ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “เนตร” ลาออกหวังตัดจบ แต่เรื่องยังไม่จบ ต้องรอผลสอบคณะกรรมการชุด “วิชา มหาคุณ” ว่าจะออกมาอย่างไร ลามไปถึงใครบ้าง !!
ในที่สุด “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ที่ลงนามสั่งไม่ฟ้อง “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก็ทนแรงเสียดทาน แรงกดดัน ทั้งจากสังคม และคนในวงการยุติธรรมด้วยกันไม่ไหว ได้ยื่นหนังสือลาออกเเล้ว ทั้งที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้
หนังสือลาออก “เนตร” ยังคงยืนยันถึงการสั่งคดีดังกล่าว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยถูกต้อง ถูกระเบียบปฏิบัติ และใช้เหตุผลประกอบอันสมควร แต่เนื่องจากสถาบันอัยการโดนกดดันจากสังคม จึงตัดสินใจลาออก เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร
เพราะก่อนหน้านี้ คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี “บอส” ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้น ได้ออกมาแถลงว่า การสั่ง “ไม่ฟ้องบอส” เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของอัยการ ซึ่งเป็นการสั่งคดีที่ “ถูกต้องแล้ว” ... แต่ได้พบพยานหลักฐานใหม่ เรื่องความเร็วรถ ที่มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับอัตราความเร็วในการขับรถของ “บอส” แตกต่างจากอัตราความเร็วที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณาความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และกรณีตรวจพบสาร “โคเคน” ในร่างกาย “บอส” ที่จะตั้งข้อหาใหม่ เพื่อให้ศาลลงโทษได้ ...
แต่การแถลงดังกล่าวก็ไม่ช่วยลดกระแสความไม่พอใจของสังคม หรือช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอัยการแต่อย่างใด เพราะหัวใจของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื่องขับรถเร็ว หรือเสพโคเคน แต่อยู่ที่ “คดีบอสขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ... เพราะสำนวนที่มีการรื้อฟื้นมาสั่งคดีใหม่นั้น มีข้อพิรุธ มีปมคาใจมากมาย โดยเฉพาะการให้ปากคำของ “พยานกลับชาติมาเกิด” ทั้ง 2 ปาก แต่ทำไม่ “เนตร” ที่เป็นถึงรองอัยการสูงสุด จึงไม่สงสัย กลับเห็นสมควรสั่ง “ไม่ฟ้องคดี” ในที่สุด
การแถลงของคณะอัยการครั้งนี้จึงไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย !!
“อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) จึงออกมาชี้ในมุมของ “ข้อกฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งคดีของอัยการ และเห็นว่าการสั่งคดีของ “เนตร” ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะคดีนี้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้สั่งฟ้องไปแล้ว คดีเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว แม้จำเลยจะร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง แต่อัยการสูงสุดก็ได้สั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว... ถือว่าคำสั่งฟ้องคดีเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด การกลับคำสั่งคดีของ “เนตร” จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“อรรถพล” ยังได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึง “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ
เช่นเดียวกับ “คณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด และกรรมการกฤษฎีกา ก็ย้ำว่า เมื่ออัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไปแล้ว คนอื่นจะมาแตะไม่ได้ ถ้ามีอะไรก็ต้องไปหารือกับอัยการสูงสุดที่จะเป็นผู้ออกคำสั่งแต่เพียงผู้เดียว... การร้องขอความเป็นธรรม ก็เป็นอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่ง แต่กรณีนี้ รองอัยการสูงสุด กลับมาสั่งไม่ฟ้อง นี่เป็นการทำผิดกฎหมายชัดๆ ... และเห็นว่าการแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นการแถลงป้ององค์กรของตนเอง ฟอกขาว ผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดปัจจุบัน ซึ่งไม่เวิร์ก !
แม้ว่า “เนตร นาคสุข” จะยื่นลาออกแล้ว แต่เชื่อว่าเรื่องจะไม่จบแค่นี้ เพราะล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาสั่งคดี “บอส” และตั้งคณะทำงานตรวจสอบการสั่งคดีของ “เนตร”... ยังมี “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อประธาน และ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ขอให้ดําเนินการสอบสวน เอาผิดทางวินัยและจริยธรรม ต่อ “เนตร” ที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “บอส”
ที่สำคัญคือ ยังมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย ชุด “วิชา มหาคุณ” ที่นายกฯ ตั้งขึ้น ก็กำลังทำการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด รอบด้าน ทั้งตรวจสอบอัยการ ตรวจสอบตำรวจ ตรวจสอบบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบด้านกฎหมาย...
