ในภาวะเช่นนี้ ธุรกิจที่ยังดำเนินงาน และขยายตัวได้ดีคือธุรกิจอาหารสำเร็จรูป หรือ ธุรกิจอาหารแบบดีลิเวอรีแบบจัดส่งถึงบ้าน ส่วนธุรกิจอื่นๆ นั้น ไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะแม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่การซื้อบ้านนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษา การเลือกสรรก่อนพิจารณาและตัดสินใจซื้อ ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงกำลังซื้อและความสามารถในการผ่อนในอนาคตด้วย ที่สำคัญคือ แม้ผู้ซื้อจะมีความพร้อมแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การซื้อที่อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน
จากภาวะปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในแทบทุกด้าน ทำให้ในไตรมาส 1ของปีนี้ยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัวลงมากกว่า 60% ส่วนในด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีจำนวน 77,500 หน่วย ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 ซึ่งมีจำนวน 86,855 หน่วย ขณะที่มูลค่าการโอนอยู่ที่ 180,000 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 62 ซึ่งมีมูลค่า 197,648 ล้านบาท แม้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ จะมีการจัดแคมเปญมอบส่วนลดราคาและลดราคาขายที่อยู่อาศัยโดยตรงกว่า 30% แต่ยังไม่สามรถกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศนานกว่า 1 เดือน ซึ่งทำให้สถานการณ์ของธุรกิจต่างแย่ลง แต่ล่าสุดมีสัญญาณจากรัฐบาลออกมาว่าจะมีการทยอยปลดล็อกดาวน์นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยการปลดล็อกดาวน์นั้นจะทยอยปลดล็อกเป็นเฟสๆ ไป จากสัญญาณที่ออกมาทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาฯ ที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเรียกได้ว่าชัตดาวน์ตลาดกันเลยทีเดียว
SENA คาด ศก.ไทยฟื้นตัวเร็ว ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) "SENA" กล่าวว่าการยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนและเตรียมพิจารณาคลายล็อกดาวน์ธุรกิจภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากกว่าจะคลายล็อกดาวน์จนหมด แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น รัฐต้องค่อยทำ ดีกว่าปลดล็อกทั้งหมด เพราะถ้าเกิดการระบาดอีกรอบ สิ่งที่ทำมาจะไม่เกิดประโยชน์เลย
"เราต้องให้ความสำคัญต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือ จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่การคลายล็อกดาวน์ธุรกิจก็จะช่วยให้คนมีงานทำอีกครั้ง มีรายได้กลับมา ซึ่งยอมรับว่า ตอนนี้คนเดือดร้อนกันเยอะ ซึ่งในเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าไปดูเรื่องระบบการเงิน ตราสารหนี้ต่างๆ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้แบงก์ เกิดปัญหา และลุกลามใหญ่โตเกินไป เพราะเราคงจำกันได้ วิกฤตต้มยำกุ้ง แบงก์มีปัญหา ทำให้ทุกอย่างแย่หมด ซึ่งคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะใช้เวลา 2 ปี ต่างจากต้มยำกุ้ง ใช้เวลา 5 ปีในการที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอีกครั้ง" ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ด้าน นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ออลล์อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงของการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 1เดือนที่ผ่านมา ยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่มีการล็อกดาวน์ส่งผลให้ผู้บริโภคที่กักตัวอยู่แต่ในบ้าน และเกิดความเครียดเพราะไม่สามารถออกไปในสถานที่ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือ แม้แต่การเข้าชมห้องตัวอย่างห้องชุดหรือบ้านแนวราบในโครงการที่อยู่อาศัย ทำให้ยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัวลง แต่เมื่อผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการปรับตัวทำตลาดผ่านระบบออนไลน์ก็ส่งผลให้มีการตัดสินใจซื้อและโอนที่อยู่อาศัยกลับมาบางส่วน รวมถึงการเข้าชมห้องชุดและที่อยู่อาศัยผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตัดสินใจซื้อกลับมาบางส่วน แต่สถานการณ์โดยรวมถือว่ายังซบเซาอยู่
