ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ทาง SAC จะมีการจัดนิทรรศการชุดใหม่ จำนวน 2 ชุดนิทรรศการจาก 2 ศิลปิน ได้แก่ นิทรรศการ “Floriography” นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกโดย ไปรยา เกตุกูล จิตรกรผู้โดดเด่นในการวางจังหวะของสีสันอย่างแม่นยำและหมดจด ที่นำเสนอผลงานจิตรกรรมภาษาดอกไม้ สะท้อนความงดงามของช่อดอกหญ้าธรรมดาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศพิเศษเสมือนจักรวาลที่กว้างใหญ่และความหมายมากกว่าดอกไม้ที่เรารู้จัก ชวนให้ผู้ชมค้นพบความงามจากธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่ง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (เพิ่มเติม https://www.sac.gallery/exhibitions/floriography/)
และนิทรรศการ “Traveling Treasures” โดย ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินนักออกแบบที่ขยายนิยามของการถักทอไปสู่การผสานวัสดุหลายๆ ชนิดเข้าด้วยกัน เป็นผลงานได้รับจากการเป็นศิลปินในพำนักที่ Bamboo Curtain Studio (BCS) ปี พ.ศ.2562 ที่ได้สะสมความคิด เทคนิคและวิธีนำเสนอถ่ายทอดลงในนิทรรศการเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารกับผู้ล่วงลับ เยียวยาความรู้สึก ความทรงจำ จิตวิญญาณของเราผ่านรูปแบบของงานศิลปะบนพื้นฐานของการพยายามหาความสอดคล้องต่อความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการออกแบบ และการสร้างสรรค์งานศิลปะ เปิดให้เข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (ข้อมูลเพิ่มเติมจะอัพเดตทางเว็บไซต์เร็วๆ นี้)
Taveling Treasures
ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ (Patipat Chaiwitesh)
27 June – 9 August 2020 @ Subhashok the Arts Centre
ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ คือศิลปินนักออกแบบที่ขยายนิยามของการถักทอไปสู่การผสานวัสดุหลายๆ ชนิดเข้าด้วยกัน บนพื้นฐานของการพยายามหาความสอดคล้องต่อความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการออกแบบ และการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งในนิทรรศการ Traveling treasures เราจะได้เห็นมโนทัศน์ของการ “เปลี่ยน” สิ่งของที่เคยเห็นกันอย่างคุ้นชินในพิธีกรรมสู่บทบาทหน้าที่ใหม่อย่างท้าทาย
จากการเป็นศิลปินในพำนักที่ Bamboo Curtain Studio (BCS) ณ ไต้หวัน เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ปฏิพัทธิ์ครุ่นคิดถึงวัฒนธรรมการสื่อสารกับพื้นที่ทางความเชื่อในพิธีกรรม หากไฟเคยทำหน้าที่สื่อสารให้ทรัพย์สมบัติจำลองได้นำไปสู่ผู้รับ นิทรรศการ Traveling treasures ครั้งนี้ จึงได้รับการสะสมความคิด เทคนิค วิธี ที่ต้องการจะเป็นนิทรรศการเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารกับผู้ล่วงลับ เยียวยาความรู้สึก ความทรงจำ จิตวิญญาณของเราผ่านรูปแบบของงานศิลปะ
การหยอกล้อความเป็นมงคลของวัตถุ โชคชะตา หรือการเป็นทรัพย์สินมีค่า ปฏิพัทธิ์ ได้ใช้เวลาครุ่นคิดถึงการวิพากษ์วัฒนธรรมเฉพาะถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกี่ยวกับพื้นที่ภายในความเชื่ออันแข็งแรงที่ดูราวกับปรับเปลี่ยนได้ยากยิ่งนี้ สิ่งของหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระดาษเงิน กระดาษทอง สมัติจำลองต่างๆ ที่เราต่างใช้ในพิธีกรรมเพื่อสื่อสารกับชีวิตหลังความตาย การเผาไหม้อาจจะไม่ใช่วิธีเดียวในการสื่อสาร เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังสวนทางกับโลกปัจจุบัน เมื่อความห่วงใยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องสภาพอากาศ และฝุ่นควันรอบตัวเราเริ่มมีความสำคัญกับชีวิตมากขึ้นทุกขณะ นิทรรศการนี้ผู้ชมจะได้เห็นความพยายามที่ศิลปินจะนำเสนอวัสดุทดแทนชนิดต่างๆ หรือกระทั่งการนำซากวัสดุกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ บนทางแยกระหว่างความคงทนของวัสดุและภาวะอันเปราะบางของจิตวิญญาณ ระหว่างการเผาไหม้กับความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม
นิทรรศการ Traveling treasures ได้นำจุดยืนของศิลปินทั้งในฐานะนักออกแบบ ความสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และการทำงานศิลปะร่วมสมัย เข้ามาผสมผสานเพื่อตั้งคำถามเชิงทดลองต่อการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานของวัตถุที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และชีวิตหลังความตาย นิทรรรศการ Traveling treasures จัดแสดง ณ พื้นที่ของ หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre) นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. – 9 ส.ค. พ.ศ. 2563 โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 18:00 น.
