xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ดรีมทีมเศรษฐกิจใหม่” จะไหวเร้อ จับตา “ ศิริ” ลอยมานั่งที่ปรึกษาพลังงานได้ไง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ดรีมทีมเศรษฐกิจใหม่ออกสตาร์ทโชว์ผลงานอันดับแรกอุ้มเอสเอ็มอีอัดฉีดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้วยความหวัง “เราจะรอดไปด้วยกัน” ขณะที่ตัวเลขคนตกงานยังน่าห่วง ประชาชนคนไทยทุกข์เข็ญสะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด รายได้แผ่นดินหลุดเป้ากระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวกู้เพิ่มกว่าสองแสนล้านโปะงบประมาณปี 63 ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่คุกรุ่นด้วยบรรยากาศของการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะของแฟล็ชม็อบ และที่น่าสนใจมองข้ามไม่ได้ในดรีมทีมเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การกลับมาของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มานั่งแท่นเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการคนปัจจุบัน จนมีเสียงร่ำลือกันว่าใช่มารับบทเป็นปู่โสมกลับมาเฝ้าทรัพย์หรือไม่ อย่างไร 

ก่อนจะไปส่องว่าทีมเศรษฐกิจใหม่กำลังคิดทำ คิดสร้างผลงานอะไรกันอยู่ มาดูคอนเนกชันกับผลงานในมิติพิศวงที่ถูกปิดลับของก๊วนบิ๊กพลังงานในกระทรวงที่โยงใยถึงเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับการเอื้ออาทรเป็นพิเศษกันเสียก่อน

เรื่องของเรื่องก็คือว่าหลังจากที่ รมว.พลังงานคนใหม่  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  ตั้ง  นายศิริ จิระพงษ์พันธ์  เป็นที่ปรึกษาฯ ก็ถามไถ่กันให้แซ่ดว่ามาได้ยังไง แต่จะว่าไปนายศิริ ที่เข้ามารับตำแหน่งรมว.พลังงานต่อจาก  “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เพื่อนลุงตู่ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรกก็หาใช่คนอื่นไกลแต่เป็นคนที่นายสุพัฒนพงษ์ คุ้นเคยดีด้วยเป็น “แบงก์บัวหลวงคอนเนกชัน” กันมา

สปอร์ตไลท์ฉายกลับมาที่นายศิริ อีกหน่อย ต้องบอกว่าผลงานกว่า 1 ปี 7 เดือนเศษ ในตำแหน่งรัฐมนตรีของเขาที่ผู้คนจดจำได้บ้างก็คือ การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่สิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 (เอราวัณและบงกช) หลังจากที่ยืดเยื้อมานานโดยได้ผู้ชนะทั้งสองแหล่งคือบริษัท ปตท.สผ. อีกเรื่องคือการรื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018

ที่สังคมกังขาฟังว่าตอนนั้นเกิด “มติพิศวง” จากการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในสองเรื่องตามที่อ้างแผน PDP โดยเฉพาะเหตุผลการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีการประมูล รวมทั้งการอนุมัติให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรื่องสำคัญดังกล่าวอยู่ใน มติ กบง. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 โดยที่ถูกสั่งเก็บเงียบเป็นเรื่องลับไว้นานกว่า 5 เดือน

กระทั่งเมื่อ  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เข้ามารับตำแหน่งต่อจากนายศิริ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงนำมติพิศวงดังกล่าวมาเผยแพร่ และวงการธุรกิจพลังงานวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้นกันขรม ต่างก็สงสัยกันว่าเบื้องหลังของนายศิริ มีเงาทะมึนของทุนพลังงานใหญ่หนุนอยู่หรือไม่? ขณะที่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกหรือกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแทบไม่ปรากฏผลงานในเชิงรูปธรรมที่เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งนโยบายเรื่องโซล่าร์รูฟท็อป หรือโรงไฟฟ้าชุมชน

