xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯตามจองเวร‘หัวเว่ย’ต่ออีก มุ่งบีบคั้นสกัดซัปพลายเออร์ไม่ให้ส่ง‘ชิป’ ขณะที่จีนก็จับจ้องตอบโต้แก้เผ็ด

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวรอยเตอร์



US moves to cut Huawei off from global chip suppliers as China eyes retaliation
By David Shepardson, Karen Freifeld and Alexandra Alper, Reuters

คณะบริหารทรัมป์ประกาศกฎระเบียบใหม่เมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งสกัดกั้นซัปพลายเออร์ทั่วโลก ไม่ให้ส่งเซมิคอนดักเตอร์แก่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและสมาร์ตโฟนของจีน หลังจากก่อนหน้านี้วอชิงตันก็ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทนี้อยู่แล้ว

คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามจองเวรไม่เลิก หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน โดยในวันศุกร์ (15 พ.ค.) ได้ออกมาประกาศกฎระเบียบใหม่ที่มุ่งสกัดกั้นซัปพลายเออร์ทั่วโลก ไม่ให้ส่งเซมิคอนดักเตอร์แก่บริษัทแดนมังกรรายนี้ ซึ่งก็ถูกวอชิงตันขึ้นบัญชีดำเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวกันว่าจีนจะทำการตอบโต้แก้เผ็ด และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทอเมริกันที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตชิป พากันร่างระนาว

กฎระเบียบใหม่ที่แถลงโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯครั้งนี้ กำหนดให้พวกบริษัทซัปพลายเออร์เซมิคอนดักเตอร์ต้องขออนุญาตจากทางการสหรัฐฯ จึงจะสามารถขายชิปที่บริษัทเหล่านี้ผลิตในต่างแดนแต่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯไปให้แก่หัวเว่ย นับเป็นการขยายขอบเขตอำนาจเพิ่มขึ้นมาอย่างกว้างขวางของวอชิงตันในการระงับการส่งออกชิ้นส่วนสำคัญยิ่งให้แก่ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรายนี้

“การดำเนินการครั้งนี้คือการทำให้อเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง บริษัทอเมริกันเป็นอันดับหนึ่ง และความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกันเป็นอันดับหนึ่ง” เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในการแถลงสรุปผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ (15)

จวบจนถึงเวลานี้ หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอมรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ยังไม่ได้พูดอะไรเมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อไปขอความเห็น

แต่ข่าวความเคลื่อนไหวมุ่งเล่นงานหัวเว่ยครั้งนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นแถบยุโรป โดยที่พวกเทรดเดอร์พากันเทขาย ทำให้ราคาซึ่งอยู่ในแดนบวกต้องลดถอยลงมา นอกจากนั้นในช่วงการซื้อขายที่ตลาดสหรัฐฯหุ้นของพวกผู้ทำอุปกรณ์ใช้ในการผลิตชิป เป็นต้นว่า แลม รีเสิร์ช (Lam Research) และ เคแอลเอ คอร์ป (KLA Corp) ก็ปิดโดยหล่นลง 6.4% และ 4.8% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาตอบโต้จากจีนก็ออกมาอย่างฉับไว โดยที่รายงานชิ้นหนึ่งในวันศุกร์ (15) ของ โกลบอลไทมส์ สื่อแทบลอยด์ในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้บริหารปกครองจีน ระบุว่า ปักกิ่งพร้อมแล้วที่จะใส่ชื่อบริษัทสหรัฐฯจำนวนหนึ่งเอาไว้ใน “รายชื่อหน่วยงานและบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้” (unreliable entity list) ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ต่อการที่วอชิงตันเพิ่มข้อจำกัดใหม่ๆ มาเล่นงานหัวเว่ย

มาตรการตอบโต้ของฝ่ายจีนนี้ มีดังเช่นการเปิดการสอบสวนและประกาศข้อจำกัดควบคุมพวกบริษัทอเมริกันที่จะถูกขึ้นบัญชี เป็นต้นว่า แอปเปิล อิงค์, ซิสโก ซิสเตมส์ อิงค์, และ ควอลคอมม์ อิงค์ ตลอดจนการสั่งระงับการซื้อเครื่องบินของบริษัทโบอิ้ง รายงานข่าวนี้บอกโดยอ้างแหล่งข่าวรายหนึ่ง (ดูรายงานข่าวนี้ได้ที่ https://www.globaltimes.cn/content/1188491.shtml)

สำหรับกฎระเบียบใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ (15 พ.ค.) แต่ให้ระยะเวลาผ่อนผัน 120 วันนั้น ยังกระทบกระเทือนอย่างแรงต่อบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี ลิมิเต็ด (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co Ltd, ใช้อักษรย่อว่า TSMC) ผู้รับเหมาผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก และก็เป็นซัปพลายเออร์รายหลักที่ส่งเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่หัวเว่ย โดยที่บริษัทนี้เพิ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ถึงแผนการที่จะสร้างโรงงานใหม่แห่งหนึ่งขึ้นในสหรัฐฯ

TSMC แถลงในวันศุกร์ (15 พ.ค.) ว่า บริษัท “กำลังเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการส่งออกของสหรัฐฯนี้อย่างใกล้ชิด” และกำลังทำงานร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายภายนอกบริษัท เพื่อ “ดำเนินการวิเคราะห์ทางกฎหมาย ตลอดจนทำให้เกิดความแน่ใจเกี่ยวกับการตรวจสอบและการตีความกฎระเบียบเหล่านี้อย่างรอบด้าน”

ตัวกระทรวงพาณิชย์เองแถลงว่า กฎระเบียบนี้มุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้หัวเว่ยสามารถ “กัดกร่อนบ่อนทำลาย” สถานะความเป็นบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำของตนเองต่อไปอีก ทั้งนี้ในการขึ้นบัญชีดำก่อนหน้านี้นั้น กระทรวงมุ่งหมายที่จะให้พวกซัปพลายเออร์ซึ่งผลิตชิปโดยมีการใช้เทคโนโลยีซับซ้อนที่ทำโดยสหรัฐฯ ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯก่อน จึงจะขายให้แก่หัวเว่ยได้

แต่ปรากฏว่า “มีช่องโหว่ทางเทคนิคที่ใหญ่โตมาก ซึ่งทำให้ในทางปฏิบัติหัวเว่ยยังคงสามารถใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯที่พวกผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่างประเทศนำไปใช้ (ในการผลิตชิปในต่างแดนนอกสหรัฐฯ)” รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) บอกกับเครือข่ายข่าวธุรกิจโทรทัศน์ฟอกซ์ (Fox Business Network) ในวันศุกร์ (15 พ.ค.) โดยเรียกการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบคราวนี้ว่าเป็น “สิ่งที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะเจาะจงมากๆ เพื่อพยายามแก้ไขอุดช่องโหว่ดังกล่าว”

ทั้งนี้หัวเว่ยถูกใส่ชื่อเข้าไว้ใน “บัญชีหน่วยงานและบุคคล” (entity list) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลข้ออ้างว่าเนื่องจากความวิตกกังวลในด้านความมั่นคงแห่งชาติ ท่ามกลางการกล่าวหาไม่หยุดหย่อนจากวอชิงตันว่า บริษัทจีนแห่งนี้ละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นที่สหรัฐฯใช้บังคับกับอิหร่าน รวมทั้งสามารถที่จะใช้อุปกรณ์ของบริษัทในการสอดแนมลูกค้า หัวเว่ยเองปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ และเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯแสดงหลักฐานข้อพิสูจน์

แต่แม้วอชิงตันทำเช่นนี้แล้ว พวกสายเหยี่ยวมุ่งเล่นงานจีนในคณะบริหารทรัมป์ก็ยังรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ โดยเห็นกันว่าการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยเช่นนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นไม่ให้บริษัทเข้าถึงซัปพลายที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเร่งรัดให้เกิดความพยายามตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่จะเล่นงานบริษัทจีนแห่งนี้ให้อยู่หมัด จนกระทั่งส่งผลกลายเป็นกฎระเบียบที่ออกมาในวันศุกร์

เควิน วูล์ฟ (Kevin Wolf) นักกฎหมายที่ตั้งฐานอยู่ในวอชิงตัน และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบใหม่นี้ดูเหมือนจะเป็น “การขยายอำนาจอย่างซับซ้อนและใหม่สดของสหรัฐฯในเรื่องการควบคุมการส่งออก” โดยให้ครอบคลุมถึงพวกข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชิปซึ่งผลิตในต่างแดนแต่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯแล้วจากนั้นก็ส่งไปยังหัวเว่ย อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าระเบียบใหม่นี้ควบคุมเฉพาะชิปที่ห้วเว่ยออกแบบเท่านั้น หากเป็นชิปซึ่งออกแบบโดยบริษัทอื่นๆ แล้วผลิตในต่างแดน แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯก็ยังคงสามารถขายให้แก่หัวเว่ยได้โดยไม่ถูกบังคับให้ขออนุญาตก่อน

