สถานการณ์ของสตาร์ทอัปใน ปี 2563 ไม่น่าจะแตกต่างไปจากธุรกิจอื่นๆ เจอมรสุมภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันจากสตาร์ทอัปต่างชาติเข้ามาลงทุน และตลอดระยะเวลา 4ปีที่ผ่านมาภาครัฐเองได้ทุ่มไปกับการส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัปค่อนข้างมาก แต่ผลรับที่ได้ออกมา อาจจะไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่น่าพึ่งพอใจมากนัก สืบเนื่องมาจากสตาร์ทอัปเป็นธุรกิจเกิดง่ายและตายง่าย และธุรกิจสตาร์ทอัปในประเทศไทยที่แข็งแรงมีไม่มาก
ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 2563 ทิศทางการส่งเสริมผู้ประกอบการของหน่วยงานภาครัฐ หันทิศทางกลับมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศอย่าง ไมโครเอสเอ็มอี (MICRO SME หรือ MSME) ที่มีมากถึง 4 แสนราย ช่วยกระจายรายได้วงกว้างได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัป สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือ จากหน่วยงานของรัฐ จะเห็นได้จากสตาร์ทอัปหลายรายเกิดขึ้นมา และเติบโตได้อย่างมั่นคง มีรายได้หลักล้านไปจนถึงหลักร้อยล้านบาท
BIC สวทช.ชี้ภาครัฐชะลอส่งเสริมสตาร์ทอัป มุ่งเป้าไมโครเอสเอ็มอี
นางสาวศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ในฐานะหน่วยงานหลักส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัป กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัป ว่า ในปี 2563 ทาง BIC ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัป เช่นเดียวกับ 4 ปีที่ผ่านมา ผ่านโครงการบ่มเพาะธุรกิจ แต่ในส่วนของโครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัป ด้วยStartup Voucher ในปีนี้เป็นปีที่ 5 แต่ความเข้มข้นในโครงการนี้จะลดน้อยลง จากเดิมเคยแจกทุนให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัป เพื่อนำไปใช้เป็นทุนเริ่มต้นทำการตลาดวงเงินสูงถึง 800,000 บาทต่อราย ซึ่งจำนวนเงินในการสนับสนุนทุนละ 8 แสนบาทจะยังคงเท่าเดิม แต่ลดจำนวนผู้รับทุนลงครึ่งหนึ่ง จาก 60 ทุน เหลือเพียง 30 ทุน
ทั้งนี้ การลดจำนวนทุนลง เพราะด้วยประสบการณ์ที่หน่วยงานของเราทำงานส่งเสริมสตาร์ทอัปไทยมากว่า 4 ปี และปีนี้ เป็นปีที่ 5 ทำให้รู้จักสตาร์ทอัปไทยมากขึ้น ดังนั้น การคัดเลือกคนมารับทุนของเรา ต้องคัดเลือกตัวจริง และสามารถเติบโตได้ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมา ช่วงปีแรกยังไม่รู้ว่าสตาร์ทอัปตัวจริง และอยู่ได้อย่างยั่งยืนเป็นอย่างไร แต่พอผ่านมาปีหลัง เริ่มมองเห็นและคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติ ที่เมื่อลงเงินไปแล้วไม่เสียเปล่า เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปีนี้ ลดจำนวนทุนลงเหลือแค่ 30 ทุน
“ที่ผ่านมา ต้องบอกว่ารัฐบาลทุ่มเต็มที่ไปกับการเร่งสร้างสตาร์ทอัป จะเห็นได้ว่า มีหน่วยงานธนาคารต่างๆ ก็จะมีโครงการส่งเสริมมอบทุนให้กับสตาร์ทอัป ธนาคารเกือบทุกแห่งมีกองทุน เพื่อลงในกลุ่มสตาร์ทอัป แต่ยังหาสตาร์ทอัปไทยที่มีความพร้อม หรือ มีศักยภาพไม่ได้ และทุนที่รัฐบาลให้ไป ก็ไปตกอยู่กับสตาร์ทอัปบางกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะได้รับทุน ยกตัวอย่าง ใน 1 ปี ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานจัดประกวดและมอบทุนให้กับสตาร์ทอัป และมีเพียงสตาร์ทอัป กลุ่มนี้ ที่ได้ทุนเกือบทุกเวทีที่เขาขอ บางรายได้เป็น 10 ล้านบาท เลยก็มี ด้วยเหตุนี้เอง ปีนี้ ในส่วนการส่งเสริมสตาร์ทอัป ผ่านโครงการ Startup Voucher ควรลดลงและหันไปส่งเสริมในรูปแบบอื่นๆ ประกอบกับในปี 2563 รัฐบาลต้องการกระจายรายได้ หันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศมากกว่า”
