"โสภณ องค์การณ์"
สถานการณ์วิกฤตโคโรนาไวรัสที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้และยังไม่มีใครทำนายได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ผู้เฝ้ามองแนวโน้มปัจจุบันต่างเชื่อว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของความทุกข์ยากของคนทั่วโลกที่จะต้องเผชิญอีกนาน มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น
สภาวะเลวร้ายเช่นนี้จะทุเลาบรรเทาได้ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนป้องกันและยารักษาได้ผลเท่านั้น แต่ผลกระทบยืดเยื้อจะเป็นอย่างนี้อีกในการดำรงชีวิตของคน รูปแบบสังคมในภาคธุรกิจและครอบครัว ความสัมพันธ์ของมนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยนไป
ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ต่างวิเคราะห์ว่าโคโรนาไวรัสหรือ หรือโควิด-19 จะปรับสภาพกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลมาๆ ไปๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกและโรคอื่นๆแม้จะมีวัคซีนแล้ว เพราะเชื้อโรคสามารถกลายพันธุ์และพัฒนาตัวเองเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะต้องรักษาระยะห่างรวมทั้งการป้องกัน เช่นสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลล้างมือ และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเมื่อเข้าไปในอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นการเฝ้าระวังป้องกันเบื้องต้นของทุกคน
เมื่อพบปะกันจะแสดงความรักใคร่ยินดีด้วยการจับมือถือแขนหรือโอบกอดกันเหมือนเดิมคงไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดนั้นเป็นพาหะแฝงเร้นหรือไม่ ยิ่งโควิด-19 มีอาการที่พาหะไม่แสดงชัด ตรวจเบื้องต้นไม่พบ จนเกือบสาย
ร้านอาหารคงจะมีขนาดเล็กกว่าเดิม นั่งเก้าอี้ห่างกัน สภาพของบาร์ ร้านเหล้า ค็อกเทลเล้านจ์ คาราโอเกะ หรือมีสาวนั่งดริ้งก์นัวเนียกันเหมือนก่อน คงจะ เป็นไปได้ยาก จะถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงสำหรับสุขภาพ ถ้าพลาดพลั้งถึงป่วยและตายได้
การทำมาหากินในสถานบันเทิงจะไม่สะดวก โกยเงินได้ง่ายเหมือนก่อน!
การเยี่ยมเยียนกันระหว่างคนรู้จักกัน เพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้อง งานสังคมงานเลี้ยง แต่งงานต่างๆ ต้องอยู่ในบรรยากาศของการตรวจ เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
นั่นคือรูปแบบของการดำรงชีวิตที่จะเป็น ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนให้อยู่รอด!
แต่ภาคเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับกันว่าขณะนี้อยู่ในสภาวะถดถอยลึก ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และอาจรุนแรงยืดเยื้อยาวนานกว่าในยุคปี 1930 เพราะขนาดเศรษฐกิจของโลก ประเทศต่างๆ ได้ขยายกว่าในยุคนั้นมาก
เท่าที่เห็นองค์กรต่างๆ ภาคธุรกิจเอกชนไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็เริ่มอยู่ในสถานะลำบาก มีรายงานกรณีกำไรลดลงอย่างมากมายในไตรมาสแรก ส่วนพวกที่สายป่านสั้น อยู่ไม่รอด ต้องปิดตัวเลิกจ้างแรงงานทั้งชั่วคราวและถาวร คนตกงานหลายล้าน
กิจการขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น สายการบิน บริษัทอุตสาหกรรม เริ่มร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล และคาดว่าจะต้องใช้เงินมหาศาลอัดฉีดเพื่อพยุงไม่ให้ล่มสลายทั้งระบบโดยเฉพาะสถาบันการเงินและกิจการฐานรากของประเทศ
