ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ปู่โสมกลับมาเฝ้าทรัพย์!! “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” จากอดีต รมว.พลังงาน กับผลงาน มติพิศวงที่ถูกปิดลับ ลอยลงมาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีคนปัจจุบันได้อย่างไร ?
พลันจากที่ รมว.พลังงานคนใหม่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ตั้ง “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” เป็นที่ปรึกษาฯ คำถามก็ดังขึ้นว่า ศิริ เป็นใคร มีดีอย่างไรถึงได้ลอยมานั่งแท่น “กุนซือ” รัฐมนตรีมือใหม่หัดว่าการกระทรวงที่ได้ชื่อว่า คุมขุมทรัพย์หลายแสนล้าน และทำหน้าที่กำกับองค์กรบิ๊กเบิ้มด้านพลังงานอย่าง ปตท. และ กฟผ.
สืบไปสืบมา อย่างแรกก็ต้องบอกว่า “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” วัย 66 ปี อดีตรัฐมนตรีพลังงาน สมัยรัฐบาล คสช. ช่วงท้ายที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากเพื่อนลุงตู่ “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ หาใช่คนอื่นคนไกล เป็นคนที่ “สุพัฒนพงษ์” คุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะเป็นเครือข่ายแบงก์บัวหลวงคอนเนกชั่นกันมา โดยว่ากันว่า “ศิริ” ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและประสานงานของ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด เขาเป็นผู้บังคับบัญชา “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ในขณะที่ ศิริ ย้ายมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ ในตำแหน่งรองผู้จัดการอาวุโส ด้านกิจการวานิชธนกิจ ตามคำชวนของ “ชาตรี โสภณพนิช” อีกทั้ง “ไพรินทร์-สุพัฒนพงษ์” ก็ได้ย้ายมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพด้วย โดย ชาตรี โสภณพนิช ให้ “ชาติศิริ โสภณพนิช” เป็นหัวหน้างาน
เมื่อ “สุพัฒนพงษ์” ผู้ซึ่งเป็นกุนซือด้านเศรษฐกิจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสายตรงนายกฯ ส่งมานั่งว่าการกระทรวงพลังงาน ชั่วโมงนี้ระหว่างทั้งสามคน “ศิริ-ไพรินทร์-สุพัฒนพงษ์” จึงเหมือนหวนคืนมาทำงานด้วยกัน โดย สุพัฒนพงษ์ ตั้ง ศิริ เป็นที่ปรึกษา ขณะเดียวกัน มีข่าวหนาหูในตอนนี้ว่า หนทางที่ ไพรินทร์ จะกลับมาเป็นใหญ่ใน ปตท. ก็สดใสยิ่ง ด้วยการผ่านการเข้าเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงจากสุพัฒนพงษ์ ที่ลาออกแล้วรอคั่วตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. คนใหม่ได้เลย
วกกลับมาที่ “ศิริ” นอกจากสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสายตรง คนของ “ลุงตู่” อย่างสุพัฒนพงษ์ และไพรินทร์ แล้ว ผลงานโดดเด่นเป็นประจักษ์อย่างที่สองที่จะเป็นกุนซือ กระทรวงที่ตบตีกันแทบตายนี้มีหรือไม่ ? พูดง่ายๆ ว่า “ศิริ” มีดีตรงไหนถึงได้ลอยลงมาเป็นที่ปรึกษา รมว.พลังงาน ก็ต้องบอกว่าผลงานกว่า 1 ปี 7 เดือนเศษ ในตำแหน่งรัฐมนตรี มีที่ผู้คนพอจะจดจำได้บ้างก็คือ การผลักดันให้การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ที่สิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 (เอราวัณ และบงกช ) หลังจากที่ยืดเยื้อมานาน ตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาล คสช. โดยได้ผู้ชนะทั้งสองแหล่ง เป็น “บริษัท ปตท.สผ.”
รวมถึงที่ถูกยกเคลมขึ้นเป็นผลงาน นั่นคือ การผลักดันแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP2018 แต่สังคมกลับกังขา ฟังว่าตอนนั้นเกิด “มติพิศวง” จากการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในสองเรื่องตามที่อ้างแผน PDP โดยเฉพาะเหตุผลการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีการประมูล รวมทั้งการอนุมัติให้ บ.เอกชนแห่งหนึ่งเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหิน เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรื่องสำคัญดังกล่าวอยู่ใน มติ กบง. วันที่ 25 ก.พ. 62 และวันที่ 3 พ.ค. 62 โดยที่ถูกสั่งเก็บเงียบเป็นเรื่องลับไว้นานกว่า 5 เดือน ต่อเมื่อ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก “ศิริ” สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้มีการนำมติพิศวงดังกล่าวมาอัปโหลดเผยแพร่ ซึ่งนั่นทำให้สังคมรับทราบว่า “มีมติแบบนี้ด้วย-แบบนี้ก็ได้เหรอ?” โดยที่วงการธุรกิจพลังงานวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้นกันขรม ต่างก็สงสัยกันว่าเบื้องหลังของศิริ มีเงาทะมึนของทุนพลังงานหนุนอยู่หรือไม่ ?
