สวีเดนไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ หนึ่งในชาติที่สืบเชื้อสายจากพวกไวกิ้งรายนี้ไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองเลย ในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ โดยยังคงอนุญาตให้ธุรกิจต่างๆ เปิดดำเนินการได้ต่อไปเป็นส่วนมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากผลลัพธ์ซึ่งเกิดขึ้นจนถึงเวลานี้ ปรากฏว่าเศรษฐกิจสวีเดนทำท่าถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วงจากโรคระบาดคราวนี้ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากชาติอื่นๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉพาะในหมู่คนชราที่พุ่งสูงลิ่วยิ่งกว่า
วิธีการที่สวีเดนใช้รับมือกับไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่นั้น บรรดาสถานบริการที่มีผู้คนชุมนุมแออัดกัน ใม่ว่าจะเป็น คาเฟ่, บาร์, ภัตตาคารร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ต่างยังคงเปิดทำการได้ เช่นเดียวกับโรงเรียนสถานศึกษาสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ถึงแม้มีการเรียกร้องแข็งขันให้ประชาชนทำตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมและคำแนะนำด้านสุขอนามัยทั้งหลาย เช่น การล้างมือบ่อยๆ
แต่ไม่ว่าจะมีความคาดหมายอย่างไรในเรื่องที่นโยบายเช่นนี้ อาจช่วยบรรเทาแรงฟาดกระหน่ำใส่เศรษฐกิจของประเทศลงไปได้บ้าง เวลานี้ความวาดหวังเช่นนั้นดูเหมือนหนีหายไปกับสายลมเสียแล้ว
“เช่นเดียวกับในประเทศเกือบทั้งหมดของโลก เศรษฐกิจของสวีเดนในไตรมาส 2 ปีนี้ จะแสดงให้เห็นการถดถอยอย่างแรงเป็นสถิติใหม่เช่นกัน” นี่เป็นความเห็นของ โอลเล โฮล์มเกรน นักเศรษฐศาสตร์ของ เอสอีบี แบงก์ ธนาคารใหญ่ภาคเอกชนของสวีเดน
ต้องลำบากกันเป็น “เวลานาน”
การกระเตื้องดีขึ้นน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงหลังของปีนี้ แต่ “เราคาดหมายเอาไว้ว่ามันจะต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวก่อนที่สถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ” นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
เพื่อความเป็นธรรม ควรต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า พวกเจ้าหน้าที่สวีเดนยืนยันเรื่อยมาว่ายุทธศาสตร์ในการรับมือกับโควิด-19 ของพวกเขาแม้ผิดแผกไปจากชาติส่วนใหญ่ แต่ก็ทำไปด้วยจุดมุ่งหมายในทางสาธารณสุขเสมอมา ไม่เคยเลยที่จะเจาะจงมุ่งรักษาระบบเศรษฐกิจ
ไอเดียสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ คือการทำให้แน่ใจว่าโรงพยาบาลต่างๆ สามารถที่จะรับมือกับการระบาดได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะต้องไม่ให้เกิดภาวะระบบสาธารณสุขพังครืน มีคนป่วยต้องได้รับการรักษากันล้นจนเตียงและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องพิทักษ์คุ้มครองผู้สูงอายุตลอดจนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอื่นๆ
สวีเดนประสบความสำเร็จในเรื่องแรก แต่ยอมรับว่าล้มเหลวในเรื่องหลัง โดยที่ผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้จำนวนมากกว่าสามในสี่เกิดขึ้นในหมู่คนชราซึ่งพำนักอาศัยตามสถานดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนในหมู่คนแก่ซึ่งรับการดูแลเยียวยาที่บ้านของพวกเขาเอง
“ตอนที่เราตัดสินว่าควรใช้มาตรการอะไรในการหยุดยั้งไม่ให้ไวรัสนี้แพร่ระบาดออกไปนั้น เราไม่ได้มีข้อพิจารณาในทางเศรษฐกิจใดๆ เลย เรามีแต่คอยทำตามคำแนะนำของพวกผู้เชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) ของเราในประเด็นนี้” รัฐมนตรีคลัง มักดาเลนา แอนเดอร์สสัน กล่าวยืนยันในการแถลงต่อผู้สื่อข่าวตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่กระนั้น พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ยอมรับกันว่า การพยายามให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเปิดทำการต่อไป ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อพิจารณาทางสาธารณสุขในภาพกว้าง เนื่องจากหากเกิดภาวะคนว่างงานในระดับสูง และเศรษฐกิจอ่อนแอ ก็มักต้องนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ลงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 10.3 ล้านคน รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนรวม 4,639 คน เมื่อนับถึงวันศุกร์ (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
นี่ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสที่สูงที่สุดในโลก นั่นคือเสียชีวิต 459.3 รายต่อประชากรล้านคน เท่ากับกว่า 4 เท่าตัวของชาติเพื่อนบ้านไวกิ้งด้วยกันอย่างเดนมาร์ก ยิ่งเปรียบกับนอร์เวย์ ประเทศเพื่อนบ้านไวกิ้งอีกรายหนึ่งด้วยแล้ว ก็จะสูงกว่าเป็น 10 เท่าตัวทีเดียว โดยที่สองชาติหลังนี้ต่างใช้มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าสวีเดนมาก