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์นั้น สถานการณ์การซื้อขายที่อยู่อาศัยค่อนข้างมีคุณภาพมากกว่าในช่วงสถานการณ์ปกติ เสมือนว่ามีการคัดกรองกลุ่มผู้ซื้อมาก่อนหน้า เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่ตัดสินใจจองซื้อและรับโอนห้องชุดและบ้านแนวราบนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริง มีการเตรียมความพร้อมทางด้านสินเชื่อ และศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้าเกือบ 100% ที่ตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ผ่านการอนุมัติสินเชื่อเกือบทั้งหมด ต่างจากในช่วงปกติที่มีจำนวนการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง
สำหรับสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ารัฐดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเกิดจากการล็อกดาวน์ หรือยอมเจ็บเพื่อจบแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตัวเลขการติดเชื้อของประชาชนที่ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือตัวเลขหลักเดียวต่อวัน การใส่ใจดูสุขภาพ การมีระเบียบวินัย และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมของคนในชาติทำให้ประเทศไทยในสายตาของต่างชาติค่อนข้างดี ซึ่งจากการเก็บข้อมูลลูกค้าต่างชาติ พบว่า มุมมองของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต่างชาติในประเทศไทย และนักลงทุนอสังหาฯ ต่างชาติ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไทยมากกว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
จากการสัมผัสพูดคุยกับลูกค้า ทิศทาง มุมมอง และความเชื่อมั่นของลูกค้าต่างชาติต่อตลาดอสังหาฯ ไทย ทำให้เชื่อว่าหลังผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเพิ่มเป็น 2เท่า นอกเหนือจากการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่สอง โดยมีปัจจัยมาจากระบบสุขอนามัยภายในประเทศ ประกอบกับประเทศไทยที่ยังเป็นฮับหรือศูนย์กลางด้านการแพทย์ การรักษา การพักฟื้น และการบำบัดสุขภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในอาเซียน จะส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเดินทางมาพักอาศัยและท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นเซฟโซนในภาวะวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเซฟโซนจากการก่อการร้าย เซฟโซนจากภาวะวิกฤตการเมือง เซฟโซนจากภาวะวิกฤตการณ์ในการเกิดโรคระบาด
นายธนากร กล่าวว่า สำหรับการผ่อนปรน หรือปลดล็อกดาวน์บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะทำให้ผู้บริโภคคลายความเครียดลงไป และส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยด้วย ทั้งนี้ หากมีการเปิดน่านฟ้าให้สายการบินต่างๆ สามารถให้บริการภายในประเทศได้ก็จะดียิ่งขึ้น เพราะระบบการขนส่งและการเดินทางต่างๆ จะเริ่มกลับมาซึ่งจะดีต่อธุรกิจโดยรวม แต่หากสามารถเปิดการบินระหว่างประเทศได้ก็จะยิ่งดีมาก เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการเปิดออฟฟิศในต่างประเทศจำนวนมาก ประกอบกับในหลายบริษัทก็มีการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทต่างชาติ ทำให้ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาการติดต่อประสานงานทางธุรกิจหยุดชะงักไป อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปิดให้บริการสายการบินระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางระบบดูแลควบคุม และตรวจสอบผู้เดินทางต้องมีประสิทธิภาพและเข้มงวด ขณะเดียวกัน ระบบการควบคุมดูแลสนามบินก็ต้องมีมาตรการและประสิทธิภาพสูงตามมาด้วย เพราะหากมีการแพร่ระบาดจากการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
“ในทางกลับกันหากรัฐปลดล็อกดาวน์ทั้งหมดแล้ว ทำให้เกิดภาวะการแพร่ระบาดกลับมามากขึ้นอีกก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าเดิม ดังนั้น การที่รัฐทยอยปลดล็อกดาวน์เป็นเฟสๆ ถือว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม เพราะต้องยอมรับว่าเชื้อโควิด-19 ยังไม่หมดไป แต่จะยังอยู่กับเราไปอีกนานจนกว่าจะมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ออกมาใช้ ดังนั้น การควบคุมจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งหากรัฐสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ดี เช่น มีจำนวนผู้ติดเชื่อคงที่ ไม่มีจำนวนการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด แบบอิตาลี หรือสหรัฐอเมริกา จำนวนสถานพยาบาลในประเทศก็สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้เพียงพอสถานการณ์ก็จะดีขึ้นและไม่น่ากังวล”
