หลังจากสำนักพระราชวังประกาศเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากปิดให้เข้าชมมานานกว่า 2 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางมาชมสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม รวมถึงมากราบสักการะขอพรพระแก้วมรกต โดยผู้เข้าชมทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) สามารถเข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. โดยอนุญาตให้ประชาชนเข้าที่ประตูวิเศษไชยศรี และออกที่ประตูวิมานเทเวศร์ เมื่อเดินเข้าผ่านประตูเข้าไปแล้วจะต้องเดินทางเส้นทางที่จัดไว้ ผ่านจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ
ภายในวัดพระแก้วมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม ถือเป็นที่รวบรวมแห่งศิลปกรรมของไทยเลยก็ว่าได้ การเข้าชมวัดพระแก้วในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดี เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวไม่มาก ทำให้สามารถเดินชมสถาปัตยกรรมอันวิจิตรได้อย่างเพลิดเพลิน ครั้งนี้จึงขอชวนมาชมสิ่งที่น่าสนใจ กับ “10 ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดในวัดพระแก้ว” ให้ทุกคนไปเยี่ยมชมกัน
พระอุโบสถ
ในวัดพระแก้วมีสิ่งน่าสนใจให้ชมงมงามหลากหลาย และจุดที่ไม่ควรพลาดอยู่ที่พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานพระอุโบสถหย่อนท้องช้างเป็นเส้นโค้ง หลังคาทรงไทย 4 ชั้นลด หน้าบันจำหลักลายรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมรอบด้วยลายก้านขดเทพนม ลงรักปิดทองประดับกระจก
การเข้าไปชมด้านในพระอุโบสถนั้น จะต้องถอดรองเท้าวางไว้บริเวณด้านนอกก่อนเดินเข้าไปกราบสักการะด้านใน และควรนั่งตามจุดที่ได้ทำเครื่องหมายเอาไว้ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างกัน
พระแก้วมรกต
ภายในพระอุโบสถนั้นจะมีองค์พระประธานมีชื่อเต็มว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากหินสีเขียวงดงาม หรือที่เรียกกันว่า “พระแก้วมรกต” มีพระพุทธลักษณะเป็นศิลปแบบล้านนาตอนปลาย ประทับนั่งปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ องค์พระแกะสลักจากเนื้อหยกสีเขียวทึบชิ้นเดียว
ฝาผนังด้านในทั้ง 4 ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระแก้วมรกตเป็นภาพมารผจญ ผนังหุ้มกลองด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ ผนังด้านข้างเป็นภาพพระปฐมสมโพธิกถาและชาดก รวมทั้งภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและทางสถลมารค
หมอชีวกโกมารภัจจ์
รูปหล่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นรูปหล่อสำริดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นหมอที่ถวายการรักษาพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งคนไทยได้ยกย่องให้เป็นบิดาการแพทย์แผนโบราณ บริเวณด้านหน้าตั้งหินบดยา ซึ่งในสมัยโบราณจะนำสมุนไพรมาบดที่นี่ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ยาสมุนไพรนั้นมีสรรพคุณมากยิ่งขึ้น
พระศรีรัตนเจดีย์
อีกหนึ่งความโดดเด่นที่อยู่ในวัดพระแก้วก็คือ “พระศรีรัตนเจดีย์” เป็นเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2398 สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระศรีรัตนเจดีย์นี้ถอดแบบมาจากพระเจดีย์ 3 องค์ วัดพระศรีสรรเพชญ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ต่อมาได้มีการตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง (ทำจากทองคำเปลว) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมณฑป
พระมณฑปนี้สร้างขึ้นแบบสถาปัตยกรรมทรงไทย เลียนแบบพระมณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในจังหวัดสระบุรี ภายในตั้งตู้ไม้ประดับมุกประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ผนังด้านนอกทำลายเทพพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน รวมบันไดทำรูปนาค 5 เศียร มีใบหน้ามนุษย์ บานพระทวารทั้ง 4 ด้านประดับมุก ฐานพระมณฑปบริเวณหน้าพระทวารตั้งแต่งรูปยักษ์ทวารบาล ด้านละ 1 คู่ และบริเวณมุมทั้ง 4 ก่อแท่นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทำด้วยหินอัคนี ซึ่งรัฐบาลชวาได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสชวาในปีพ.ศ. 2414 แต่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในปัจจุบันเป็นองค์จำลอง สำหรับองค์จริงนำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ปราสาทพระเทพบิดร
