"โสภณ องค์การณ์"
รัฐบาล 3 ลุงดิ้นรนเน้นสภาวะฉุกเฉินเร่งหาทางออกสำหรับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศที่ยังยืดเยื้อเรื้อรัง อยู่ในสภาพตายซากมาก่อนการระบาดของโคโรนาไวรัส นอกจากการหาเงินจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการกู้ ยังต้องการคำชี้แนะและความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย
จะว่าคณะ 3 ลุงกำลังตกอยู่ในสภาพมืด 8 ด้าน ก็คงไม่ถูกต้อง เพราะได้กุมอำนาจเต็มที่ช่วงภาวะฉุกเฉิน ทำอะไรก็ไม่มีเสียง สส. กลุ่มต่างๆ มากวนใจ เท่ากับหวนคืนสู่บรรยากาศของอำนาจจากการรัฐประหาร ชาวบ้านจะต้องอยู่แบบนี้อีกเป็นเดือนๆ
เมื่อยังไม่หายขาดในการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 ก็ต้องอยู่อย่างนี้ ถ้าจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงจนควบคุมได้ คณะ 3 ลุงจะผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจมีโอกาสได้คืนสู่กิจกรรม หลังจากเกือบสงบนิ่งมานาน
คนตกงาน ขาดรายได้ อยู่ในสภาพลำบากแร้นแค้น อดอยาก ไม่มีเงินออม เพราะเศรษฐกิจตายซากจากผลของความซบเซาและการจัดระเบียบสังคม ทำให้คนระดับรากหญ้าป่าคอนกรีตและภูธรเผชิญกับความฝืดเคือง หนี้สินพอกพูน หมดทางทำมาหากิน
คณะ 3 ลุงมีทีมเศรษฐกิจ แต่ดูแล้วคงทำอะไรไม่ได้มาก เมื่อปล่อยให้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ปลาใหญ่กินปลาเล็ก กินรวบ กินเรียบ รายย่อยไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก เหมือนเวรกรรมทวงความยุติธรรม การเน้นโครงการขนาดใหญ่ทำให้ฐานรากเดี้ยงสนิท
เมื่อไร้ทางออก ก็ต้องหาที่พึ่ง ความช่วยเหลือทุกด้าน เป็นการระดมสมองสติปัญญา หาทางออกให้ประเทศ เสนาบดีไร้บทบาทเมื่อ 3 ลุงมองแล้วว่าต้องพึ่งคนอื่น
ที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยก็คือการร่อนจดหมายถึง 20 มหาเศรษฐีของประเทศเพื่อสอบถามว่าจะสามารถช่วยเหลือบ้านเมืองได้อย่างไรท่ามกลางวิกฤตอย่างนี้ และออกตัวไว้ก่อนว่าจะไม่แบมือขอเงิน เพราะมีคนพูดดักทางไว้ด้วยข้อความเจ็บแสบสุดๆ
“#รัฐบาลขอทาน” แน่นอน ทำให้เครือข่ายโฆษกต้องรีบอธิบายว่าไม่เป็นเช่นนั้น ลุงจะไม่พบพวกมหาเศรษฐีด้วย เพียงแต่เขียนจดหมายไปขอคำแนะนำ ให้แต่ละรายเสนอทางออกมาให้ เอามาพิจารณา ว่าใครจะช่วยให้มากน้อยเพียงใด อะไรทำได้ ไม่ได้
ก็เอาเป็นว่าขอคำชี้แนะว่าบรรดาท่านเศรษฐีทั้งหลายจะมีความเห็นประการใดหลังจากได้สร้างเนื้อสร้างตัวจากการทำมาค้าขายและใช้ทรัพยากรแผ่นดิน ได้เป็นมหาเศรษฐีหลายหมื่น-แสนล้าน เป็นคนกลุ่มน้อยเพียง 1% ของประชาชนในประเทศ
ก็มีคำถามว่าถ้าจะขอความเห็น หรือความช่วยเหลือ ทำไมถึงจำกัดเพียงแค่มหาเศรษฐีของประเทศ คนทั่วไปที่ร่ำรวยน้อยกว่านั้น มีสติปัญญาความรู้ มีเจตนาดีและความตั้งใจช่วยเหลือบ้านเมืองอย่างแท้จริง ก็ยังมีเยอะ พวกนั้นไม่มีคุณค่าเพียงพอหรือ
ทั้งการขอคำแนะนำด้วยการให้บรรดามหาเศรษฐีเสนอแผนต่างๆ มาแทนการพบปะพูดคุยด้วยตัวเอง จะมีความหมายลึกซึ้งกระชับความสัมพันธ์แนบแน่นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่ามาจากสมองของมหาเศรษฐีโดยไม่ใช้ทีมงาน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
พวกนั้นเป็นมือปืนรับจ้าง รู้เรื่องเศรษฐกิจ เป็นพวกมือทำงานตัวจริง สร้างความมั่งคั่งให้กับท่านมหาเศรษฐี ขยายเครือข่ายครอบคลุมเศรษฐกิจได้แทบทุกภาค
คณะ 3 ลุงจะอ่านคำแนะนำเองหรือไม่ ใครจะกลั่นกรองข้อเสนอแนะของมหาเศรษฐีให้มั่นใจว่าจะไม่มีแผนแฝงเร้นเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารงานรัฐบาลให้เข้าทางหรือตามแผนของแต่ละเจ้าสัว ซึ่งมีทั้งพวกที่ได้รับประโยชน์เต็มที่ และพวกที่ไม่เคยได้รับ
คนที่ติดตามเหตุการณ์ บ้านเมืองก็รู้ว่ามีมหาเศรษฐีหรือเจ้าสัวเพียง 5-6 รายที่ใกล้ชิดอยู่วงใน มีผลประโยชน์เกี่ยงโยงแนบแน่นกับรัฐบาล ยิ่งกว่าปลิงเกาะดูดเลือด
นอกนั้นก็เป็นระดับมหาเศรษฐีมั่งคั่ง มีทั้งหน้าใหม่ แต่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ เพียงแต่ไม่แสดงตัว ออกหน้าออกตาเกินไปเมื่อผลประโยชน์ยังไม่เกี่ยวโยงทับซ้อนในโครงการขนาดใหญ่ เป็นไปในแบบทางใครทางมันในการทำมาหากิน
คนทั่วไปก็ถามแบบซื่อๆ ว่าคณะรัฐมนตรี ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างๆในองค์กรของรัฐสิ้นความรู้สติปัญญาหรืออย่างไร จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากมหาเศรษฐี แม้การปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจก็เป็นรูปแบบปฏิบัติทั่วไปในประเทศทุนนิยมเศรษฐกิจเสรี
หรือแม้แต่รัฐบาลที่มีการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็ปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจเช่นกันเพราะถือว่าเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพียงแต่จะรักษาระยะห่างอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่าผู้นำและผู้มีอำนาจถูกครอบงำและถูกบงการชี้นำโดยกลุ่มผลประโยชน์
ช่วงเวลานี้ชาวบ้านเริ่มได้เห็นคณะบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลประชุมวางแผนฟื้นฟูและจะใช้การฟื้นฟูภาคชนบทหรือฐานรากหญ้าเป็นทิศทางนำร่อง อ้างว่าจะเป็นการเสริมสร้างฐานรากของเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งก่อนจะเดินหน้าต่อไป**
ประชาชนอยากจะตอกหน้าคนบริหารจัดการเศรษฐกิจที่บ้าแต่ตัวเลขจีดีพี ให้เจ็บแสบ ว่าที่ประเทศไทยต้องมีเศรษฐกิจตายซากอยู่ในขณะนี้ก็เพราะกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นแต่การขยายตัวเลขจีดีพี โดยละเลยเพิกเฉยต่อเศรษฐกิจของคนระดับรากหญ้า
นโยบายจัดระเบียบสังคมให้บ้านเมืองดูน่าอยู่ในสายตาของชาวต่างประเทศทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยทำมาหากินในพื้นที่สาธารณะถูกเก็บกวาดล้างจนเกลี้ยง สิ้นหนทำมาหากิน แม้จะจัดสรรที่ใหม่ให้ค้าขายก็ไปไม่รอด สภาวะเศรษฐกิจเริ่มซบเซา ถดถอย
นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคมีรายได้ลดลง ขาดกำลังซื้อ ตัวเลขหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน การผิดนัดชำระหนี้เริ่มมีมากขึ้น สถาบันการเงินคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ
เมื่อพ่อค้าแม่ค้าขาดช่องทางทำมาหากินก็ไม่มีการซื้อวัตถุดิบมาผลิตขายต่อ ทำให้ระบบรวนเร ระส่ำระสาย การขับเคลื่อนหมดพลังแม้รัฐบาลจะใช้โครงการประชานิยมกระตุ้นหลายรอบ ทุ่มเงินงบประมาณไปหลายแสนล้านบาทก็ไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง
เงินที่ทุ่มลงไปส่วนหนึ่งถูกดูดซับ ในกระบวนการทุจริต เป็นการสูญเปล่าของเงิน ขณะเดียวกันรัฐบาลมุ่งเน้นแต่พัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก ป่าวร้องครึกโครมว่าโครงการอีอีซี จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
รัฐบาลยังฝันหวานว่าจะมีนักลงทุนในประเทศร่วมด้วย เพื่อการก้าวกระโดดของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากบางกลุ่มว่าจะไม่ได้ผลดี
แต่ก็มีข้อครหาว่าการบริหารเศรษฐกิจได้เน้นนโยบายเพื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อวยเจ้าสัว เพิกเฉยระดับรากหญ้า ไม่ใส่ใจนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรอินทรีถูกเพิกเฉย รัฐบาลห่วงหาอาทรพ่อค้าสารพิษเคมีเกษตร ไม่ใส่ใจสุขภาพของชาวบ้าน
การสร้างภาระหนี้ใหม่ 1.9 ล้านล้านบาท อาศัยสภาวะฉุกเฉินและโควิด-19 จะทำให้บ้านเมืองรอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือทรุดกว่าเดิมด้วยภาระหนี้สินมหาศาล
อีกไม่นานก็รู้ การระบาดจะยังมีอีกนาน อาจต้องกู้เงินหนี้บานกว่านี้อีกก็ได้!