27 มิ.ย. 63 - 26 ก.ค. 63
ไปรยา เกตุกูล จิตรกรผู้โดดเด่นในการวางจังหวะของสีสันอย่างแม่นยำและหมดจด การรังสรรค์หมู่มวลดอกไม้ด้วยจิตรกรรมของไปรยานั้นปรากฏตัวด้วยขนาดที่ขยายใหญ่กว่าความเป็นจริงเพื่อปะทะกับผัสสะ ประจันหน้ากับผู้ชมด้วยเส้นสาย สีสันชุ่มฉ่ำที่ปาดป้ายอย่างนับไม่ถ้วนจากทัศนียภาพของกลุ่มวัชพืชที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ไปรยาแต้มสีสันจนกลายเป็นจักรวาลขนาดเล็กบนระนาบของจิตรกรรมทิวทัศน์ จากความรกชัฏและยุ่งเหยิงปรากฏกลายเป็นความงามเรืองรองเหนือจริง
Floriography คือนิทรรศการที่จะพาผู้ชมเดินทางไปในโลกของดอกไม้ผ่านภาษาทางจิตรกรรม ทราบกันดีว่าดอกไม้คือสัญลักษณ์ของการสื่อสารความรู้สึก หรือภาวะที่อยู่ภายในจิตใจ ดอกไม้สวยงามหลายชนิดถูกให้คุณค่าทางความหมาย และหลายชนิดก็มีมูลค่าสูง ผู้คนรู้จักที่จะใช้ดอกไม้สวยงามในการสื่อแทนความหมายที่ยากจะพูด แต่ไปรยาในฐานะจิตรกร กลับมองเห็นความงดงามของช่อดอกในพงไม้ใบหญ้าธรรมดาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศพิเศษและเต็มไปด้วยความหมายที่มากกว่าดอกไม้ทั่วไปที่เรารู้จัก
การค้นพบความงามจากธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่งกลายเป็นตัวแทนสภาวะภายในที่โดดเด่นของศิลปิน ไปรยาแสดงศักยภาพในฐานะจิตรกรคุณภาพรุ่นใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดอกไม้เหล่านี้คือความแข็งแกร่ง และยืนหยัดอย่างงดงามในสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต และความงามที่ไร้การปรุงแต่งเหล่านี้อาจจะเป็นความรู้สึกภายในที่หลบซ่อนอยู่ในใจของใครหลายๆ คน
นิทรรศการ Floriography คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ไปรยา เกตุกูล ซึ่งเป็นการเปิดตัวผลงานจิตรกรรมภาษาดอกไม้ที่ชัดเจน วิจิตร และเต็มไปด้วยแง่งามในธรรมชาติที่แสนธรรมดาในพื้นที่ของ หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre) นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. - 26 ก.ค. พ.ศ. 2563 โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 18:00 น.
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม