บล.โกลเบล็กประเมินตลาดหุ้นไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังจากที่ปัจจัยในและต่างประเทศหนุนในทิศทางที่ดีขึ้น วางกรอบดัชนีไว้ที่ระดับ 1,260-1,310 จุด พร้อมแนะจับตา 16 หุ้นคลายล็อกเฟส 2 เข้าข่ายน่าลงทุน ชู CRC-MBK-CPN-SF-HMPRO-DOHOME-MC-RSP-COM7-JMART-AU-M-ZEN-MINT-IMPACT-SPA
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินสถานการณ์ทิศทางการลงทุนในขณะนี้ว่า จากปัจจัยบวกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกพลัสเริ่มปรับลดกำลังการผลิตตามแผนตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. รวมถึงการทยอยปลดมาตรการ lockdown ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันเริ่มขยับเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มไม่ถึง 10 รายในแต่ละวันตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็จะส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) มีแนวโน้มผ่อนปรนในระยะที่ 2 เพิ่มเติม พร้อมกันนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยยังมีการรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน พ.ค. 63 ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว หลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซา 3 เดือนติดต่อกัน รวมถึงกรณีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ดูเหมือนจะกลับมาเริ่มคลี่คลายหลังทั้งสองประเทศหันมาเจรจาอีกครั้ง
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินว่า จากปัจจัยบวกในข้างต้นทำให้แนวโน้มการลงทุนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวในระดับ 1,260-1,310 จุด พร้อมทั้งยังแนะนำให้จับตาตัวแปรหลักที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย. ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ เดือน มี.ค. และสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. ภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ส่วนในวันที่ 13 พ.ค. ญี่ปุ่นเปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. ขณะที่อียูเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. ตามด้วยสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์
สำหรับวันที่ 14 พ.ค. จีนเปิดเผยยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือน เม.ย. ขณะที่สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน เม.ย. วันที่ 15 พ.ค. จะเป็นการกำหนดวันสุดท้ายส่งงบการเงินของ บจ. และ ศบค.ประชุมหารือกิจกรรมที่จะปลดล็อกเฟส 2 วันที่ 18 พ.ค. สภาพัฒน์แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 และวันที่ 20 พ.ค.จะมีการกำหนดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2563
ด้าน นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวเพิ่มเติมถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า หากมีการปลดล็อกมาตรการ lockdown เฟส 2 จะมีหุ้นที่จะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว โดย บล.โกลเบล็กแนะนำดักทางการลงทุนในหุ้น 16 ตัว ได้แก่ หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด เช่น CRC, MBK, CPN, SF, HMPRO, DOHOME, MC, RSP, COM7 และ JMART หุ้นกลุ่มร้านอาหาร เช่น AU, M, ZEN และ MINT และหุ้นในกลุ่มบริการสปา เช่น SPA
ขณะที่ราคาทองคำ ทางฝ่ายวิจัยมีประเมินว่าราคาทองคำยังผันผวนในกรอบ $1,680-1,730/Oz หรือคิดเป็น 25,430-26,270 บาทต่อบาททองคำ แนะนำให้ใช้กลยุทธ์ลงซื้อขึ้นขาย โดยคาดว่าในสัปดาห์นี้ทองคำปรับตัวขึ้นได้จำกัดเนื่องจากเงินทุนเริ่มไหลกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดหุ้น หลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มคลี่คลายหลังทั้งสองประเทศหันมาเจรจาอีกครั้ง นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มควบคุมได้ ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลและเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น