จากมติพิศวง ยุคของศิริ มักถูกวิจารณ์ว่า เอาแต่เอื้อทุนใหญ่ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก หรือกลุ่มโรงไฟฟ้าเล็กๆ แทบจะไม่มีปรากฏ
เมื่อ “ศิริ” คัมแบ็กกลับมาที่กระทรวงพลังงาน ช่วยให้คำปรึกษา “สุพัฒนพงษ์” ขับเคลื่อนขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าครั้งนี้ ก็เกรงๆ และน่าเป็นห่วงกันว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ถูกวางไว้ว่าจะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจฐานราก ก็คงไม่มีอนาคต หรือหากจะมี ก็ให้จับตาการพลิกแพลงเงื่อนไขที่ให้เอกชนรายเล็กร่วมกับชุมชนเป็นเจ้าของร่วมออกหน้าไปก่อน แต่สุดท้ายจะรอให้ทุนใหญ่กินรวบ “แบ็กดอร์” ในที่สุด
น่าสนใจติดตามยิ่งกับการกลับมาครั้งนี้ หรือว่า ศิริ คือ “ปู่โสม” ที่ใครบางคนส่งมา เฝ้าทรัพย์ ?
** “สมยศ” กับผลงานงามไส้ ส.ฟุตบอลไทย นับวันยิ่งถอยหลังลงคลอง จาก VAR ถึงข้อสงสัยเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์มหาศาลไปไหน?
ใครที่ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกจาก “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ถึง “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงการแถลงของ “ขจร เจียรวนนท์” ประธานสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด กับ “วิลักษณ์ โหลทอง” ประธานสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด คงรู้สึกเหมือนๆ กันว่า ฟุตบอลไทยมาถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักที นับวันยิ่งเสื่อม ถอยหลังลงคลอง
ขอยกตัวอย่างบางช่วงบางตอนของ จม.เปิดผนึกของ “มาดามแป้ง” มาให้ดูว่า ส.บอลฯ ยุคของ “พล.ต.อ.สมยศ” นั้นอัปยศอดสูแค่ไหน
กรณี VAR หลายสโมสรยินยอมจ่ายเงินซื้อระบบ รวมถึง “มาดามแป้ง” พร้อมจะให้เงินสปอนเซอร์ของเมืองไทยประกัน 16 ล้าน เอามาใช้จ่าย เพื่อตอบโจทย์ความชัดเจนและความยุติธรรมให้กับการแข่งขัน แต่แล้ววันนี้สมาคมฯ กลับบอกว่าทำไม่ได้ โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน
ตามข่าวก่อนนี้ “พล.ต.อ.สมยศ” แสดงออกว่า ส.ฟุตบอลฯ ไม่มีเงิน ถังแตก ต้องวิ่งพล่านหาเงินกู้เพื่อมาหล่อเลี้ยงไทยลีก ก็น่าแปลกใจว่าด้วยศักยภาพของระดับ พล.ต.อ.สมยศ ทั้งส่วนตัว และคอนเนกชัน ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจธุรกิจมีชื่อถือหุ้นอยู่ในบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้น กลับทำให้ ส.บอลฯ ดูน่าอนาถอนาถาได้ขนาดนี้
เรื่องเงินๆ ทองๆ ของ ส.บอลฯ จึงมีคำถามยุบยั่บไปหมด เช่น ใน จม. มาดามแป้ง ก็ระบุขอความชัดเจน “เรื่องเงินสนับสนุน” ที่จะให้กับสโมสรสมาชิกเต็มสโมสรไทยลึก 1 จะได้รับเงินสนับสนุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และยังมีการสนับสนุนเงินจำนวน 5 ล้านบาท ผ่านโครงการ FA Thailand Development
นี่เป็นคำมั่นสัญญาของสมาคมฯ ที่ให้ไว้กับสโมสรสมาชิก แต่ “พล.ต.อ.สมยศ” ก็ทำให้มันคลุมเครือ!!
“เรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด” ที่หายไป ก็อีกเรื่อง ใครจะถ่ายทอดสด จะถ่ายจำนวนกี่แมตช์ เพราะไม่ได้กระทบแค่กับสมาคมฯ แต่รวมถึงคำสัญญาของสโมสรที่มีให้กับผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลโก้ หรือสื่อประชาสัมพันธ์ของตนเองผ่านการถ่ายทอดสดในแต่ละนัด ก็หายไปด้วย
ตามด้วยที่มีข่าวผ่านสื่อ เกี่ยวกับงบดุลและเงินคงเหลือของสมาคมฯ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรายรับรายจ่าย ของสมาคมฯ ในแต่ละปี (2560-2562) ในฐานะสโมสรสมาชิกอยากขอให้สมาคมฯ ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจนโดยให้มีการตรวจสอบจากบุคคล หรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลางได้มาตรฐานสากลเพื่อความสง่างามและแสดงความจริงใจของสมาคมฯ
นี่ต้องบอกว่า เป็นอะไรที่ขัดเจนตรงไปตรงมาที่ “มาดามแป้ง” ยิงคำถามใส่ ส.ฟุตบอลฯ ตรงใจแฟนบอลไทยทั่วไป และบุคลากรฟุตบอลไทยทุกระดับอยากรู้เช่นกัน
ฟังว่า “พล.ต.อ.สมยศ” ก็ไม่ได้สะทกสะท้านในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยเฉพาะประเด็นเงินจ้าง VAR ตัดฉับไปว่า เงิน 16 ล้าน เอามาใช้ไม่ได้เพราะเป็นคนละส่วนกัน คล้ายๆ จะบอกว่า การแข่งขันไทยลีก ให้ปล่อยไปตามบุญตามกรรม มาตรฐานต่ำลงก็ไม่เป็นไร ผิดกับตอนที่เปิดตัวศูนย์ VAR เมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว “พล.ต.อ.สมยศ” จัดครึกโครม ประโคมโอ่เป็นผลงานใหญ่โตว่าฟุตบอลไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล
ทั้งๆ ที่ VAR ใช้ทุนต่อแมตช์ ประมาณ 82,000 บาท รวมๆ ทั้งฤดูกาล จำนวนเงินที่ “มาดามแป้ง” ยินดีจ่าย 16 ล้าน ก็หย่อนไปไม่เท่าไร ทำไม ส.บอลฯ จะหามาอุดไม่ได้ ?
คำถามก็ต้องวนกลับมาที่ ส.บอลฯ ภายใต้การบริหารของ “พล.ต.อ.สมยศ” เคลียร์ให้ชัดได้มั้ย กับข้อสงสัยผลประโยชน์ของสมาคมฯ และของไทยลีก คนในวงการอยากรู้ว่า ที่สมาคมฯ ได้เงินจากสปอนเซอร์มานั้น ได้ถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง
“พล.ต.อ.สมยศ” ปรากฏเป็นข่าวว่า เป็นตัวละครลับที่ไปเอี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถของ “คดีบอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี จนสังคมพากันวิพากษ์ เสื่อมศรัทธาต่อกระบวนยุติธรรม โดยที่ “พล.ต.อ.สมยศ” ไม่รู้ร้อนรู้หนาว
มาถึงเรื่อง ส.บอลฯ “พล.ต.อ.สมยศ” ก็กำลังทำให้แฟนบอลรู้สึกแบบเดียวกัน ทั้งเคลือบแคลงและสงสัย ไม่ไว้วางใจ ถ้ายังไม่เคลียร์ ไม่อธิบายก็ทำนายอนาคตฟุตบอลไทยได้เลย
อย่างงี้ต้องชูสามนิ้วให้อีกคนหรือเปล่า ?
** ปรากฏการณ์ ชู 3 นิ้ว ของ “เด็กดิจิทัล” ออกมาไล่ “ผู้ใหญ่อนาล็อก” กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสังคมไทยในวันนี้
ปรากฏการณ์ นักเรียนระดับมัธยมฯ ติด “ริบบิ้นขาว” หรือ “ชู 3 นิ้ว” หลังเคารพธงชาติในโรงเรียน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านอำนาจเผด็จการเมื่อช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ได้สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดา “ผู้ใหญ่” รวมทั้งครูบาอาจารย์ ในโรงเรียนไม่น้อย และยิ่งบางโรงเรียน มีปฏิกิริยา “ต่อต้าน” ภาพเหล่านี้ก็ถูกโพสต์ ถูกแชร์ ในโลกโซเชียลฯ ยิ่งทำให้เกิดการรับรู้ เกิดกระแสลุกลามในหมู่นักเรียนออกไปอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าที่มาของการติดริบบิ้นขาวจะเป็นสัญลักษณ์แทนการรณรงค์ “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” หรือการ “ชู 3 นิ้ว” จะได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่นางเอกได้ชู 3 นิ้ว เพื่อเป็นการแสดงการต่อต้านผู้ที่มีอำนาจ ... หรือมาจากประวัติศาสตร์การ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่เป็นสัญลักษณ์แทน “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” ... หรือ 3 นิ้ว ที่เป็นตัวแทนข้อเรียกร้องของ “ม็อบปลดแอก” 3 ข้อ คือ หยุดการคุกคาม-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-ไล่รัฐบาลให้ยุบสภา ...