แน่นอนว่า “เนตร นาคสุข” ก็อยู่ในรายชื่อที่คณะกรรมการชุดนี้ เตรียมเชิญไปให้ถ้อยคำด้วย...และแว่วว่าจะมีการเชิญ “อัยการสุด” ไปให้ถ้อยคำด้วย หลังปรากฏภาพไปร่วมงานบวช “ส.ว.ก๊อง” ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร เจ้าของสโมสรฟุตบอลของเชียงใหม่ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือเครื่องดื่มกระทิงแดง และพ่อของ “บอส” เฉลิม อยู่วิทยา และ ส.ว.คนนี้ยังมีฐานะเป็นนายจ้างของ “จารุชาติ มาดทอง” พยานปากเอกที่มีส่วนสำคัญในการพลิกคดี และเพิ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
“เนตร” ลาออกหวังตัดจบ แต่เชื่อว่าเรื่องยังไม่จบ หากข้อกังขา ค้างคาใจสังคมยังไม่เคลียร์ ...ส่วนผลสอบเมื่อสรุปออกมาจะลามไปถึงใครบ้าง ต้องติดตามกันต่อไป
**เอฟเฟกต์คดีบอส หรือว่า “ชวน” กำลัง “หลีกภัย” ลากถ่วงเปิดเอกสารรายงาน “กมธ.สนช.” เท่ากับช่วยกันปกปิด ปกป้องพวกพ้องเครือข่ายอิทธิพล ? !!
มาถึงจุดนี้ก็ต้องบอกว่า “คดีบอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างมีข้อสงสัยว่ามีกระบวนการช่วยเหลือกันชนิดที่สังคมรับไม่ได้ ได้ก่อแรงสั่นสะเทือนไปทั้งกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการหลายชุดที่ตั้งขึ้นมา ทั้งของตำรวจเอง ส่วนของอัยการ ก็มีข้อสรุปอย่างที่รับรู้กันไปแล้ว ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มี “วิชา มหาคุณ” นั่งเป็นประธาน ก็กำลังเรียกตัวละครที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอย่างเข้มข้น และลุ้นระทึกกันว่า ผลจะออกมาอย่างที่คนคาดหวังกันหรือไม่
แต่ “จิ๊กซอว์” สำคัญ อย่างตัวละครบางตัวใน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นจุดเริ่มของเรื่อง “พลิกคดีบอส” กลับยังไม่ปรากฏว่าจะมีส่วนต้องรับผิดชอบอย่างไร
ต้องไม่ลืมวา หลายฝ่ายสงสัยและเชื่อกันว่า คดีบอสที่พลิกให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น มาจากการที่ กมธ.ชุดนี้ ที่ว่ากันว่า มีมือไม้ของเครือข่ายผู้มีอิทธิพลร่วมกับ มือไม้ด้านกฎหมาย ของบอส ประสานเสริมกัน เห็นช่องชงเรื่องขอความเป็นธรรมเข้ามาแล้วให้ กมธ. เรียกตำรวจ เรียกคนเกี่ยวข้องมาสอบ หาจุดรีเทิร์นของคดี จนมีพยานเพิ่มเติม และมีข้อสรุปส่งต่อให้อัยการสูงสุด ก่อนจะสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมตามที่อัยการขอ
กุญแจสำคัญเรื่องนี้ จึงอยู่ที่รายงานบันทึกการประชุม และการพูดคุยกันของ กมธ.ทุกๆ การเคลื่อนไหวของ กมธ.สนช.ขณะนั้น ควรหรือไม่ควรที่จะตัองให้สังคมรับรู้ เพิ่อยุติข้อสงสัย
เรื่องนี้ก็น่าดีใจที่มีคนทำหน้าที่กระทุ้งแทนประชาชนโดย “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ และ “บุญยืน ศิริธรรม” อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือผ่าน “สุกิจ อัถโถปกรณ์” ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อขอเอกสารมาตั่งแต่ เมื่อ 31 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ผ่านมาหลายวันเรื่องก็ยังเงียบกริบ แม้ไม่ถึงกลับหายไปกับสายลม แต่ก็เข้าใจไม่ได้ว่า เพราะอะไร