ในประเทศอุตสาหกรรม จี-7 และ จี-20 อื่นๆ ก็ไม่ต่างกันนัก ขึ้นอยู่กับว่าวิกฤตที่เผชิญนั้นมีฐานของเศรษฐกิจแข็งแกร่งรองรับได้หรือไม่ และนานเพียงใด
ประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน และมีปัญหาที่รัฐบาลจะต้องไปหาเงินก้อนมหาศาลจากการกู้ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนรายได้น้อย และคนตกงาน บอกได้ว่าระดมมาได้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันเพียงพอ ทั้งมีข้อจำกัดอื่นๆ เช่นหาแหล่งเงินกู้ได้ไม่ง่าย
เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะซบเซาตายซากมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งปัญหาหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ภาคเอกชนกำลังจะเผชิญวิกฤตหนัก โดยเฉพาะบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ออกพันธบัตรและหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนจากประชาชนและกองทุนต่างๆ มีจำนวนถึง 1 ล้านล้านบาท เพียงแต่ว่าการครบกำหนดไถ่ถอนคืนเหลื่อมเวลากัน
ดูสภาพเศรษฐกิจที่จะต้องซบเซาหรือตกต่ำอย่างที่จะเป็นทั่วโลก ย่อมคาดหมายว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้มากถึงระดับแสนล้านบาทคงจะยากลำบากในการที่จะหาเงินมาจ่ายให้กับผู้ถือครองได้ง่าย เพราะผลประกอบการก็ถูกปิดชั่วคราว
ถ้าหุ้นกู้ถึงกำหนดต้องไถ่ถอนคืนพร้อมกันหลายแสนล้านบาท สภาพคล่องที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทกิจการใหญ่แค่ไหนก็คงไม่มีทางจัดหามาได้ทันเวลา
นั่นคือการผิดนัดชำระหนี้ให้ผู้ถือครองพันธบัตรหรือหุ้นกู้ จะส่งผลกระทบต่อกองทุนหรือหุ้นกู้ที่ยังเหลืออยู่ จะเสียความเชื่อมั่น คนตื่นตระหนกไปทั้งระบบ
สภาวะเศรษฐกิจที่ขาดสภาพคล่องซบเซาเรื้อรังอย่างนี้ ต่อให้มีกิจการขนาดใหญ่เพียงใดก็ยากที่จะชำระหนี้คืนได้ มีทางเลือกคือออกหุ้นกู้รุ่นใหม่แล้วนำเงินมาใช้คืนรุ่นเก่า แต่จะหาใครกล้าซื้อ เมื่อนักลงทุนสถาบันก็เผชิญกับวิกฤตไม่ต่างกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้น มีหนทางเดียวก็คือเป็นภาระของรัฐบาลต้องเข้ามาอุ้มเพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ ก็คือการล้มครืนทั้งระบบ จะเป็นการยากในการกอบกู้และต้องใช้เวลานานถ้าจะต้องฟื้นฟูให้อยู่รอดและเพื่อตั้งตัวให้คืนสู่สภาพเดิม
ประชาชนทั่วไปจะต้องรับภาระทั้งปัญหาของตนเอง และหนี้สินที่รัฐบาลจะต้องสร้างเพิ่ม เพื่ออุ้มกิจการที่ใกล้จะล้มละลายของเอกชน สภาพเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เพราะฐานรากเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้แข็งแกร่ง มีทั้งหนี้สินทุกระดับ
ถ้าอภิมหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวรายใหญ่ของประเทศ ระดับหลายแสนล้านบาท คุยฟุ้งความมั่งคั่งติดอันดับโลกยังลำบาก ต้องให้รัฐบาลอุ้ม คนทั่วไปจะไม่ถึงขั้นลำบากอดอยากยากแค้นแทบรากเลือดได้อย่างไร ทั้งที่คนทั่วไปไม่ได้ก่อหนี้ร่วม
ถึงเวลานั้น จะกล่าวหา เรียกร้องให้ใครรับผิดชอบคงไม่มี แข่งกันหนีหน้ากันหมด ประชาชนต้องรับเละไม่รู้จบสิ้น เหมือนทุกข์จากยุคลดค่าเงินบาทที่ลากยาวมาจนทุกวันนี้ กิจการใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้ ถ้ารัฐบาลไม่ลากประชาชนเข้าไปรับภาระอุ้ม!
ไม่จดจำบทเรียน เพราะไม่มีบทโทษอาญา ประชาชนจึงต้องรับเละตลอด!