xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตัดจบ “เนตร นาคสุข” ก็แค่ “แพะ”ของ “เครือข่ายบ้านใหญ่” สังคมรับไม่ได้ “บอส” พ้นมลทิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เนตร นาคสุข
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะมีเรื่อง  “ม็อบธรรมศาสตร์จาบจ้วงเบื้องสูง”   มาเบี่ยงประเด็นความสนใจร่วมของสังคม แต่คดี  “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ก็ยังเป็นที่สนใจและเฝ้าติดตามว่า  “2 จำเลย” คือ  “สำนักงานอัยการสูงสุด”  และ  “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”  จะแก้ไขเรื่องให้ดำเนินไปในทิศทางใด

โดยเฉพาะ “สำนักงานอัยการสูงสุด” ที่แม้  “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด  คนที่สั่ง “ไม่ฟ้อง”  ในคดีดังกล่าวจะตัดสินใจ  “ลาออกจากราชการ” ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ความเคลือบแคลงที่มีอยู่จางหายไป ซ้ำร้ายกลับมองเห็นว่าเป็นเพียง  “การตัดตอน”  เป็นเพียง  “พิธีกรรม”  เพื่อมิให้สืบสาวราวเรื่องไปถึง “เครือข่ายบ้านใหญ่” อันเป็นขบวนการที่ช่วยให้ "บอสพ้นมลทิน” เท่านั้น

ด้วยเป็นไปไม่ได้ที่ “เนตร นาคสุข” จะกล้าตัดสินใจเพียงคนเดียวถ้าไม่มี  “เครือข่ายบ้านใหญ่”  เป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก”* ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

สำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า นายเนตรได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุด เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสั่งสำนวนคดีนี้ และเป็นการแสดงสปิริตแก่องค์กรอัยการ และต้องการให้ทุกคนในสังคมเกิดความสบายใจ
ขณะที่นายเนตรซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในการให้ปากคำต่อ “คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร” ก็ยืนยันว่าการสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ตามที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาทั้งหมด ไม่มีข้อเท็จจริงนอกสำนวนแต่ประการใด

นายเนตรระบุชัดว่า เหตุที่ไม่ฟ้องเพราะมีการสอบพยานใหม่หลังมีการร้องขอความเป็นธรรม และพบว่าผู้ให้ความเห็นความเร็วรถคนเดิม คือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นั้นมาเปลี่ยนคำให้การ ว่าไม่ใช่ 177 กม./ชม.เพราะวิธีคิดไม่ตรงกัน เมื่อคำนวณจากวิธีใหม่ ทำให้ความเร็วเหลือแค่ 79 กม./ ชม. ถือว่าไม่เกินกฎหมายกำหนด ประกอบกับพยานอื่นมาสนับสนุน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ก็ยืนยันว่าความเร็วที่คำนวณจากภาพวิดีโอ เร็วแค่เพียง 76 กม./ชม. ไม่ถึง 80 กม./ ชม.รวมทั้งมีพยาน 2 ปากที่ได้จากการสอบสวน ได้แก่ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และ นายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่าความเร็วของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กม./ชม. และพบว่าผู้ตาย เปลี่ยนเลนกะทันหัน จากซ้ายสุด มาขวาสุด ซึ่งเมื่อพยานให้การอย่างนี้ ความเร็วของรถนายวรยุทธ ไม่เกิน 80กม./ชม. ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะฉะนั้นถือว่าหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไม่พอฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาความผิดฐานขับรถชนโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจึงสั่งไม่ฟ้อง

ด้านสำนักงานอัยการสูงสุดเองนั้น ก็ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา โดยมี “นายสมศักดิ์ บุญทอง” อดีตรองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน

อย่างไรก็ดี การลาออกของนายเนตรกลับทำให้สังคมคลางแคลงใจหนักขึ้นด้วยเห็นว่า เป็น “การตัดตอน” ความผิดของนายเนตรให้หมดไป โดยมีความวิตกกังวลว่าหากอัยการสูงสุดอนุมัติ ก็จะเป็นผลทำให้ไม่มีความผิดวินัย โดยเฉพาะกรณีการลงนามในหนังสือ “สั่งไม่ฟ้อง” กลับคำสั่งเดิมของ “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” อัยการสูงสุดคนเก่านั้น อาจเข้าข่ายการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เทียบเคียงได้กับคดีในอดีต ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3278/2522

เพราะหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ “นายคณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด กรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความรับผิดชอบของอัยการในการสั่งคดี” ในการเสวนาหัวข้อ การตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดี ปัญหาอยู่ตรงไหน? คนหรือระบบ? ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้สั่งฟ้องไปแล้ว แล้วคนอื่นจะเปลี่ยนคำสั่งได้อย่างไร อัยการสูงสุดเท่านั้นต้องเป็นผู้สั่ง ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ถือว่าผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับ “นายอรรถพล ใหญ่สว่าง”ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของ นายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คือคำสั่งของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่สั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้

กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้ว และให้ยุติกรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบคำร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้ดำเนินการเพิ่มเติมโดยมิได้ขออนุญาตหรือความเห็นชอบต่ออัยการสูงสุด ซึ่งคดีนี้ทราบว่าไม่มีการขอ ขั้นตอนต่อไปหลังออกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวไม่อาจมีผลใช้บังคับ

ทีนี้ ก็มาถึงประเด็นสำคัญเพราะจากคำชี้แจงของนายเนตรรวมทั้ง ”นายสมัคร เชาวภานันท์”  ทนายความของนายวรยุทธ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ต้นสายปลายเหตุสำคัญอันทำให้คดีพลิกอยู่ที่ “ขบวนการร้องขอความเป็นธรรม” และ “รายงานของกมธ.กฎหมายฯ สนช.” ซึ่งมี “นายธานี อ่อนละเอียด” เป็นประธาน ที่เข้าไปอยู่ในสำนวนการสอบสวน

ต้องไม่ลืมว่า หลายฝ่ายสงสัยและเชื่อกันว่า คดีบอสที่พลิกให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น มาจากการที่ กมธ.ชุดนี้ ที่ว่ากันว่า มีมือไม้ของ “เครือข่ายบ้านใหญ่” ร่วมกับ มือไม้ด้านกฎหมาย ของบอส ประสานเสริมกัน เห็นช่องชงเรื่องขอความเป็นธรรมเข้ามาแล้วให้ กมธ. เรียกตำรวจ เรียกคนเกี่ยวข้องมาสอบ หาจุดพลิกของคดีจนมีพยานเพิ่มเติม และมีข้อสรุปส่งต่อให้อัยการสูงสุด ก่อนจะสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมตามที่อัยการขอ

และถ้าหากสืบสาวลงไปในรายละเอียดก็จะเห็นว่า มี “ตัวละครสำคัญ” ที่ปรากฏอยู่ในรายงานของกมธ.กฎหมายฯ สนช.

นั่นก็คือ “ 2 พยานปากเอก” คือ “บิ๊กต้อย-พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร” และ “จารุชาติ มาดทอง” ซึ่งถือเป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญยิ่ง

จากบันทึกการประชุม กมธ.กฎหมายฯ สนช. ที่ว่ากันว่าเป็นจุดพลิกผันนำไปสู่การที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา พบว่ามีเอกสารร้องเรียนของ “วรยุทธ” คำให้การของพยาน พนักงานสอบสวน อัยการ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “บิ๊ก ต้อย-พล.อ.ท.จักรกฤช” หนึ่งในพยานปากเอกที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง

พล.อ.ท.จักรกฤชเดิมชื่อ “อนุศักดิ์” จัดเป็นนายทหารอากาศที่มากคอนเนกชัน โดยมาพร้อมกับสายสัมพันธ์“นายทหารระดับบิ๊กทัพฟ้า” อีก 3 คน ได้แก่ “พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์”อดีต ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) ที่ลูกน้องมักเรียกันว่า “นายกันต์” ตามต่อด้วย “พล.อ.ท.สุรเชษฐ์ ทองสลวย” และ “เรืออากาศเอกสอาด ศบศาสตราศร”

คำถามมีอยู่ว่า บรรดาบิ๊กทัพฟ้าที่มีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกันอย่างไร มีคอนเนกชันกับตระกูล “อยู่วิทยา” อย่างไร

เริ่มจาก “กัปตันสอาด” หรือเรืออากาศเอก สอาด ศบศาสตราศร

กัปตันสอาดเป็นนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรกๆ แต่ไม่ได้เติบใหญ่ในกองทัพอากาศไทย ด้วยตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อไปทำงานที่ “บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)” เติบโตจนเป็นฝ่ายบริหาร เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ

หลังจากออกจากการบินไทย ก็มานั่งเป็นประธานที่ปรึกษา บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด โรงเรียนการบิน ถือเป็นกัปตันทหารอากาศยุคเดียวกับช่วง “กัปตันโยธิน ภมรมนตรี” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

ขณะที่ “บิ๊กต้อย” พล.อ.ท.จักรกฤช เป็นที่รู้จักในแวดวงผู้กว้างขวาง หรือ สาย “เสธ.” และในแวดวงสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยการเปิด บริษัทพระพิราพ จำกัด ให้บริการรถลีมูซีน รถหรูในพื้นที่ท่าอากาศยานฯ ทั้งสองแห่งมานานพอสมควร ดังนั้น จึงน่าจะมีความคุ้นเคยกันดีกับ “กัปตันสอาด”

สำหรับ “บิ๊กแอ๊ะ” พล.อ.ท.สุรเชษฐ์ ทองสลวย จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 13 รุ่นเดียวกับ “บิ๊กต้อย” พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร “พยานปากเอกคดีบอส” ซึ่งให้ข้อมูลต่อ กมธ.กฎหมายฯ สนช.ว่า นั่งรถกลับมากับ “บิ๊กต้อย” ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน หลังจากไปงานวันเกิด เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต  นายทหารผู้กว้างขวาง

ต้องบอกว่า “พล.อ.ท.จักรกฤช” เป็นทหารที่ใกล้ชิดและให้ความเคารพ “เสธ.ไอซ์” เพราะเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 นักเรียนนายเรืออากาศรุ่น 20 เส้นทางการรับราชการก็ไม่ได้เติบโตในสายกำลังรบหลัก แต่เข้ามาในเส้นทางทหารเหล่า สห. รับราชการในกรมสารวัตรทหารอากาศ (สห.ทอ.) ก่อนจะติดยศนายพลที่กระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งที่  “พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา”  ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงาน รมว.กลาโหมขณะนั้น ซึ่ง “บิ๊กต้อย” ก็ได้รับการโปรโมตช่วงรับราชการที่กระทรวงกลาโหมมาเป็นอย่างดี

ว่ากันว่า มีความเป็นไปได้ว่าการที่ “พล.อ.ท.สุรเชษฐ์” มาเล่าเรื่องอุบัติเหตุของ “บอส” ให้ “พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์” อดีต ผบ.ทอ.ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วฟัง เนื่องจากเพื่อน ตท.13 เป็นทหารคนสนิท หรือ ทส.ของ “บิ๊กกันต์” ได้พามาพบ “นาย” ซึ่งประเพณีของกลุ่มนายทหารรุ่นต่างๆ มักจะไปตบเท้าหานายในวาระสำคัญๆ ซึ่ง ทอ.ก็จะมีบ้านนายที่คึกคักไม่กี่บ้าน เช่น บ้านนายกันต์ และบ้านนายเต้ (พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล) ซึ่งเพื่อน ตท.13 อาจชวนเพื่อนไปหานายเพื่อนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษา

และว่ากันว่า “พล.อ.อ.กันต์” น่าจะรู้จักกับครอบครัวอยู่วิทยา ผ่านทาง “มารดาบอส” ดารณี อยู่วิทยา  เหมือนกับ “พล.อ.ท.จักรกฤช” ที่คุ้นเคยกับดารณี ที่ต่างก็เป็น “เด็กดอน” หรือคนที่เติบโตมาในครอบครัวทหารอากาศด้วยกัน เนื่องจากบิดาของดารณี คือ “พล.อ.ต.ประสิทธิ์ แจ้งเจนกิจ”  ก็เป็นทหารอากาศเช่นเดียวกันนั่นเอง

รายงานยืนยันตรงกันว่า ทุกเช้ารถยนต์ของกรมการขนส่งทหารอากาศ (ขส.ทอ.) จะรับ-ส่งกำลังพลและลูก ๆ ของกำลังพล ที่มารอหน้าเรือนไม้ย่านดอนเมือง ขึ้นรถไปพร้อมกันเพื่อไปส่งโรงเรียนหลวงย่านนั้น และไปรับกลับบ้านทุกวัน ทำให้ลูกทหารอากาศในย่านนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกัน จนถูกนำไปผูกโยงกันระหว่าง พล.อ.ท. จักรกฤช กับครอบครัวฝั่งแม่ของบอส ที่เป็นทหารอากาศ

อีกทั้งยุคนั้น ผบ.ทอ.จะนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดการบินไทยโดยตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า “ผบ.กันต์” และ “กัปตันสอาด” จะรู้จักกัน เพราะเป็นนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรกๆ โดย “ผบ.กันต์” สอบผ่านการคัดเลือกเข้ามาศึกในโรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 1 ซึ่ง “กัปตันสอาด” น่าจะเข้าศึกษาในรุ่นใกล้เคียงกัน โดย รุ่นที่ 1-3 เป็นการสอบตรงไม่ผ่าน ร.ร.เตรียมทหาร อีกทั้งยังอยู่ในตำแหน่งบริหารการบินไทยเช่นเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