ขณะที่กฎระเบียบใหม่นี้จะบังคับใช้กับชิปทุกอย่างโดยไม่สนใจว่าเป็นชิปที่มีความละเอียดซับซ้อนระดับไหน แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศที่มาแถลงสรุปแก่พวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์เช่นเดียวกัน ก็พูดแบบเปิดประตูให้มีความยืดหยุ่นอยู่บ้างในการปฏิบัติต่อหัวเว่ย ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการผ่อนผันที่คณะบริหารทรัมป์ได้เคยให้แก่หัวเว่ยในอดีตที่ผ่านมา

“นี่คือการบังคับให้ต้องขออนุญาตก่อน แต่มันไม่จำเป็นต้องหมายความว่าการขอทั้งหมดจะถูกปฏิเสธ” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว และเสริมว่ากฎระเบียบนี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมี “ความสามารถในการมองเห็น” เพิ่มขึ้นมากๆ ในเรื่องการขนส่งชิปไปต่างประเทศ “คำขออนุญาตต่างๆ ที่ยื่นมาจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรนั้น เราจะต้องดูกันต่อไป ... คำขอแต่ละฉบับจะได้รับการวินิจฉัยตัดสินตามสิ่งที่มันสมควรจะได้รับ”

ภายหลังจากการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยคราวก่อน ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วเป็นการห้ามหัวเว่ยไม่ให้ซื้อหาเซมิคอนดักเตอร์จากซัปพลายเออร์สหรัฐฯ แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ยินยอมให้ใบอนุญาตแก่พวกบริษัทหุ้นส่วนของสหรัฐฯที่เป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย เพื่อให้สามารถขายชิปแก่หัวเว่ยได้ต่อไปอีก เวลาเดียวกันยังกำลังอนุญาตให้พวกบริษัทเทเลคอมในเขตชนบทของสหรัฐฯซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กๆ สามารถซื้อหาอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่มีราคาถูกกว่ามาใช้กันต่อไป เพื่อให้เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่พวกเขาให้บริการอยู่ ยังคงดำเนินกิจการได้

หัวเว่ย ซึ่งจำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ทั้งสำหรับสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์เทเลคอมของบริษัท พบว่าตนเองตกอยู่ในพื้นที่หัวใจของสงครามสู้รบระหว่างสหรัฐฯกับจีนเพื่อชิงความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีระดับโลก โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติยักษ์ใหญ่นี้ได้ย่ำแย่ลงอีกในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ จากการกล่าวหาโจมตีกันในเรื่องต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบครั้งนี้มุ่งบีบคั้นหัวเว่ย และจะโจมตีใส่พวกบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่หัวเว่ยพึ่งพาอาศัยอยู่ แต่พวกผู้ผลิตอุปกรณ์ทำชิปสัญชาติสหรัฐฯก็อาจต้องประสบกับความเจ็บปวดในระยะยาว ถ้าหากผู้ผลิตชิปทั้งหลายหาทางออกด้วยการหันไปวิจัยและพัฒนาแหล่งอุปกรณ์ผลิตชิปใหม่ๆ ในดินแดนที่กฎระเบียบของสหรัฐฯเอื้อมไปไม่ถึง

แต่สำหรับในเวลานี้ พวกผู้ผลิตชิปส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ผลิตโดยพวกบริษัทสหรัฐฯอย่างเช่น เคแอลเอ, แลม รีเสิร์ช, และแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) ซึ่งต่างไม่ขอพูดอะไรเมื่อผู้สื่อข่าวไปถามความเห็น

