ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่างที่รู้ๆ กันว่า หลายธุรกิจยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ท่องเที่ยวแทบตอกฝาโลง อสังหาริมทรัพย์ คอนโดฯ ขายลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ก็อยู่ในอาการสาหัส มิหนำซ้ำยังลามมาถึงกำลังซื้อในประเทศ ลูกค้าหดหายกันไปหมดเพราะไม่มีรายได้เข้ามา อาจจะมีค้าปลีกที่ได้สัญญาณดีพร้อมคลายล็อกให้เปิดบริการได้ พอใจชื้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องปรับสู่โหมด new mormal กันใหม่ จะรอดหรือไม่รอดก็ยังต้องลุ้น
ณ เวลานี้ ประชาชนคนไทยและชาวโลกต่างรู้ดีว่าเศรษฐกิจปรับเข้าสู่โหมดขาลงมาร่วมสองสามเดือนหลังจากไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหนักทั่วโลกแล้ว แรกๆ ก็ยังมีความหวังกันว่าวิกฤตนี้คงไม่ยาวนัก แต่เอาเข้าจริงถึงตอนนี้ต่างยังไม่รู้จุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน วัคซีนก็ยังไม่มา การแพร่ระบาดก็ยังไม่ซาลง การเยียวยาก็มีปัญหากันทั้งโลก ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่คนทั้งโลกต่างใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ข่าวร้าย” ที่ยังมีมาไม่ขาดสาย
สำหรับไทยแลนด์แดนสยามที่ยิ้มกันไม่ค่อยออกในตอนนี้ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยบอกกล่าวกับชาวไทยทุกคนว่า “....รัฐบาลได้หารือในที่ประชุม ครม. และให้คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้เข้าไปดูแลว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมได้หรือไม่ รัฐบาลคาดการณ์ผลกระทบเศรษฐกิจ อาจถึง 6 เดือน อาจถึง 9 เดือน ต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับในโอกาสต่อไป...”
เป็นคำบอกเล่าความเป็นจริงของนายกฯลุงตู่ พร้อมกับประเมินสถานการณ์ในภาพรวมช่วงที่ผ่านมีอะไรที่น่าพอใจและยังต้องปรับแก้ ที่แน่ๆ คือตำหนิการแห่ซื้อเหล้าไม่น่าพอใจ อย่าให้เห็นภาพแย่งซื้ออีกเพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ไม่เช่นนั้นจะปิดไม่ให้ขายอีก และอย่าตั้งวงดื่มกิน มั่วสุม ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ผู้โดยสารแออัด ต้องรู้จักวางแผนแก้ไขปัญหาให้เร็ว ฯลฯ จะเสี่ยงติดเชื้อกันรอบสองจะยุ่งกันไปใหญ่ การ์ดยังยกกันไหม อย่าเพิ่งให้ตก ฯลฯ
“จะต้องไม่การ์ดตก แม้การ์ดจะสูงหรือไม่สูงก็ตาม แต่การ์ดจะตกไม่ได้โดยเด็ดขาด” เสียงย้ำอีกครั้งจากนายกฯ ลุงตู่
ที่น่ายินดีหน่อยก็ตรงที่ว่าจะเปิดคลายล็อกให้ห้างสรรพสินค้า กลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ต้องมีมาตรการต่างๆ นาๆ รองรับ ไม่ใช่ให้แห่การเข้าไปเดินตากแอร์แน่นห้างกันเสียเมื่อไหร่ กำลังดูกันอยู่ว่าจะเปิดให้บริการจุดไหน จะให้เข้าได้กี่คน กี่ชั่วโมง กะคร่าวๆ ก็ว่าจะให้เดินช้อปกันได้ 2 ชั่วโมงต่อรอบ คนที่เหลือต้องรอคิวข้างนอก มีวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ ซึ่งขาดไม่ได้ ฯลฯ เป็นการเตรียมเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มวันที่ 17 พฤษภาคมนี้
ธุรกิจค้าปลีกเริ่มมีความหวังกลับมาเปิดให้บริการและอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับภาคธุรกิจอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยวที่ยังแน่นิ่งสนิทแล้ว อสังหาริมทรัพย์ ดูท่าจะทรุดอีกยาว ไม่นับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จอดนิ่งเช่นกัน
มาโฟกัสที่ภาคอสังหาฯ จากช่วงต้นปีนี้ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ที่เป็นลูกค้าหลักของคอนโดมิเนียม แต่เมื่อเหตุการณ์ลากยาวเป็นเวลาหลายเดือนจนบัดนี้ และยังประเมินไม่ได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ได้ส่งผลกระทบลามมายังตลาดในประเทศด้วย เนื่องจากมีการเลิกจ้าง เลิกกิจการ หรือลดค่าแรงเพื่อประคองกิจการส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศลดลง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินสถานการณ์โอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในภาพรวม 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พังทลายเศรษฐกิจของประเทศราบพนาสูญว่า อาจส่งผลให้ภาพรวมการโอนหน่วยกรรมสิทธิ์ฯ ลดลงในช่วงประมาณ 333,000-312,000 หน่วย หรือลดลง -11.1% ถึง -16.7% และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ฯ ลดลงในช่วงประมาณ 755,000 -726,000 ล้านบาท หรือลดลง -13.8% ถึง -17.1% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า แม้ว่ายังคงมีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้เหลือประเภท ละ 0.01% อยู่ถึงปลายปีนี้ก็ตาม
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ยังรายงานสถานการณ์โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า มีจำนวน 68 โครงการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ลดลง 40.4% มีจำนวนหน่วย 15,932 หน่วย ลดลง 29.6% ซึ่งเป็นการเปิดขายโครงการใหม่ที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 ที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล โดยช่วงนั้นมีการเปิดขายโครงการใหม่เพียง 67 โครงการ 15,858 หน่วย