จากบันทึกการประชุม กมธ.กฎหมายฯ สนช.พล.อ.ท.จักรกฤช ให้การว่า หลังเกิดเหตุ ทราบข่าวทางโทรทัศน์ ว่าเป็นทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังเป็นคนชน แต่ไม่ได้ให้ความสนในอะไร กับเหตุการณ์ในคดีนี้ จนกระทั่งเดือนเมษายนปี 2558 ได้พบกับนายทหารรุ่นพี่ คือ ร.อ.สอาด ศบศาสตราศร และมาทราบว่ารุ่นพี่รู้จักกับ นายเฉลิม อยู่วิทยา บิดาของ นายวรยุทธ จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และ อีก 1 สัปดาห์ ร.อ.สอาด ได้เดินทางมาพบ ขอให้ไปเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้

จากนั้น คณะทำงานได้เชิญ พล.อ.ท.สุรเชษฐ ที่ขับรถมากับพล.อ.ท.จักรกฤช และ ร.อ.สอาด มาให้ข้อเท็จจริง ตรงกัน โดย พล.อ.ท.สุรเชษฐ์ ให้การเหมือนกับ พล.อ.ท.จักรกฤช ว่าหลังทราบว่าคนที่ขับชน เป็นทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ก็ไม่ได้ให้ความสนในอะไร กับเหตุการณ์ในคดีนี้ จนมีการร้องขอให้มาเป็นพยาน ขณะที่พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ให้การยืนยันว่า พล.อ.ท.จักรกฤช และ พล.อ.สุรเชษฐ์ เคยมาเยี่ยมที่บ้าน และได้มีการพูดคุยกันถึงข่าวของนายวรยุทธ และพล.อ.ท.จักรกฤช ก็เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่ง พล.อ.อ.กันต์ ยอมรับว่ารู้จักกับบิดาของนายวรยุทธ แต่ไม่ได้สนิทสนมกัน

นี่คือที่ไปที่มาและความสัมพันธ์ระหว่างกันของบรรดา “บิ๊กทัฟฟ้า” ที่กลายมาเป็นตัวช่วยในคดีของ “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา โดย กมธ.กฎหมาย ยุค สนช.จัดให้

ส่วน  “จารุชาติ มาดทอง”  อีกหนึ่ง “พยาน” ผู้ล่วงลับไปด้วย “อุบัติเหตุ” รถเฉี่ยวชนที่ผู้คนยังคงคลางแคลงใจเพราะช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจก็สามารถสืบสาวราวเรื่องไปได้ไกลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยเชื่อมโยงไปถึง นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือส.ว.ก๊อง  อดีตส.ว.เชียงใหม่ ที่เป็นเจ้านายเก่าของนายจารุชาติ และ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด

มีภาพปรากฏต่อสาธารณชนเป็นประจักษ์พยานว่า มีคนหน้าละม้ายคล้าย “บิ๊กอัยการ” ไปร่วมงานบวชของ ส.ว.ก๊อง โดยมีนายจารุชาติร่วมงานเดินตาม ส.ว.ก๊อง ด้วย

ที่สำคัญคือจากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า “บิ๊กอัยการ” และ ส.ว.ก๊อง เคยปรากฏภาพรวมงานด้วยกันหลายครั้ง เช่น 26 ตุลาคม 2562 ปรากฏภาพไปร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีถวาย ณ วัดปราสาท อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกัน พร้อมกับ นายนพรัตน์ นาคประเสริฐ อธิบดีอัยการ ภาค 5 ซึ่งตามข้อมูลพบว่า นายนพรัตน์ก็ไปร่วมงานบวชของส.ว.ก๊อง ด้วย

วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
นอกจากนี้ยังพบว่า ส.ว.ก๊อง เคยลงสมัครเป็นรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อช่วงต้นปี 2563 โดยสมัครในสัดส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ (ก.อ.บุคคลภายนอก) แต่ไม่ได้รับเลือก
ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ “ส.ว.ก๊อง” ยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลของเชียงใหม่ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “เฉลิม อยู่วิทยา”  พ่อของบอส ที่บังเอิญอย่างร้ายกาจอีกเช่นกันว่า ธุรกิจของเสี่ยเฉลิมควักเงินก้อนโตเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรฟุตบอลของ ส.ว.ก๊อง แถม ส.ว.ก๊องก็เป็นนายจ้างของ “จารุชาติ มาดทอง” พยานปากเอกที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไป เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เดินข้างๆ คนที่หน้าตาดูคล้าย อัยการสูงสุด มีคนหน้าคล้าย “อดีตตำรวจใหญ่” ซึ่งเป็นเครือข่ายของ “อดีตบิ๊กตำรวจ” เครือญาติของ “เครือข่ายบ้านใหญ่”  และมีฐานะเคยเป็นหนึ่งใน กมธ.กฎหมายและยุติธรรม ของ สนช. ชุดที่รับเรื่องร้องเรียนร้องขอความเป็นธรรมจากทนายของบอส