ข่าวคราวที่ออกมากลายเป็นว่า การขอเอกสารรายงานของ กมธ. เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในคดี วรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ช่างยากเย็นราวกับเป็นความลับระดับชาติ ที่เปิดเผยไม่ได้
ว่ากันว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่อำนวยความสะดวก โยกโย้อ้างขั้นตอนมีหลายขั้นหลายตอน หนักสุดก็บ่ายเบี่ยงให้ผู้ยื่นไปขอที่วุฒิสภา
จากปากคำของ “รสนา” ที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็จะเห็นว่า ทีแรกท่านประธานรัฐสภา มอบหมายเลขาส่วนตัว โทร.มาแจ้งว่ายินดีมอบเอกสารให้เมื่อ มาติดตามขอรับเอกสาร ในวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางทีมงานหน้าห้องประธานรัฐสภาได้ส่งรองเลขาธิการสภาฯ มารับหนังสือแทน และรองเลขาฯ ได้แจ้งว่าเอกสารของ กมธ.สนช.ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของสภาผู้แทนฯ แต่อยู่ในการครอบครองของวุฒิสภา และจะให้คณะของ"รสนา" ไปติดตามรับจากวุฒิสภาเอง
ฟังว่า วันนั้น “รสนาและคณะ” ยืนยันกับรองเลขาธิการว่า คณะมาขอกับประธานรัฐสภา ไม่ใช่มาขอจากประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะรู้ดีอยู่ว่า เอกสารดังกล่าวอยู่ที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งตอนนั้นเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีฐานะเทียบเท่ารัฐสภา แต่เพื่อเป็นการให้เกียรติท่านประธานรัฐสภา ซึ่งคือ ประมุขของ 2 สภา
จึงได้ขอเอกสารจากท่าน
งานนี้มองอย่างไรก็ไม่มีเหตุผลที่สภาฯ จะไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส สิ้นสงสัยของสังคมที่ขณะนี้ “คดีบอส” ถือเป็นวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเต็มที่
จริงอยู่ขั้นตอนก็คงจะมีบ้าง แต่หากเทียบกับผลกระทบจากคดีบอสของการดำเนินงานของ กมธ.สนช. คนที่มีอำนาจสั่งการก็ยิ่งต้องเร่งรีบตีแผ่เอกสารออกมา หรือ หากโบ้ยไปที่ “พรเพชร วิชัยชลชัย” ประธานวุฒิสภา พรเพชร และรวมถึง “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” ประธาน กมธ.สนช.ชุดนั้น ก็ต้องเผยแพร่ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย
มิเช่นนั้น ก็ช่วยไม่ได้ อย่าหาว่าไม่เตือนกัน หากประชาชนที่กำลังจับตาใกล้ชิดเรื่องนี้อยู่แล้วจะพากันสงสัย ซึ่งห้ามไม่ได้ว่า การลากถ่วงไม่ยอมเปิดเผยเอกสาร หรือ หลักฐานอื่นๆ จาก กมธ. ส่งถึงอัยการ ที่ทำให้ “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ถึงกลับมติไม่ส่งฟ้องคดีวรยุทธ แม้ “เนตร” วันนี้จะไขก็อกแล้ว ก็ตาม แต่การพยายามปิดกั้นข้อมูล ก็จะเท่ากับช่วยกันปกปิด ปกป้องพวกพ้องกันเอง ใช่หรือไม่ ?
แน่นอนว่า “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” ก็ต้องถูกมองไปที่นามสกุล และในฐานะประธาน กมธ. ด้าน “พรเพชร วิชัยชลชัย” ประธานวุฒิสภา ก็ต้องถูกตั้งคำถามเข้าไปด้วยว่า จะใช่เป็นเครือข่ายอิทธิพลอีกคนหรือไม่ ?
ส่วนท่านประธานชวน กำลัง “หลีกภัย” จากเอฟเฟกต์คดีบอสหรือไม่ นี่ก็จะต้องสงสัยด้วยเช่นกัน!!