ขณะที่เครื่องมือซับซ้อนบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการทำชิปในเวลานี้มาจากพวกบริษัทนอกสหรัฐฯ เป็นต้นว่า โตเกียว อิเล็กตรอน (Tokyo Electron) ตลอดจน ฮิตาชิ (Hitachi) ของญี่ปุ่น และ เอเอสเอ็มแอล ของเนเธอร์แลนด์ แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ยังคงเป็นเรื่องลำบากยากเย็นที่จะนำเอาเครื่องมือแต่ละอย่างของพวกบริษัทนอกสหรัฐฯเหล่านี้ มารวบรวมสร้างขึ้นเป็นห่วงโซ่เครื่องมือการผลิตที่ไม่มีอุปกรณ์อเมริกันปะปนอยู่เลยตลอดทั้งสาย เพื่อใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าทันสมัย

ภาระของการรับมือกับกฎระเบียบใหม่ของกระทรวงพาณิชย์นั้น เห็นกันว่าผู้ที่น่าจะต้องแบกรับกันหนักที่สุด ได้แก่พวกโรงงานผลิตชิปอย่างเช่น ทีเอสเอ็มซี ซึ่งใช้วิธีซื้อเครื่องมือมาใช้ในการผลิตของตนเอง มากกว่าพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อเมริกัน อย่างเช่น ควอลคอมม์ อิงค์ หรือ เอ็นวีเดีย คอร์ป ซึ่งใช้วิธีทำข้อตกลงให้บริษัทผลิตชิปเช่นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของพวกตน

“เรากำลังเป็นห่วงกันว่ากฎระเบียบนี้อาจจะสร้างความไม่แน่นอนและความติดขัดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก แต่มันดูเหมือนกำลังสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯน้อยกว่าพวกมาตรการที่ครอบคลุมกว้างขวางมากกว่านี้ซึ่งได้เคยเสนอออกมาให้พิจารณากันก่อนหน้านี้” จอห์น นัฟเฟอร์ (John Neuffer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association) สหรัฐฯ ระบุในคำแถลง

ส่วน รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ที่เป็นเหยี่ยวจีนสำคัญคนหนึ่งในคณะบริหารทรัมป์ กล่าวว่าการดำเนินการคราวนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะพิทักษ์คุ้มครอง “ความซื่อตรงมั่นคงของเครือข่าย 5จี” เขากล่าวต่อไปอีกว่า กฎระเบียบนี้ “ช่วยป้องกันขัดขวางไม่ให้หัวเว่ยกัดกร่อนบ่อนทำลายการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ”

(เก็บความจากเรื่อง US moves to cut Huawei off from global chip suppliers as China eyes retaliation
ของสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยเพิ่มเติมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ด้วย)


หมายเหตุผู้แปล

ในวันอาทิตย์ (17 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกคำแถลงระบุว่า จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อตอบโต้เรื่องที่สหรัฐฯใช้อำนาจมิชอบต่อบริษัทหัวเว่ย จึงขอเก็บความรายงานข่าวเรื่องนี้ของสำนักข่าวเอพี มาเสนอเพิ่มเติมไว้ในที่นี้:

จีนเตือนสหรัฐฯ จะใช้ ‘มาตรการที่จำเป็นทุกอย่าง’ ตอบโต้กฎระเบียบเล่นงานหัวเว่ย
โดย สำนักข่าวเอพี

China warns US of 'all necessary measures' over Huawei rules
By AP

กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่าจะใช้ “มาตรการที่จำเป็นทุกอย่าง” เพื่อตอบโต้กฎระเบียบใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯซึ่งมุ่งเล่นงานหัวเว่ย โดยเรียกมาตรการเช่นนี้ของวอชิงตันว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐอย่างมิชอบและละเมิดหลักการต่างๆ ของตลาด

ในคำแถลงที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า โฆษกของกระทรงซึ่งมิได้มีการระบุชื่อ กล่าวในวันอาทิตย์ (17 พ.ค.) ว่า กฎระเบียบใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯออกมาบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) ยังเป็นการคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของ “อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก”

“สหรัฐฯกำลังใช้อำนาจรัฐ ภายใต้ข้อแก้ตัวที่อ้างว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ และกำลังใช้มาตรการควบคุมการส่งออกไปในทางมิชอบ เพื่อสืบต่อการกดขี่วิสาหกิจบางแห่งของประเทศอื่นๆ อย่างเจาะจง” คำแถลงฉบับนี้ระบุ

จีนจะ “ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อทำการปกป้องอย่างเด็ดเดี่ยวในสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมต่างๆ ของบรรดาวิสาหกิจของจีน” คำแถลงบอก


กำลังโหลดความคิดเห็น