xs
xsm
sm
md
lg

ชูโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.สุวิทย์” ชี้โลกเปลี่ยน คนปรับสู่การใช้ชีวิตหลังวิกฤตโควิด-19 ชูโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ ใต้ อีสาน กลาง ตะวันออก

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม วุฒิสภา และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาโควิด-19 ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ณ ห้องประชุม 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย)

ดร.สุวิทย์ นำเสนอแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาโควิด-19 และภายหลังจากที่สถานการณ์ดังกล่าวหมดไปทั้ง 5 เรื่อง ได้แก่ 7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก, 7 ตราบาป หลังโควิด, 7 ขยับปรับ เปลี่ยนโลก, เหลียวหลัง แลหน้า ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน, ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ในโลกหลังโควิด

7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก (Systemic Divides)
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตซ้ำซาก ทำให้โลกกำลังเรียกหากระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ จาก “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย” (Modernism) สู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) ซึ่งประชาชนคนไทยยังคงยึดหลักคิดที่ว่า “ตัวกูของกู” จนนำไปสู่ 7 รอยปริในระบบ

สำหรับ 7 รอยปริในระบบ มีดังนี้ 1. ความไร้สมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม ความยั่งยืนของธรรมชาติ และภูมิปัญญา ของมนุษย์ 2. เศรษฐกิจการเงิน ที่ครอบงำเศรษฐกิจที่แท้จริง 3. ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์ กับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในโลกใบนี้ 4. ผู้ครอบครองทรัพยากร กับ ผู้ต้องการใช้ทรัพยากร ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน 5. ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สินทรัพย์ และ โอกาส ระหว่าง “คนมีและคนได้” กับ “คนไร้และคนด้อย” 6. ดาบสองคมของเทคโนโลยีในการตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ และ 7. ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง รัฐ, เอกชน กับ ประชาสังคม

“7 รอยปริในระบบนี่เองที่ก่อให้เกิดโลกที่ไร้สมดุล นำไปสู่โลกแห่งความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤตซ้ำซากดังที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน” ดร.สุวิทย์กล่าว

7 ตราบาป หลังโควิด (Deadly Sins) มีดังนี้
1. ไม่มีสันติภาพในโลกอย่างถาวร หากผู้คนยังไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ไม่มีทุนนิยมที่ยั่งยืน หากไม่มีการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม 3. ความร่ำรวยทางวัตถุจะไร้ประโยชน์ หากปราศจากซึ่งความรุ่มรวยทางจิตใจ 4. งานทที่ทำจะไร้ประโยชน์ หากขาดซึ่งนัยแห่งความหมาย 5. มีผลประกอบการที่ดีก็ไร้ค่า หากไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้ 6. จะเพรียกหาเจตจำนงร่วมจากที่ใด หากไม่คิดเปิดพื้นที่ให้ร่วมอย่างจริงใจ 7. อย่าหวังการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หากปราศจากการเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ

7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก (Major Shifts)

“หากมองวิกฤตเป็นโอกาส โควิด-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย โดยเปลี่ยน “โลกที่ไม่พึงประสงค์” เป็น “โลกที่พึงประสงค์” ทำให้ผู้คนต้องหันกลับมาทบทวนสมมติฐานในความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จากตัวกูของกู กลายเป็นการผนึกกำลังร่วม ไปจนถึงการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้เกิดคุณค่าอย่างสุดด้วยเช่นกัน” ดร.สุวิทย์กล่าว

ดร.สุวิทย์สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ได้แก่ 1.โมเดลร่วมรังสรรค์, 2.การผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ, 3.มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุล, 4.สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์, 5.ชีวิตที่รุ่มรวยความสุข, 6.เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 7.การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

เหลียวหลัง แลหน้า ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน
“ประเด็นท้าทายของประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจากนี้ไป คือ การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนรู้ โอกาส รายได้และทรัพย์สิน โรคระบาด เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ โซเชียลมีเดีย และสงครามไซเบอร์ โดยหลักคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด คือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก, การเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง, และหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.สุวิทย์กล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ในโลกหลังโควิด โดยระบุว่าการพัฒนาที่สมดุลตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คือ 1.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 2.ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม 3.ศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ และ 4.การรักษ์สิ่งแวดล้อม โลกจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาครั้งสำคัญจาก “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความ ทันสมัย” (Modernism) สู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน”

“สำหรับสัญญาประชาคมชุดใหม่ จะต้องเป็นสังคมที่เป็นธรรม, สังคมแห่งโอกาส, และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน โดยใช้โมเดลการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) คือ การใช้หลัก SEP ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการใช้กลไก STI ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย SDGs การพัฒนาที่ยั่งยืน”

สำหรับการนำ BCG มาใช้เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 6 มิติ ได้แก่ 1. ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม 2. เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3. ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 4. ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve 5. กระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจภูมิภาค 6. สานพลังมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ชุมชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่าย ต่างประเทศ

“มี 4 สาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ อาหารและการเกษตร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุและเคมี,ชีวภาพ, รวมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกันความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ ถือเป็นสิ่งที่ อว. พยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อให้ประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่มากที่สุด”

สำหรับการขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ซึ่ง อว.พยายามผลักดัน ได้แก่

- ล้านนา 4.0 : ยกระดับข้าวคุณค่าด้วยนวัตกรรม, ระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐานส่งออก, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม, นำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนา มาสร้างพื้นที่ สร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการ

- อีสาน 4.0 : โปรตีนทางเลือกจากแมลง, ระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก, ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อริมฝั่งโขง

- ภาคตะวันออก 4.0 : พัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มไม้ผล, การพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอนาคต, สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

- ภาคกลาง 4.0 : ประเทศไทยไร้ขยะ, นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย (Active Ageing), พัฒนาวัฒนธรรม ต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

- ด้ามขวาน 4.0 : นวัตกรรมด้านฮาลาล, ท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้, นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Precision Aquaculture), และนำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่ พัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์
เชิงพหุวัฒนธรรม






กำลังโหลดความคิดเห็น