"โสภณ องค์การณ์"
ไม่มีใครคาดได้ว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสชนิดใหม่จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และกี่คนต้องสังเวยชีวิตให้ จากสภาพที่เห็น จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยังเขยิบขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นความอหังการของมนุษย์ในการตั้งรับกับการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างประมาท
เห็นได้ว่าการระบาดเริ่มจากจีนก่อนและไปที่เกาหลีไต้ ก่อนจะเริ่มขยายไปประเทศอื่นๆ ในเอเชีย กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกามีเวลาตั้งรับเหลือเฟือ แต่คงเชื่อมั่นว่าโคโรนาไวรัสไม่ร้ายแรงเพียงพอ ทั้งๆ ที่หลายหน่วยงานได้ย้ำถึงระดับอันตราย
กว่าจะระบาดไปถึงทวีปละตินอเมริกาและแอฟริกา ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยังมีเวลา แต่เป็นเพราะเชื้อประเภทใหม่ ไม่เคยมีใครเผชิญมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญได้แต่บอกว่าอัตราการตายต่ำกว่าเชื้อโรคซารส์ เมอร์ส อีโบล่า รวมทั้งไข้หวัดนก ดูไม่น่าหนักใจ
กว่าจะเรียนรู้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีความซับซ้อน แปรเปลี่ยนการโจมตีมนุษย์อย่างไร และอันตรายถึงตายได้เฉียบพลันแค่ไหน คนก็ติดเชื้อเป็นหมื่นๆ รายและเสียชีวิตมากกว่าจำนวนเหยื่อของซารส์และเมอร์ส ไข้หวัดนกรวมกันด้วยซ้ำ
และวันนี้ ตัวเลขยังไม่ลดลงอย่างชัด เพียงแต่ขึ้นๆ ลงๆ สร้างภาพลวงตาให้มนุษย์ ซึ่งยังไม่มีความสามารถผลิตวัคซีนป้องกันและรักษาได้ เพียงแค่อยู่ในขั้นทดลองซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะเชื่อมันว่าได้ผล และต้องดูว่าเชื้อจะกลายพันธุ์ตลอดหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าวิเคราะห์เชื้อโรคตัวนี้เห็นความแตกต่างมาก สามารถโจมตีหลายจุดในร่างกาย ทั้งปอด ระบบทางเดินหายใจ ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
ที่แน่ชัดก็คือ โคโรนาไวรัสจะอยู่อีกนานแค่ไหน จากเวลากว่า 3 เดือนที่ระบาด ก็ทำให้สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างรวดเร็ว การขยายตัวติดลบ หลายประเทศได้ตั้งงบประมาณหลายล้านๆ เป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเผชิญวิกฤต แต่ดูเหมือนว่าจะไม่พอ
ช่วงการระบาดใน 3 เดือนแรก รัฐบาลยังไม่จัดงบสำหรับการจัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ แม้หน้ากากอนามัยก็ยังขาดแคลน ท่ามกลางความฉาวโฉ่ในประเด็นการทุจริต คอร์รัปชั่น จากหน้ากากอนามัย ก็ลามไปถึงไข่ และอาจมีสินค้าอื่นๆ อีก
การขาดแคลนทำให้แพทย์ต้องขอร้องให้ภาคประชาชนช่วยบริจาคหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์อื่นๆ และได้รับการตอบรับพอสมควร เพียงแต่ไม่มีคำอธิบายจากรัฐบาลว่าทำไมไม่จัดหาเวชภัณฑ์และของจำเป็นเพื่อให้แพทย์พร้อมรบกับเชื้อโรคร้าย
คำถามที่ยังไร้คำตอบก็คือ กว่าจะหยุดชะงัก ไม่มีการระบาด เศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในระดับตกต่ำเหมือนในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ ที่ทำให้คนตกงานทั่วโลก ความยากจนแร้นแค้นครอบงำคนทั้งโลก กว่าจะฟื้นตัวได้ต้องให้สงครามเป็นตัวกระตุ้น
ถ้ามองบ้านเรา สภาพจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เพราะผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้เพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า ไม่มีอากาศหนาว หรือร้อนรุนแรง จะลำบากยากแค้นอย่างไร คนไทยก็อยู่ได้ ไม่อดอยากคนตายเป็นเบือเหมือนบางประเทศในกาฬทวีป