ตอนแรกๆ เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างหนักของสวีเดน ทำท่าเหมือนกับเดินหน้าต่อไปได้ดีพอสมควร โดยที่ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา จริงๆ แล้วจีดีพีมีอัตราเติบโตเป็นบวกอยู่ 0.1% ด้วยซ้ำ
ทว่า ตอนนี้ประเทศนี้ได้รับการคาดหมายว่าจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันกับชาติส่วนใหญ่ของยุโรป นั่นคือเศรษฐกิจจะติดลบเมื่อรวมตลอดทั้งปี 2020 ส่วนอัตราการว่างงานก็พุ่งแรง
จีดีพีลดต่ำ การว่างงานขึ้นสูง
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลพยากรณ์ว่าจีดีพีจะหดตัวลงราว 4% ในปี 2020 นี้ เปรียบเทียบกับที่เคยพยากรณ์เอาไว้ในเดือนมกราคมว่าจะเติบโตได้ 1.1%
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป มองภาพในแง่ลบยิ่งกว่า โดยเวลานี้บอกว่าการติดลบของสวีเดนจะอยู่ที่ 6.1% (เปรียบเทียบกับเยอรมนี ชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมั่นคงที่สุดในอียู ได้รับการคาดการณ์จากอีซีว่าจะ -6.5% ส่วนยูโรโซนโดยรวมจะอยู่ที่ -7.7%) ยิ่งธนาคารกลางของสวีเดนด้วยแล้ว มองทิศทางอนาคตย่ำแย่กว่านี้อีก นั่นคือพยากรณ์ว่าจีดีพีอาจจะดำดิ่งติดลบกันถึง 10% ทีเดียว
นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า อัตราเติบโตของสวีเดนน่าจะฟื้นขึ้นมาได้อย่างเร็วคือในครึ่งหลังของปี 2020 แต่รัฐมนตรีคลังเตือนว่าสิ่งต่างๆ อาจย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก ก่อนที่จะฟื้นคืนดีขึ้นมา
ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ตลาดแรงงานของสวีเดนอยู่ในรูปทรงที่ใช้ได้ทีเดียว มีการสร้างงานใหม่ๆ อย่างแข็งแรง และอัตราการว่างงานกำลังลดลงไป
เวลานี้ รัฐบาลคาดหมายว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 9% ในตลอดปี 2020 และกระทั่งในปี 2021 เปรียบเทียบกับ 6.8% ในปี 2019
รัฐบาลมองแง่ดีว่า จีดีพียังน่าจะฟื้นจนเติบโตได้ 3.5% ในปี 2021
เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงการส่งออก
การที่เศรษฐกิจสวีเดนดิ่งลงอย่างแรงเช่นนี้ เหตุผลสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายกันได้แก่ การที่ประเทศนี้ต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออก ซึ่งเป็นตัวสร้างจีดีพีถึงประมาณ 50%
“การส่งออกของสวีเดนราว 70% เป็นการส่งไปยังอียู เมื่อเกิดการชัตดาวน์ทั้งในเยอรมนี, อังกฤษ, และอื่นๆ จึงคาดหมายได้ว่าจะต้องกระทบการส่งออกของสวีเดนอย่างหนักหน่วง” นี่เป็นคำอธิบายของรัฐบาล
เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทรายใหญ่ที่สุดบางแห่งของประเทศ เป็นต้นว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์วอลโว และบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกสแกนเนีย ต่างประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวในสวีเดน
นี่ไม่ใช่เป็นเพราะในสวีเดนมีการประกาศมาตรการข้อจำกัดอะไร หากเป็นเพราะปัญหาทางด้านห่วงโซ่อุปทานในยุโรปละในส่วนอื่นๆ ของโลก บริษัทเหล่านี้เพิ่งกลับมาดำเนินการผลิตได้ใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง
เวลาเดียวกันนั้น การบริโภคในสวีเดนก็ดำดิ่งลงมาถึง 24.8% ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 มีนาคม จนถึงวันที่ 5 เมษายน ทั้งนี้ตามการศึกษาซึ่งกระทำโดยคณะนักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคแปนเฮเกน
“สวีเดนกำลังต้องจ่ายในราคาเดียวกัน (กับเดนมาร์ก) สำหรับโรคระบาดไวรัสโคโรนา เรื่องนี้อธิบายได้ว่า เมื่อคุณอยู่ในวิกฤตการณ์ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว พวกผู้บริโภคจะรีบแตะเบรกฉุกเฉิน ไม่ว่าภัตตาคารร้านอาหารจะปิดหรือไม่ปิดก็ตาม” นีลส์ โจฮันเนเสน 1 ใน 4 นักเศรษฐศาสตร์ บอกกับ เฮลซิงบอร์กส์ ดักบลัด หนังสือพิมพ์ใหญ่ฉบับหนึ่งของสวีเดน
ช่วงกลางเดือนมีนาคม รัฐบาลได้ประกาศมาตรการชุดหนึ่งมูลค่ารวมเกือบๆ 32,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ที่ย่ำแย่
นับแต่นั้น ก็มีการจัดสรรเงินต่างๆ รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีก เป็นต้นว่า การลดเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องเป็นฝ่ายออกสำหรับการให้พนักงานลูกจ้างหยุดงานโดยไม่มีความผิด หรือในเวลาที่พนักงานลูกจ้างลาป่วย
อย่างไรก็ตาม โฮล์มเกรน แห่งเอสอีบีแบงก์ ยังคงมองแง่ดีว่า “เมื่อพิจารณาจากฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลแล้ว ยังมีช่องทางอยู่อีกสำหรับการใช้นโยบายการคลังแบบมุ่งกระตุ้นขยายเศรษฐกิจในระยะเวลาต่อไปข้างหน้า”
(เก็บความจากเรื่อง Sweden didn't lock down, but economy to plunge anyway ของสำนักข่าวเอเอฟพี)