ทีม ศก.ใหม่เร่งนโยบายฟื้น ศก. เตรียมงัดมาตรการใหม่เพิ่มขึ้น และอาจนำมาตรการเก่ากลับมาใช้อีก เน้นการดูแลภาค ศก. ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ด้านขุนคลังมั่นใจปี 64 ศก.ไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ย้ำฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐได้มอบหมายนโยบายให้กระทรวงการคลังเพื่อให้ดูแลภาคประชาชนต่างๆ ที่เดือดร้อน โดยมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาใหม่ต้องเป็นมาตรการที่ยั่งยืน เสริมเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวในทิศทางที่ดี และที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการตั้งศูนย์บริหารเศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าจะป็นวิธีการทำงานที่รวดเร็ว และเชื่อว่าถ้าร่วมมือกันเป็นอย่างดีจะสามารถผ่านวิฤตในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน
แนวทางที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจากนายกรัฐมนตรีมี 5 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การให้ความช่วยเหลือ SME และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2.ความยั่งยืนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและค่อยๆ ผ่อนคลายความช่วยเหลือโดยตรง 3.จูงใจให้ภาคธุรกิจเกิดการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.ต้องมีการจ้างแรงงานใหม่จากนักศึกษาจบใหม่ และให้แรงงานเดิมที่ว่างงานกลับเข้าสู่ระบบ และสุดท้าย 5.ต้องบูรณาการข้อมูลและทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน
"การออกมาตรการต่างๆ จะเป็นการร่วมมือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่มาตรการจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว และเชื่อว่าในระยะเวลา 6-12 เดือนข้างหน้าจะเห็นผล และทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือจะต้องตรงจุดภายใต้วงเงินเดิมที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาก่อนที่วิกฤตจะสิ้นสุดและผ่านพ้นไป"
ทั้งนี้ การเผชิญต่อความไม่แน่นอนในการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสยังไม่สิ้นสุด การดำเนินมาตรการอาจมีทั้งมาตรการใหม่ที่เพิ่มขึ้น และอาจนำมาตรการเก่ากลับมาใช้ได้ ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หรือในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัส
“สิ่งที่เราต้องทำคือการดูแลภาคเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ซึ่งเราต้องมีมาตรการวิธีการผ่อนคลายประคับประคองผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลเองได้มีการจัดสรรงบประมาณดูแลเศรษฐิจ เน้นเรื่องหนี้สิน สภาพคล่องจากผูู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการกระตุ้นตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งการจ้างแรงงานเก่าและใหม่ ขณะที่แนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการ ซึ่งเตรียมเข้าดำเนินการเสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารเศรษฐกิจต่อไป” นายสพัฒนพงษ์ กล่าว
ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะใช้งบในกรอบวงเงินที่มีอยู่ ทั้งนี้ หากเกิดการระบาดรอบสองขึ้นมาอีก เงินอาจจะไม่พอ ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มเงินเพื่อช่วยเหลือ ทั้งนี้ มองว่าไม่อยากให้เกิดการระบาดรอบสอง อยากให้ทุกคนช่วยกันป้องกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฟื้นฟูจะเน้นกลุ่มที่เดือดร้อน ทั้งนี้ ต้องนำเสนอศูนย์บริหารเศรษฐกิจ แต่ที่จะมุ่งเน้นมากที่สุดคือการส่งเสริมเป็นหลัก
นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมนโยบายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนหดตัว -3.1% การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -10.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัว -10% และอัตราเงินเฟ้อ -1% ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าในปี 2564 จะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นในปี 2563 นี้ ได้แก่ เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนนักท่อที่ยวลดลง การใช้จ่ายลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลตัวกระทบส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจะดีขึ้น รวมถึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด ซึ่งเม็ดเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ในช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณจำกัดซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า
สำหรับนโยบายเร่งด่วน กระทรวงได้มองใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาด้านรายได้ การมีงานทำและค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่มีการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยเป็นต้น 2.ด้านนโยบายด้วยการดูแลประชาชน เช่น นโยบายด้านค่าครองชีพ การจ้างงาน การประคับประคองผู้ประกอบการ และในส่วนที่ 3.เป็นเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นที่ ประชาชน กลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เป็นหลัก
"กรอบวงเงินกู้เดิมยังเพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการกู้เงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพิ่มยืนยันว่าฐานะทางการคลังยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมและจะไม่เกินเพดานการก่อหนี้สาธารณะ แม้ว่ารายได้การจัดเก็บของภาครัฐจะลดลงก็ตาม"
สำหรับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยกระทวงการคลัง ได้วางรากฐานเศรษฐกิจใหม่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยให้มีการเติบโตที่ลดความเหลื่อมล้ำ