นายธนากร กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญหลังจากการปลดล็อกคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดว่ารัฐจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ดังนั้น รัฐอาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเข้ามาอัดฉีดเข้าสู่ระบบซึ่งหากจัดการได้ดีก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือขยายตัวไปได้ แต่หากบริหารจัดการไม่ดีอาจจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งนี้ หากมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ภาคธุรกิจอสังหาฯ ควรเป็นภาคธุรกิจต้นๆ ที่รัฐบาลควรพิจารณาในการผลักดัน เพราะธุรกิจอสังหาฯ เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานในภาคธุรกิจอื่นๆ จำนวนมาก ดังนั้นธุรกิจอสังหาฯ จึงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขยายตัวในภาคอสังหาฯ ได้ดีขึ้น มาตรการบางตัวที่เป็นอุปสรรครัฐควรพิจารณาให้ยกเลิกไป เช่น มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ LTV ซึ่งที่ผ่านมา มาตรการ LTV แม้จะช่วยสกัดกั้นกลุ่มเก็งกำไร หรือสินเชื่อเงินทอนอสังหาฯ ได้ดี แต่ก็ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเองในตลาดแมส ส่วนหน้าที่ในการกำกับดูแล หรือพิจาณราความสามารถและกำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นควรให้สถาบันการเงินรับผิดชอบคัดกรองกันเองจะดีกว่าการใช้มาตรการในการควบคุม ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดทั้งหมด
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า การปลดล็อกดาวน์จะช่วยให้บรรยากาศในตลาดอสังหาฯ ผ่อนคลาย และอารมณ์ในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคก็จะดีขึ้นด้วย ที่ผ่านมา คนไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพทำมาหากินได้จึงค่อนข้างเครียด ประกอบกับกังวลในรายได้ในอนาคตทำให้มีผลต่อกำลังและการตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ความกังวลของผู้บริโภคก็ลดลงทำให้บรรยากาศในการซื้อขายดีขึ้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอสังหาฯ ก็น่าจะดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ส่วนในตลาดที่อยู่อาศัยอาจจะไม่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยังรอได้ เบื้องต้น เชื่อว่ายอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการจะเริ่มกลับมาเป็นอันดับแรกส่วนการตัดสินใจซื้ออาจจะยืดออกไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในการปลดล็อกดาวน์นั้น ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการ คือ ทยอยปลดล็อกเป็นเฟสๆ ไป เพราะหากมีการปลดล็อกดาวน์ทั้งหมดในครั้งเดียวหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และมีการกลับมาระบาดของเชื้อมากขึ้นอีกครั้งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และผลที่ตามมาจะรุนแรงมากกว่าในช่วงแรกที่เกิดการระบาดขึ้น
นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการโอนที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2/63 หลังการปลดล็อกดาวน์นั้น คาดว่าจะยังไม่ดีเท่ากับยอดโอนในช่วงไตรมาสแรก เพราะในไตรมาส 1/63นั้น ในช่วงต้นปีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่รุนแรง ในเดือน ม.ค.-ก.พ. แต่ในเดือน มี.ค. แม้จะเป็นช่วงที่เริ่มประกาศล็อกดาวน์แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่จะสิ้นสุดมาตรการบ้านดีมีดาวน์ทำให้มีการแห่ไปโอนบ้านจำนวนมากส่งผลให้ยอดโอนในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวได้ดี แต่ในช่วงไตรมาส 2/63 นี้ แม้ว่าบรรยากาศจะเริ่มกลับมาดีแต่ช่วงเดือน เม.ย. เป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ กิจกรรมมการโอนต่างๆ จึงน้อยและเมื่อนับรวมช่วงเดือน พ.ค.ที่เหลือแม้บรรยากาศจะดีขึ้นบ้างแต่การโอนคาดว่าจะทยอยกลับมาจึงทำให้ในไตรมาส 2นี้ยอดโอนไม่น่าจะดีเท่ากับไตรมาสแรก
นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปลดล็อกดาวน์ จะช่วยให้บรรยากาศโดยรวม และการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาดีขึ้น และการเกิดวิกฤตครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคปรับตัวและมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย ขณะเดียวกัน ความเครียดของผู้บริโภคจะเริ่มลดลง การกลับมาทำงานได้สามารถกลับมาทำมาหากินได้ตามปกติ จะส่งผลดีต่อรายได้ของผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่า การปลดล็อกดาวน์มีผลดีด้านจิตวิทยา ช่วยคลายกังวล ทำให้บรรยากาศในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยดีขึ้น
ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น กลุ่มคนที่ลังเล ยังไม่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนหน้าที่เกิดวิกฤต ก็จะยังชะลอการซื้อออกไป โดยคาดว่าจะกลับมาเริ่มตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อย่างชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. สำหรับแนวทางในการปลดล็อกดาวน์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะการทยอยปลดล็อกดาวน์จะทำให้ ประชาชนปรับตัวได้ดี แม้จะมีการระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการเพิ่มขึ้นมีอยู่ไม่มาก จึงไม่น่ากังวลเท่ากับการเปิดล็อกดาวน์ทั้งหมดในครั้งเดียว การทยอยปลดล็อกดาวน์ ยังทำให้รัฐบาลสามารถปรับมาตรการดูแลไปด้วย โดยสามารถนำบทเรียนจากการปลดล็อกดาวน์ในประเทศที่ ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในเมืองไทย
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าในช่วงแรกของการปลดล็อกดาวน์ไม่ควรคำนึงถึง ยอดขายหรือการขยายตัวทางธุรกิจมากนัก แต่ควรให้ความสำคัญในการดูแลและประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นในช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน เพราะต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันการระบาดของเชื้อโควิด-19 จะยังไม่หมดไป แต่จะยังอยู่กับเราจนกว่าจะมีวัคซีนที่ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ออกมาใช้จริง ดังนั้น เป้าหมายแรกจากนี้ควรจะเป็นการประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปก่อน
ด้าน นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานบริษัท ปทุมดีไซน คอปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังสัญาณการปลดล็อกดาวน์ ประกอบกับแนวโน้มจำนวนการติดเชื้อของ ประชาชนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีแผนจะปลูกสร้างบ้านคลายความกังวลและความเครียดลง ประชาชนเริ่มเดินทางออกไปในสถานที่ต่างๆ และเริ่มทำงาน ติดต่อกับหน่วยงานภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีลูกค้าจำนวนมากติดต่อสอบถามรายละเอียดข้อมูล และแคมเปญการสร้างบ้าน มาที่ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงปกติ ซึ่งโดยมากกลุ่มลูกค้าที่สอบถามเข้ามายังไม่มีแผนจะปลูกสร้างบ้านในขณะนี้ แต่มีแผนจะปลูกสร้างบ้านในช่วงปลายปีหรือต้นปี 63 นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในสัปดาห์นี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนของลูกค้าที่มีแผนจะสร้างบ้าน ว่าจะมีการตัดสินใจซื้อ หรือสร้างบ้านเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร
"บรรยากาศและอารมณ์ของการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเริ่มดีขึ้น ถือว่าตลาดในช่วงนี้มีทิศทางที่ดีสำหรับตลาดรับสร้างบ้าน สัญญาณการปลดล็อกดาวน์น่าจะหนุนตลาดให้เป็นบวกมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม การประกาศล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ บริษัทพบว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในกลางเมือง ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งจากการเก็บข้อมูลลูกค้า โดยการสนทนาของทีมวิจัยพบว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองต้องการปลูกสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยในพื้นที่นอกเมืองมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ กลุ่มพนักงานบริษัท เริ่มรับรู้และเข้าใจว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องทำที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำงานนอกสถานที่ หรือทำงานที่บ้านได้ เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มและระบบดิจิทัลสามารถช่วยการทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ทางเลือกในการทำงานที่บ้านเปิดกว้างขึ้น