“ปราสาทพระเทพบิดร” เป็นสถาปัตยกรรมจัตุรมุขทรงไทย หลังคายกยอดปราสาทแบบปรางค์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2399 เมื่อแรกสร้างทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระแก้วมรกตจากพระอุโบสถมาประดิษฐานไว้ที่หอพระนี้ แต่เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปรากฎว่ามีขนาดเล็กเกินไป ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญเจดีย์กาไหล่ทองขนาดเล็ก จากสวนศิวาลัยภายมาประดิษฐานไว้ภายใน แต่ในปี พ.ศ. 2446 ได้เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เพลิงไหม้ที่หลังคาปราสาท การซ่อมแซมได้ดำเนินมาและแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท มาประดิษฐานภายในโถงกลางปราสาท พร้อมทั้งอัญเชิญพระเทพบิดรจากพระวิหารยอดมาประดิษฐานที่ซุ้มจรนำมุขตะวันตก และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก “พระพุทธปรางค์ปราสาท” มาเป็น “ปราสาทพระเทพบิดร”
นครวัดจำลอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระสามภพพ่ายถ่ายแบบมาจากนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา แต่การก่อสร้างนครวัดจำลองยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชสมัยไปเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ดำเนินการสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์
หอระฆัง
เมื่อแรกสร้างวัดพระแก้ว หอระฆังที่สร้างในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สร้างด้วยเครื่องไม้ ต่อมาได้ชำรุดไปตามกาลเวลา โดยหอระฆังที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมไทยทรงมณฑป ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยและกระเบื้องดินเผา
ยักษ์ทวารบาล
ภายในวัดพระแก้วยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ใครเดินทางมาเยี่ยมชม จะต้องไม่พลาดมาถ่ายรูปเก็บภาพความประทับใจก็คือ “ยักษ์ทวารบาล” มีลักษณะการก่ออิฐถือปูน ทาสีและประดับกระเบื้องเคลือบ มีขนาดสูง 6 เมตร รวมจำนวน 6 คู่ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยักษ์ทวารบาลเหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
พระระเบียงและจิตรกรรม
บริเวณโดยรอบภายในวัดพระแก้ว มีพระระเบียงจะล้อมรอบปูชนียสถานทั้งหมดของวัดไว้ภายใน ยกเว้นพระปรางค์ 6 องค์ ซึ่งในอดีตพระปรางค์ทั้ง 8 องค์ ตั้งอยู่ภายนอกพระระเบียง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขยายฐานไพทีมาทางด้านทิศตะวันออก ทำให้ต้องขยายพระระเบียงหักมุมโอบล้อมพระปรางค์องค์ที่ 3 และ 4 ไว้ภายในวัด
ภายในพระระเบียงตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ เป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เขียนด้วยสีฝุ่น ครั้งแรกเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมามีการเขียนซ่อมอีกหลายครั้ง แต่ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นการเขียนซ่อมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยภาพทั้งหมด 178 ห้องภาพ โดยห้องแรกเริ่มต้นที่ด้านหน้าพระวิหารยอด และลำดับภาพมาทางขวามือหรือเวียนทักษิณาวรรต
นอกจาก 10 ไฮไลต์ที่คัดมาให้ชมความงดงามแล้ว ภายในวัดพระแก้วยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่วิจิตรงดงามถือได้ว่าเป็นสุดยอดของศิลปกรรมไทยในทุกด้าน ลองหาโอกาสมาเยี่ยมชมกันได้
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เปิดเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 8.30 น. ถึง 15.30 น. คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีค่าเข้าชม 500 บาท
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR