิดประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ส่วนประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือโรงแรม ซึ่งหลังจากวิกฤต COVID-19 คาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมอาจจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมและจัดการกับ COVID-19 ได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว โดยอาจเริ่มจากนักท่องเที่ยวในประเทศ และตามด้วยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจากผลสำรวจความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของชาวจีนในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 พบว่า หลังจากจบวิกฤต COVID-19 ชาวจีน 71% วางแผนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 1

“รัฐบาลต้องสร้างเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ได้จริง ต้องมียาที่ใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรค หากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้นักท่องเที่ยวกล้าเดินทาง แล้วเศรษฐกิจจะก้าวต่อไปได้ และที่สำคัญคือ ต้องไม่ปิดบังข้อมูล สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าประเทศไทยเอาอยู่จริงๆ” นายปริญญา กล่าว

“อสังหาฯ” ซึมยาวข้ามปี
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังอยู่ในภาวะขาลงหรือซบเซาต่อเนื่องไปถึงปี 2564 จากเดิมที่มีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือนสูง การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และล่าสุด วิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค การชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แย่ลงอีก และเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จะได้เห็นการปรับลดราคาอสังหาริมทรัพย์ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สงครามราคาจะเกิดขึ้น แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อนำเงินสดมาหมุนเวียนใช้ภายในบริษัท ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น ต้องใช้นโยบายพิเศษ เช่น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านและที่ดิน จากปัจจุบันที่กำหนดเงื่อนไข เช่น ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ หลังวิกฤต COVID-19 อาจส่งผลให้รูปแบบอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนแปลง จากการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานเป็น Work From Home หรือทำงานที่บ้าน ซึ่งจะทำให้ความต้องการคอนโดมิเนียมห้องขนาดเล็กในเมืองลดลง แต่คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างใจกลางเมืองเพิ่มขึ้น รวมถึงบ้านเดี่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะการทำงานที่บ้านจะเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ในวิถีชีวิตของคนทำงาน โดยอาจจะเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พนักงานไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะประจำ ขนาดของออฟฟิศเล็กลง ซึ่งจากดีมานด์ที่ลดลงอาจทำให้ธุรกิจสำนักงานให้เช่าต้องปรับตัว ขณะที่บริการพื้นที่ทำงานในรูปแบบ Co–Working Space ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้

แนะสร้างวินัยทางการเงิน-สำรองใช้ยามฉุกเฉิน
COVID-19 เป็นวิกฤตจากโรคระบาด ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโดยตรง แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็วมาก มีการปิดประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น การสร้างวินัยทางการเงินถือเป็นเรื่องจำเป็น การเตรียมเงินสำรองไว้หล่อเลี้ยงธุรกิจ มีก๊อก 2 ก๊อก 3 ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจะสร้างความได้เปรียบและสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่หากไม่มีเงินหมุนเวียนอาจจะต้องปิดหรือขายกิจการ รวมไปถึงการบริหารธุรกิจที่สามารถปรับเปลี่ยนบริการให้สอดคล้องต่อสภาวการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจอสังหาฯ ประเภทที่พักและโรงแรมที่สามารถรองรับผู้เข้าพักได้ทั้ง Long stay และ Short time เป็นต้น

“สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนและส่งผลกระทบเร็วมาก แต่บล็อกเศรษฐกิจทั่วโลกเลย และต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ กว่าจะฟื้นเต็มที่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้อง Conservative พอสมควรต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบด้านการลงทุน เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น เราจะพร้อมที่จะรับมือและไปต่อได้ ในภาวะเช่นนี้เชื่อว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำอย่างไรให้เราบาดเจ็บน้อยที่สุด และยังสามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้จนสามารถไปสู่ภาวะปกติ” นายปริญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น