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า งานบวช “ส.ว.ก๊อง” มีทีมวิ่งผลัด 4 คูณ 100 หรือทีมให้การช่วยเหลือทายาทกระทิงแดง พลิกคดีอยู่ในงานโดยพร้อมเพรียง

เอาเป็นว่างานนี้ได้เห็นเค้าลางกันว่า ตัวละครผู้อยู่เบื้องหลังคดีบอสทั้งหลาย ได้มาชุมนุมกันอย่างถูกที่ถูกเวลาจริงๆ เพราะ ตามงานบวช คือ วันที่ 21 มิ.ย.63 จัดภายหลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ไปก่อนนั่นแบบเงียบเชียบ จนสื่อนอกตีข่าวแล้วก็ฉาวไปทั่วโลก จนสังคมไทยรับกันไม่ได้ ช่วยกันจุดช่วยกันคุ้ยมาตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และ ผลการตรวจสอบและความเห็นของฝ่ายต่างๆ กำลังมีความเป็นไปได้ว่า อัยการที่สั่งคดีไม่ฟ้องดำเนินการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนตัว “จารุชาติ มาดทอง” เอง แม้จะเสียชีวิตก็ยังทิ้งปมต่างๆ ให้สงสัยได้อีก โดยเฉพาะความมหัศจรรย์พันลึกที่มือถือพยานคนนี้ถูก  “พศิน อัคเดชธนโชติ” หรือ ล้าน  ที่บังเอิญอย่างร้ายกาจอีกเช่นกันว่าเป็น ลูกน้องคนสนิทของ “ส.ว.ก๊อง” ฉกไปทำลาย

ทั้งนี้ “ล้าน” ยอมรับว่า เป็นคนทำลายโทรศัพท์ของ “จารุชาติ” หลังจากเสียชีวิต โดยอ้างว่า มีรูปถ่ายด้วยกันจำนวนมาก เกรงว่าจะได้รับความเสียหาย เพราะเตรียมจะลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ

มันช่างเป็นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือเสียนี่กระไร

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้เพราะมีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ความเชื่อมโยงของ “นายเนตร” กับ “นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในยุค “วงศ์สกุล” เป็นอัยการสูงสุด (อสส.) มีคดีดังๆ หลายคดีที่ตกเป็นที่กังขาของสังคม

โดยคดีที่สังคมยังกังขามาจนวันนี้ ก็คือ กรณีเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 62 อัยการสั่งไม่ฟ้อง เจ้าสัว “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าพ่อวงการบ้านจัดสรรชื่อดัง ร่วมกันกับ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเยี่ยนคลองจั่น ร่วมกันสมคบฟอกเงิน และฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีการซื้อขายที่ดินพัวพันถึงวัดพระธรรมกาย

คดีนี้ เมื่อ พ.ย. 62 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการ โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ ให้ฟ้อง “อนันต์ อัศวโภคิน” ตามข้อกล่าวหาที่ส่งพนักงานอัยการแล้ว ซึ่งต่อมา ได้มีการส่งเรื่องให้ “วงศ์กุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด ชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และในที่สุดก็มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” !!

นอกจากนั้นยังมีคดีที่ นายเนตรผู้ลงนามคำสั่งชี้ขาดแทนอัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,91 ในคดีร่วมกันฟอกเงิน เงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยให้กับกฤษดามหานคร จำนวน 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ชวนให้สงสัยให้เห็นว่ามี “ขบวนการลากถ่วงคดี  มิให้คืบหน้าหรือไม่ ประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีที่   “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ และ “บุญยืน ศิริธรรม”  อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือผ่าน “สุกิจ อัถโถปกรณ์” ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อขอเอกสารมาตั่งแต่ เมื่อ 31 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ผ่านมาหลายวันเรื่องก็ยังเงียบกริบ แม้ไม่ถึงกลับหายไปกับสายลม แต่ก็เข้าใจไม่ได้ว่า เพราะอะไร




กำลังโหลดความคิดเห็น