ในส่วนของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ของสวทช. ยังคงดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เหมือนเดิม โดยหน้าที่ของเรา คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในปีนี้กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี เพราะรัฐบาลเชื่อว่า ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืนได้จะต้องมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะขายของแบบธรรมดาไม่ได้แล้วอีกแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจเอสเอ็มโตได้อย่างยั่งยื่น
สำหรับ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัปไทย ที่มีศักยภาพอยู่ในระดับสามารถระดมทุนได้ในระดับ ซีรีย์ A มากที่สุด เป็นการระดมทุนอยู่ที่ 2 ล้านถึง 15ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 66ล้านบาทไปจนถึง 5oo ล้านบาท) มีอยู่ประมาณหลักร้อยราย ไม่เกิน 200 ราย ส่วนซีรีย์ B และ C ที่สามารถระดมทุนได้ มากกว่า 300 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในประเทศไทยมีสัก 1-2 รายเท่านั้น ที่เหลือกลุ่ม SEED
สตาร์ทอัปไทย ปี 2563 มุมมองสถาบันการศึกษา
ท้าทาย แจ้งเกิดยาก โอกาสรอดกลุ่ม B2B
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X กล่าวว่า สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัปไทย ในปี 2563 เชื่อว่าน่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที๋ท้าทายอย่างมาก ด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และความแข็งแรงของผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัปไทยที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ซึ่งสตาร์ทอัปที่จะสามารถอยู่รอดได้ ต้องเป็นกลุ่ม B2B การค้าขายกับธุรกิจแบบธุรกิจ แต่ถ้าเป็นกลุ่ม B2C ยังคงน่าห่วง แม้ที่ผ่านมา การทำธุรกิจแบบ B2B ไม่ได้หวือหวา และไม่มีการพูดถึงผ่านสื่อ แต่ผลตอบแทนที่ได้มีมากกว่า B2C ต้นทุนสูง และได้กำไรผลตอบแทนน้อย ดังนั้น สตาร์ทอัปถ้าต้องการอยู่รอดต้องหันมาจับลูกค้าในลักษณะของ B2B
อย่างไรก็ตาม ดร.พณชิต มองว่า การเติบโตของสตาร์ทอัปจะยังคงอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนมากกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเอสเอ็มอี เองก็ต้องปรับตัวจะทำเหมือนในอดีต คือ ซื้อมาขายไปไม่ได้อีกแล้ว เอสเอ็มอีจะเป็นผู้ผลิตและมีสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า สตาร์ทอัปไทย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านไอที เช่น การคิดค้นแอปพลิเคชั่นต่างๆ แต่จากรายงานของ Worldwide Business startup by Moya k. ในเว็บไซต์ Moyak.com ในปี 2019 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัปทั่วโลก พบว่า ธุรกิจที่เกิดใหม่มีจำนวน 137,000 รายต่อวัน หรือประมาณ 50 ล้านรายต่อปี แต่มีอัตราการล้มเหลวถึง 90 % มีเพียง 10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ล้มเหลว 3 อันดับแรกมีดังนี้ 1.ธุรกิจด้านไอที(Information) 2.ธุรกิจด้านก่อสร้าง(construction) และ 3.ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม(Manufacturing) เหตุที่ธุรกิจด้านไอทีล้มเหลวเป็นอันดับแรก เนื่องจากมี Tech startup เกิดขึ้นมามากมาย แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว
เหตุทำให้สตาร์ทอัปไทยไปต่อไม่ได้
ในส่วนของสตาร์อัปไทย ธุรกิจสตาร์ทอัปที่ล้มเหลว 3 อันดับแรก ไม่ต่างจากทั่วโลก สาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะด้านไอที เนื่องมาจากการขาดประสบการณ์ในการบริหารวางแผนการทำงานเพราะถึงแม้มีไอเดียแต่ขาดประสบการณ์ก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องมี 2 อย่างร่วมกัน รวมถึงความคล่องตัวเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แนวคิดต้องตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันและเทรนด์ความต้องการในอนาคตข้างหน้า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว
นอกจากนี้ สตาร์ทอัปไทยยังขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการสินค้า โดยเฉพาะความสามารถในการกำหนดราคา การบริหารต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงเกินไป และเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ของภาครัฐที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และยังมีปัญหาอื่นๆ ไมว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนที่มีแนวคิดไม่ตรงกัน ทำให้ไปต่อไม่ได้ และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้สตาร์ทอัปไทยไปต่อไม่ได้
ทางรอดของสตาร์ทอัปไทย ต้องปรับตัวอย่างไร
สำหรับ เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัป ที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ต้องมองการบริหารความเสี่ยงหลายบริบท มีการวางแผนการตลาดที่ดี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเน้นการออกแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญต้องมี Venture Capital (VC) ที่ทุนหนาและเก่งด้านการบริหารมาช่วยธุรกิจให้โตขึ้นด้วย ทั้งนี้การนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์ความต้องการของคนในอนาคตก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวอยู่รอดได้
ท้ายที่สุด หากมีการระดมทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยและลดอัตราเสี่ยงในการปิดกิจการ สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัป ที่อยู่ในรูปแบบของการรวมกลุ่มของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กำหนด Ecosystem ระหว่างสถาบันการเงิน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับ Startup เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงให้นักศึกษาและ VC เข้าถึงกัน เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียทางธุรกิจและเกิดการร่วมลงทุนในที่สุด
สตาร์ทอัปไทยขาด Tech Talent แจ้งเกิดยูนิคอร์น
นายดุสิต ชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน AddVentures by SCG มองว่าสตาร์ทอัพไทยจะเติบโตได้เร็วขึ้น จำเป็นต้องสร้างจากไอเดียที่โดดเด่นพอจะขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้ ยูนิคอร์นเป็นเสมือนฮีโร่ ช่วยสร้างแรงจูงใจ ปลุกกระแส ดึง tech talent ที่ทำงานองค์กรใหญ่ในต่างประเทศอย่าง Facebook Google Apple ให้กลับมาทำสตาร์ทอัพในไทย และช่วยดึงดูดนักลงทุนให้มาให้น้ำหนักกับการลงทุนในไทยเป็นลำดับต้นๆ มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มี GoJek และมาเลเซียมี Grab ที่ดึงมูลค่าการระดมทุนขนาดใหญ่เข้าประเทศระดับกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลไทยเองก็ต้องร่วมมือในการแก้ไขระเบียบต่างๆให้ดึงดูดหัวกะทิและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ
แนะสตาร์ทอัปไทยมองให้ยาวปรับใช้ AI
นายดุสิต เห็นด้วยว่าควรมองระยะไกล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้ automation และ artificial intelligence ให้มากขึ้น มากกว่าการทำฟีเจอร์แบบพื้นฐาน อีกทั้ง การหา pain point ก็ควรมองไกลไปถึงเพื่อนบ้านมากกว่าการมองแค่ตลาดในประเทศ โดยมองหาจุดร่วมที่ทุกประเทศมีใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้ตลาดที่ใหญ่ขึ้น
ท้ายสุดนี้ ผอ.ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี BIC กล่าวถึง การส่งเสริมสตาร์ทอัปของภาครัฐ ว่า ก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยยังคงมุ่งสร้างสตาร์ทอัปในสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น โดยได้ร่วมกับสถาบันการศึกษามากกว่า 30 แห่ง แต่จากผลรับที่ออกมา กลับกลายเป็นว่า สตาร์ทอัปที่อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน กลุ่มสตาร์ทอัปที่เคยผ่านการทำงาน และมีช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป น้องๆในสถาบันการศึกษามีไอเดีย มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ แต่อาจจะขาดความมุ่งมั่น มากพอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาช่วยบ่มเพาะให้น้องๆ ได้ออกมาเป็นสตาร์ทอัปที่มีความมุ่งมั่นประสบความสำเร็จในอนาคต
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *www.facebook.com/SMEs.manager">
SMEs manager