ปัญหาคนว่างงาน คนไม่มีรายได้ เพราะการระบาด จะทำให้คนเป็นล้านๆ อยู่ในสภาพลำบาก ไม่มีช่องทางหารายได้เพราะการระบาดยังเป็นไปอย่างไม่ลดละ ต่อให้รัฐบาลมีเงินอัดฉีดแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนกินอิ่มนอนหลับเป็นปกติได้
ในประเทศอื่นๆ เริ่มมีให้เห็นการแย่งชิงอาหารและสิ่งของจำเป็น ความอดอยากยากแค้นไม่ทำให้คนยอมอดตาย อาชญากรรมคือทางเลือกสุดท้าย และที่ผ่านมาได้เห็นแนวโน้มแล้วว่าผลกระทบจะรุนแรงเกินกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงอื่นๆ หลายเท่า
เราผ่านทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและผลกระทบอื่นๆ จากต่างประเทศ แม้จะสาหัสมาก
แต่ปีนี้จะเปลี่ยนไป เพราะเรามีปัญหาภัยแล้งรุนแรง น้ำในเขื่อนหลักแทบไม่เหลือ เว้นแต่ในภาคกลางบางแห่งและภาคไต้ ส่วนภาคเหนือและอีสานมีเพียงน้ำพอใช้ได้อีกไม่นาน ถ้าฝนยังทิ้งระยะ ภัยแล้งยังต่อเนื่อง การระบาดยังไม่สิ้นสุด นั่นจะซ้ำเติมวิกฤต
หลายประเทศคาดว่าสภาวะเช่นนี้จะยืดเยื้ออีกอย่างน้อย 3 เดือน เพียงแค่นี้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจก็ถูกท้าทายโดยไวรัสตัวนี้ คนว่างงานขอรับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการมากถึง 6.6 ล้านคน และตัวเลขยังขยับขึ้นต่อเนื่อง
องค์กรขนาดใหญ่ มั่นคงเพียงใด ก็ไม่สามารถรอดจากผลกระทบ ธุรกรรมต่างๆในโลกแทบหยุดนิ่งสนิท สายการบินหยุด ทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางไม่มีความเคลื่อนไหว โรงแรมทั่วโลกแทบปิดตาย พนักงานในภาคนี้ถูกเลิกจ้าง พักงาน ขาดรายได้
ประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ความรุนแรงยังไม่ถึงจุดสุดขีด เสียงโอดครวญถึงความยากลำบาก ความเสี่ยงที่จะต้องขาดรายได้ ความอยู่รอดเพราะไม่มีเงินยังชีพ ภาคเกษตรจะไม่เป็นที่พึ่งพาได้เหมือนช่วงหลังการลดค่าเงินบาท เพราะมีปัจจัยแปรผัน
เดือนพฤษภาคมก็ย่างเข้าสู่ต้นฤดูฝน ยังไม่มีสัญญาณใดว่าภัยแล้งจะสิ้นสุด ฤดูฝนจะมาตามปกติหรือไม่ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ ถ้าเป็นอย่างที่ว่าไว้ก่อนหน้านี้คือน้ำฝนจะน้อย เป็นปรากฏการณ์ “เอลนิญโญ่” หมายความว่าจะมีฝนตกน้อยกว่าที่ควร
และหมายถึงปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจะมีน้อยกว่าปกติด้วย น้ำฝนและน้ำระบบชลประทานจะสามารถส่งน้ำให้เพียงพอต่อการทำนาหรือไม่ ถ้าทำได้ จะลดลงเท่าไหร่ มีข้าวเหลือเพียงพอสำหรับบริโภคหรือไม่ และในราคาเท่าไหร่สำหรับผู้บริโภค
ทุกประเทศต้องเผชิญปัญหาสังคม รุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละชาติ ไทยต้องพร้อมด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้คนมีอาหารเพียงพอในเมืองขนาดใหญ่ซึ่งมีคนรายได้ได้มาก รวมทั้งในชุมชนแออัด แต่นั่นต้องป้องกันการระบาดด้วย
รัฐบาลจะแสดงให้เห็นเจตนาดี ความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริตในการแก้วิกฤตครั้งนี้หรือไม่ ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับความไว้วางใจเต็มที่ และนี่คือวาระเพื่อการพิสูจน์ว่าภาคการเมืองจะใส่ใจกับความอยู่รอดของบ้านเมืองเมื่อเผชิญวิกฤตร้ายแรงหรือไม่
ถ้ายังทำอย่างที่เป็นมา มีปัญหาเรื่องการทุจริต วิกฤตจะเลวร้ายจนอาจคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในยามที่ระบบนิติรัฐ นิติธรรม การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