เมื่อนายศิริ คัมแบ็กกลับมาที่กระทรวงพลังงาน ช่วยให้คำปรึกษานายสุพัฒนพงษ์ ขับเคลื่อนขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าครั้งนี้ ก็เกรงๆ และห่วงกันว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ถูกวางไว้ว่าจะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจฐานรากก็คงไม่มีอนาคต หรือหากจะมีก็ให้จับตาการพลิกแพลงเงื่อนไขที่ให้เอกชนรายเล็กร่วมกับชุมชนเป็นเจ้าของร่วมออกหน้าไปก่อน แต่สุดท้ายจะรอให้ทุนใหญ่กินรวบแบบเข้าประตูหลังหรือ “แบ็กดอร์” ในที่สุดหรือไม่

นับเป็นเรื่องน่าสนใจติดตามยิ่งว่านายศิริ คือ “ปู่โสม” ที่ใครบางคนส่งมาเฝ้าทรัพย์ หรือไม่?

ดรีมทีมปั้นผลงานอุ้มเอสเอ็มอี-ช่วยคนตกงาน
สำหรับการปรับครม.ที่มีหัวใจสำคัญคือการโละทีมเศรษฐกิจเดิมออกไป เปิดทางดรีมทีมใหม่เข้ามาทำงานแทน เป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกที่กำลังข้ามน้ำเชี่ยวขับเคี่ยวกับสงครามไวรัสโควิด-19 ซึ่งแม้คนไทยจะไม่ตกอยู่ในสภาพตายเป็นเบือเหมือนเมืองนอกเมืองนา แต่ก็เรียกได้ว่าอยู่กันยากลำบาก ดังนั้น เมื่อทีมใหม่มาจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือทำให้เศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตและฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด ประชาชนลืมตาอ้าปากกินอิ่มนอนอุ่นกันถ้วนหน้า

สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังไหลรูดไม่หยุด เป้าหมายแรกที่ดรีมทีมเข้าโอบอุ้มก่อนใครอื่นคือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยุงเศรษฐกิจฐานราก และได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยก่อนการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเสนอมาตรการดูแลเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

สอดรับนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มอบหมายให้กับคณะทำงานของ ศบศ. เข้าไปดูแลเอสเอ็มอีและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมาตรการที่ออกมาต้องมีความยั่งยืน กระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ จูงใจให้ธุรกิจคงการจ้างงาน และเน้นการจ้างแรงงานนักศึกษาจบใหม่


 ในการประชุม ศบศ. เมื่อวันที่ 19 ส.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงที่มาของ ศบศ.เพื่อเดินแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะแบ่งยุทธวิธีเป็นคณะทำงานระดับจังหวัดโดยใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับไมโคร ที่มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนรับผิดชอบรายจังหวัด ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาทในการขับเคลื่อน 


 ส่วน ศบศ.จะรับผิดชอบในระดับนโยบายหรืองานระดับแมคโคร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่เรียกว่ารวมไทยสร้างชาติ โดยแบ่งกรอบการทำงาน 3 ส่วน คือชุดเร่งด่วน ที่เน้นพิจารณามาตรการเชิงรับ ดูแลให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติระยะสั้น โดยส่วนนี้ใช้งบประมาณจากกรอบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท, ชุดระยะปานกลางและระยะยาว จะเข้ามาดูเรื่องอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤติ และชุดรับฟังความคิดเห็น ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และคัดกรองเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป 

นอกจากคณะกรรมการที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชุดคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน โดยโครงสร้างกรรมการชุดนี้ มีปลัดทุกกระทรวง รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเข้ามาติดตามประเมินผลทุกนโยบายที่ขับเคลื่อนหลังจากนี้

นอกจากนั้น ยังมีภารกิจที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากคือ สร้างการจ้างงาน สนับสนุนให้ภาคธุรกิจอยู่รอด และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยจัดทำบิ๊กดาต้าให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการจ้างงานครอบคลุมทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีตัวเลขคนตกงานรวมกว่า 8 แสนคน คนตกงานในระบบประกันสังคม 4 แสนคน นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ 4 แสนคน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำแต่อยู่ในธุรกิจกลุ่มเสี่ยง และดูแลสภาพคล่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

สำหรับการดูแลเอสเอ็มอีนั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเรก  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อซอฟท์โลนพลัส เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ได้มากขึ้น คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 34,700 ราย และเข้าถึงเงินกู้เฉลี่ยรายละ 1.6 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ รวมวงเงินโครงการ 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี

ขยายความเพิ่มเติมจาก  นายลวรณ แสงสนิท  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ตามมติครม.ที่ออกมาอุ้มเอสเอ็มอีว่า กระทรวงการคลัง เตรียมวงเงิน 114,100 ล้านบาท ดูแล SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนอย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม SMEs ทั่วไป กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้


 กลุ่ม SMEs ทั่วไป  จะมีสินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท

และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนด เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan

อีกหนึ่งคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

 กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว  แยกเป็น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

สุดท้าย  กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน  จะมีสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 - 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธันวาคม 2563

ขณะเดียวกัน ดรีมทีมเศรษฐกิจใหม่อีกคนคือ  นายปรีดี ดาวฉาย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จะเน้นดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าครองชีพ และการจ้างงาน ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา จะไปช่วยเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ และเน้นดูแลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งท่องเที่ยวและการบริโภคที่ซบลงหลังโควิด-19 ระบาด

ส่วนสเตปต่อไปหลังสถานการณ์คลี่คลายจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลเสถียรภาพทางการคลังควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้…แต่จะไหวหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

จัดเก็บรายได้หลุดเป้า กู้โปะงบสองแสนล้าน
สำหรับการจัดเก็บรายได้แผ่นดินหลุดเป้าและการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวล โดยที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ประกอบด้วย การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล,

การนำรายการหนี้ของ บมจ. การบินไทย (THAI) ออกจากแผนฯ เนื่องจากพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และปรับกรอบและวงเงินบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของ 4 รัฐวิสาหกิจ คือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน


 ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว ส่งผลให้วงเงินตามแผนเดิมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 1) แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498 ล้านบาท เป็น 1,656,020 ล้านบาท 2) แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 67,267 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777 ล้านบาท เป็น 968,510 ล้านบาท และ 3) แผนการชำระหนี้ ปรับลด 22,329 ล้านบาท จากเดิม 389,373 ล้านบาท เป็น 367,043 ล้านบาท 


 การปรับปรุงแผนฯ ข้างต้นส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด 

สำหรับกรณีที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในไตรมาส 2/63 ออกมาหดตัว -12.2% นั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไทยมีสัดส่วนของรายได้จากท่องเที่ยวและการส่งออกต่อ GDP ค่อนข้างสูง ทำให้ได้รับผลกระทบมากแต่ยังมีประเทศอื่นที่แย่กว่าไทย

ก่อนหน้านี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไตรมาส 2/2563 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ ตัวเลขผู้ว่างงาน ล่าสุดมีแรงงานที่อยู่ในระบบตกงานเพิ่มขึ้น 420,000 คน และอีก 1.7 ล้านคน ยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำ แต่ยอมลดเงินหรือหรือหยุดทำงานชั่วคราวโดยไม่รับเงินเดือน แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะตกงาน หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และธุรกิจต้องปิดกิจการลง

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อีก 16 ล้านคน อาจขาดสภาพคล่อง หากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเกิดการระบาดรอบ 2 รุนแรงถึงขั้นล็อกดาวน์เศรษฐกิจอีกรอบ อาจมีคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน

ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 1/2563 พุ่งขึ้นมาอยู่ 80.1% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2559 ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่รับได้ แต่มีโอกาสที่หนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น เพื่อส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้คืน

ด้านแบงก์ชาติ  นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวสูงที่ 12.2 % เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 9.7% จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ และเมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากการบริโภคภาคเอกชนและการสะสมสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นนั้น นายวิรไท สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า มีแนวคิดที่จะจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน แก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนด้วย โดยจะมีพันธมิตรจับมือเป็นภาคีจากหลายหน่วยงานร่วมกันทั้งที่มาจากภาคการเงิน และภาคการศึกษา ซึ่งแนวทางอาจเหมือนกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธปท. เป็นประธานกรรมการบริหาร กสศ.

ดูอาการแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ที่ยกยอปอปั้นกันว่าเป็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” นั้นจะไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประชาชนที่ลำบากลำบนอยู่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น