เช่นเดียวกันกับรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index Q2 2563 คาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ราคาและอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบหวดหนักๆ มาอย่างต่อเนื่องจนโงหัวไม่ขึ้น
สำหรับดัชนีราคาและอุปทานในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ยังคงลดลง โดยลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 9% ในรอบ 1 ปี ส่วนดัชนีอุปทานลดลงมาอยู่ระดับชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า บ่งบอกว่าโครงการใหม่หรือโครงการบ้านมือสองจากฝั่งผู้บริโภคลดน้อยหรือชะลอตัวลงเพื่อรอผลตอบแทนที่ดีกว่าหลังการระบาดของไวรัสฯคลี่คลาย
ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่มียอดขายค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีหรือในรอบ 40 ไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการในช่วงนี้ออกไปหรือเลือกที่จะเปิดขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น
สำหรับโครงการที่ปล่อยออกสู่ตลาดแล้วต่างแข่งจัดโปรไฟไหม้ปล่อยของออกให้เร็วที่สุด ช่วงนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่จะที่พักอาศัยในราคาไม่แพงเวอร์ หรือขยายพอร์ตการลงทุน เพื่อรับผลประโยชน์จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ต้องไม่ลืมว่าในภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังไม่กลับคึกคักในเร็ววันนี้แน่นอน
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บอกผ่านสื่อว่า ในไตรมาสแรกที่ผ่านมานอกจากผู้ประกอบการจะเลือกชะลอเปิดขายโครงการใหม่จำนวนมากแล้ว โครงการเก่าที่สร้างเสร็จแล้วก็มีการลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายยอดโอนกรรมสิทธิ์ บางรายลดราคาลงมากกว่า 30-40% เพื่อระบายสต็อก บางรายนำโครงการที่เคยพรีเซลไปแล้วกลับมาพรีเซลใหม่อีกครั้งและปรับลดราคาลงมา
สำหรับภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานคร ช่วงไตรมาสที่ 1/2563 ที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เพียง 16 โครงการ 5,880 หน่วย ถือว่าที่น้อยที่สุดในช่วง 8 ปี หรือ 32 ไตรมาส ที่ผ่านมาหลังจาก ปี 2554 ด้วยมูลค่าการลงทุนเพียง 19,540 ล้านบาท ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าถึง 8,909 หน่วย หรือคิดเป็น 60.2% และลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีก่อนหน้าที่เปิดขายประมาณ 8,953 หน่วย หรือประมาณ 34.3% ซึ่งพบว่า มูลค่าการลงทุนลดลงกว่า 25,892 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ยุคเศรษฐกิจตกต่ำกำลังซื้อหดหาย ตอนนี้จะเห็นผู้ประกอบการหันมาลงทุนพัฒนาคอนโดฯตลาดกลางและล่างอีกครั้งในระดับราคาเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อตารางเมตร หรือต่ำกว่า หลังจากหันไปจับตลาดบนกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในช่วงระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
หากตรวจแนวรบธุรกิจของยักษ์ใหญ่อสังหาฯ เวลานี้ผ่านหน้าสื่อต่างเลื่อนลงทุนกันยาวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น LPN ซึ่ง นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดบวกกับช่วงโลว์ซีซั่นส์ ธุรกิจไม่มีทางจะฟี้นในช่วงไตรมาส 2/63-ไตรมาส 3/63 และกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงรวมทั้งชาวต่างชาติ กลายเป็นลูกค้าที่แบงก์ประเมินเป็นกลุ่มเสี่ยงระวังการปล่อยกู้
ส่วน บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ก็อ่วมหนัก ผลประกอบการในไตรมาส 1/63 มียอดรับรู้รายได้หรือยอดโอน 2,900 ล้านบาท ลดลง 33% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มียอดโอน 3,700 ล้านบาท ส่วนยอดขายใหม่ (พรีเซล) 3,200 ล้านบาท ลดลง 25% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะผลกระทบจากโควิด ซึ่งคาดว่าจะกระทบยาวและแนวโน้มเป้ายอดขายปี 2563 ที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท ในส่วนของเพอร์เฟค 16,000 ล้านบาท และ บมจ. แกรนด์ แอสเสทฯ 2,000 ล้านบาท คงไม่ถึงเป้า และต้องรีวิวโครงการใหม่ เลื่อนเปิดตัวไปปีหน้า
สำหรับซื่อตรง กรุ๊ป ต้องเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่ที่จะเปิดตัวในครึ่งปีหลังนี้ออกไปเป็นต้นปีหน้า เช่นเดียวกับ โนเบิลฯ ที่ตัดสินใจเลื่อนเปิดตัว 3 คอนโดฯ คือ “โนเบิล สเตท 39-อะเบิร์ฟ ร่วมฤดี-นิว งามวงศ์วาน” จากเดิมวางแผนเปิดไตรมาส 2/63 เลื่อนไปเปิดไตรมาส 3/63 แทน
สถานการณ์เยี่ยงนี้ เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะหยุดหรือชะลอโครงการใหม่ และเร่งระบายสต็อกก่อน ส่วนคนซื้อก็ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปเช่นกัน
แบงก์เองก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างเช่นธนาคารเกียรตินาคิน ซึ่งคาดว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ อาจจะต่ำสุดนับจากวิกฤตปี 2540 ซึ่งรอบนั้นถือว่าสาหัสสุดและใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัวจึงระวังในการปล่อยสินเชื่อและมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือลูกค้า เช่นเดียวกับแบงก์อื่นๆ ที่รับนโยบายมาจากรัฐบาลให้เข้าอุ้มลูกค้าที่ผ่อนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ย้อนกลับมาดูภาพรวมเศรษฐกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายน 2563 ชี้ว่า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ 42.6 มาอยู่ที่ 32.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2542 โดยทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 และเป็นการปรับตัวลงในทุก sector สะท้อนว่าสถานการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง สำหรับผู้ประกอบการในภาคการผลิตมีความเชื่อมั่นด้านการผลิต คำสั่งซื้อ และผลประกอบการอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และกลุ่มผลิตยานยนต์
ขณะที่ความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคที่มิใช่การผลิต นำโดยกลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร และกลุ่มโลจิสติกส์ เนื่องจากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเพื่อควบคุมการระบาดของโรค
“ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนเมษายน 2563 ปรับลดลงมากสู่ระดับ 32.6 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นการลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต และทุกองค์ประกอบอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลงในทุกด้าน”
สำหรับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 37.8 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับต่ำที่สุดช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่ระดับ 37.1 จากความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรง โดยดัชนีฯ ลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต
ในส่วนของภาคการผลิต พบว่าผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ผู้ผลิตเหล็กและผู้ผลิตยานยนต์มีความเชื่อมั่นลดลงมาก จากคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะลดลงและอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงมาก สะท้อนว่าอาจมีการลดการจ้างงานในอนาคต
สำหรับภาคที่มิใช่การผลิต กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มโลจิสติกส์คาดว่าคำสั่งซื้อและผลประกอบการจะลดลงมากตามความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวประกอบกับมีการกักตุนสินค้าในช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองไว้ค่อนข้างมาก ด้านกลุ่มก่อสร้างมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและปริมาณการก่อสร้างลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุม กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุมกกร. ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ว่า กกร.ได้ ประเมินจีดีพีของไทยปี 2563 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ -3.0 ถึง -5.0% จากเดือนมีนาคม ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5-2% ซึ่งดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้ว่าจะหดตัว 6.7% ทั้งนี้ภาครัฐมีมาตรการต่างๆในการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้วและจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19ที่คลี่คลายลง
กกร. ประเมินการส่งออกยังคงไว้ตามตัวเลขเดือนเมษายน ที่ -5.0 ถึง -10.0% เพราะมองกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกยังไม่ดีนัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเหลือ -1.5% ถึง 0.0% ซึ่งตัวเลขทั้งหมดอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ และภาครัฐทยอยผ่อนปรนการดำเนินกิจการเพิ่มเติมตามลำดับ
ดังนั้น นับจากนี้ ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งทำงานตามสถานการณ์ที่คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่ง เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะแน่นอนว่า แม้สัญญาณ “เศรษฐกิจจะเริ่มโงหัว” ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมมีหลากหลายธุรกิจที่จะต้องล้มหายตายจากอันเป็นจากการปรับตัวของผู้คนในการรับมือกับ “โควิด-19” เพราะฉะนั้นมาตรการเยียวยาต่างๆ จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการควบคู่ ทั้ง “ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง” ....นี่ไม่นับรวมถึง “ความวุ่นวายทางการเมือง” ที่พร้อมจะเข้ามาปั่นป่วนสถานการณ์ตลอดเวลา