แต่เชื่อว่า ความหมายการ ชู 3 นิ้ว ของนักเรียนมัธยม คือ แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลนี้ ...ไม่ใช่แทนคำปฏิญาณตนของลูกเสือ หรือถ้าไม่ชู 3 นิ้ว แล้วจะถูกเพื่อนๆ “บูลลี่” เข้ากลุ่มกับเขาไม่ได้ตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลว่า
ต้องไม่ลืมว่ายุคนี้เป็นยุค “ไฮเทคโนโลยี” ที่เด็กๆ สามารถรับรู้ข่าวสาร รู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลกมากกว่า “ผู้ใหญ่” เสียอีก ถ้านับย้อนไปอยู่ในวันเดียวกัน
ในด้านเศรษฐกิจ เด็กๆ ได้รับรู้ถึงปัญหาปากท้อง พ่อแม่ตกงาน ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เรียนจบแล้วก็ไม่รู้อนาคต จะมีงานทำหรือไม่ ... ในทางการเมืองได้เห็นบรรดานักการเมืองที่บอกว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เข้ามาเพื่อกอบโกย แย่งชิงผลประโยชน์ โดยเฉพาะช่วงปรับ ครม.ที่เพิ่งผ่านมานี้จะเห็นภาพได้ชัด... ในทางสังคมก็เห็นแต่การเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่เหนือกว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นสังคมที่อำนาจเงินเป็นใหญ่ “คดีบอส กระทิงแดง” นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สังคมใหม่” ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงแสดงออกมาในลักษณะของการต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นตัวแทนของ “สังคมแบบเก่า” !!
ยิ่งผู้ใหญ่มองอย่างไม่เข้าใจ เหมาเอาว่าการแสดงออกของเด็กมาจากการถูกชักจูง ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล...ซึ่งก็อาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่จะถูกไปเสียทั้งหมด ...เพราะคนรุ่นนี้ก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องการแสดงออก เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของพวกเขา ... ยิ่งถูกผู้ใหญ่ใช้อำนาจกดข่ม ปฏิกิริยาต่อต้านก็จะยิ่งรุนแรง ...โดยเฉพาะการแสดงพลังผ่านโลกโซเชียลฯ
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) กลุ่มนักเรียนมัธยมฯ ก็ได้ออกมาชุมนุม ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการช่วงหลังเลิกเรียน ปราศรัยโจมตีการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ล้มเหลว การที่ต้องออกมาเรียกร้องก็เพื่ออนาคตของพวกเขา ถ้ารัฐมนตรีไม่ทำเพื่ออนาคตของเด็กๆ ก็ให้ลาออกไป ... ซึ่งต่อมา “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ออกมาพบกับกลุ่มนักเรียน ซึ่งก็ถูกไล่ให้ไปต่อท้ายแถว ... ระหว่างนั้นก็มีกลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มาร่วมเป่านกหวีดไล่ “ณัฏฐพล” พร้อมตะโกนใส่ในเชิงเยาะเย้ยว่า... รู้สึกยังไง ที่เมื่อก่อนไปเป่านกหวีดไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอนนี้กรรมตามทันแล้ว...อย่างไรก็ตาม การแสดงพลังออกมาชุมนุมของกลุ่มนักเรียนก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย
ถึงวันนี้ “ผู้ใหญ่ในรัฐบาล” ต้องมาคิดวิเคราะห์ วางแผนกันแล้วว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองในอนาคตเพื่อ “คนรุ่นใหม่” กันอย่างไร ...ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปตามบริบทเดิมๆ...เพราะปัญหานี้มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างทางทัศนคติของยุคสมัย อันมีอิทธิพลมาจากเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดบุคลิกและการแสดงออกอย่างที่เห็น
ดังนั้น หากผู้ใหญ่ยังแก้ปัญหาแบบ “อนาล็อก” คงไม่ตอบโจทย์เด็กในยุค “ดิจิทัล” เป็นแน่แท้ !!