xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” โต้เด็ก “ชวน” ยันขอเอกสารคดี “บอส” ไม่ได้เอาแต่ใจ ซัดถ้าเช้าชามเย็นชามไม่รู้ร้อนรู้หนาวอย่ามาเป็น ขรก.การเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เมื่อ 31 ก.ค.63
อดีต ส.ว.“รสนา” โต้ที่ปรึกษา “ชวน หลีกภัย” ยันขอเอกสาร กมธ.สนช.คดี “บอส อยู่วิทยา” ไม่ได้เอาแต่ใจ แต่เป็นเพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจประชาชน ตนมาขอจากประมุขนิติบัญญัติ ทำไมต้องปัดให้ไปขอที่วุฒิสภา ซัดถ้ายังทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความสนใจของสาธารณะ ก็อย่ามาเป็นข้าราชการการเมือง
จากกรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ได้ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อขอเอกสารรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แต่พบว่าทางสภาผู้แทนราษฎรไม่อำนวยความสะดวก โดยบ่ายเบี่ยงให้ไปขอที่วุฒิสภา ซึ่งต่อมา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาตอบโต้ว่าทางสภาได้อำนวยความสะดวกทุกอย่าง แต่ราชการมีระเบียบขั้นตอน จะรีบเอาตามแต่ใจตนเองไม่ได้นั้น ล่าสุด วันนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3255022071241000&id=236945323048705&__tn__=K-R รสนา โตสิตระกูล ตอบโต้ในกรณีดังกล่าวนี้ ว่า “เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 ดิฉันและ อดีต ส.ว บุญยืน ศิริธรรม (อดีตสมาชิกวุฒิสภาสมุทรสงคราม) พร้อมคณะได้เดินทางไปติดตามขอรับเอกสารของ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และตำรวจ สนช. กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งดิฉันและคณะได้ยื่นขอเอกสารจากท่านประธานรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้น ในวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 ท่านประธานรัฐสภาได้กรุณามอบหมายเลขาส่วนตัวโทรมาแจ้งดิฉันว่ายินดีมอบเอกสารให้
“เมื่อดิฉัน (อดีต ส.ว.กทม.) และคณะ มาติดตามขอรับเอกสารในวันที่ 7 สิงหาคม ทางทีมงานหน้าห้องประธานรัฐสภาได้ส่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มารับหนังสือแทน และรองเลขาฯ ได้แจ้งว่าเอกสารของ กมธ.สนช.ไม่ได้อยู่ในการครอบครองของสภาผู้แทนฯ แต่อยู่ในการครอบครองของวุฒิสภาและจะให้ดิฉันและคณะไปติดตามรับจากวุฒิสภาเอง และอ้างว่าได้ทำหนังสือแจ้งดิฉันแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้ดิฉันยังไม่ได้รับหนังสือ
“ดิฉันและคณะที่มาด้วยกันยืนยันกับรองเลขาธิการ ว่า คณะมาขอกับประธานรัฐสภา ไม่ใช่มาขอจากประธานสภาผู้แทนราษฎร เรารู้ดีอยู่ว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งตอนนั้นเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีฐานะเทียบเท่ารัฐสภา แต่เพื่อเป็นการให้เกียรติท่านประธานรัฐสภา ซึ่งคือประมุขของ 2 สภา จึงได้ขอเอกสารจากท่าน เมื่อรองเลขาธิการสภาผู้แทนฯ โต้แย้งว่าท่านประธานรัฐสภาเป็นประมุขเมื่อมีการประชุมร่วม 2 สภาเท่านั้น ส่วนเอกสารเป็นเรื่องของแต่ละสภา และปัดให้พวกเราไปขอรับจากวุฒิสภา จึงเป็นเหตุให้อดีต ส.ว.สมุทรสงครามไม่พอใจที่เห็นการปัดเรื่องจัดการเอกสารให้ เพราะอดีต ส.ว.บุญยืน ได้รับเลือกตั้งในปี 2557 ทำหน้าที่ได้เพียง 2 เดือนเท่านั้นก็ถูกรัฐประหารตัดตอนไป ท่านเป็น ส.ว.ที่มาจากภาคประชาชน ย่อมรู้ร้อนรู้หนาวถึงความรู้สึกของ”ประชาชนเป็นอย่างดี แต่อาจจะไม่รู้เรื่องระเบียบขั้นตอนของรัฐสภามากนัก ท่านจึงสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่เฝ้าติดตามกรณีลูกชายของนักธุรกิจใหญ่ ว่ามีส่วนพัวพันกับ สนช.หรือไม่อย่างไร? อาจใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาที่กระทบความรู้สึกของท่านบ้าง แต่ขอให้ท่านทราบว่า ประชาชนที่เขาติดตามกรณีนี้อยู่ เขารู้สึกรุนแรงกว่าท่าน ส.ว.บุญยืน หลายเท่า
“ในส่วนตัวของดิฉันเอง แม้จะมาจากภาคประชาชน แต่ก็ทราบกลไกของรัฐสภา เรื่องการติดต่อประสานงาน ขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติทางธุรการของสภาอย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะเคยทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีกรณีตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนหรือแม้แต่องค์กรภาครัฐเองเป็นจำนวนนับพันเรื่องต่อปี แต่คณะ กมธ.ที่ดิฉันเคยรับผิดชอบ แม้เป็นเพียงคณะเล็กๆ แต่ก็สามารถทำงานทั้งเรื่องใหญ่ๆ และเรื่องเล็กสำเร็จเป็นจำนวนมาก เพราะเราปฏิบัติงานโดยถือหลักประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และให้เกียรติทุกฝ่ายโดยเป็นไปตามระเบียบของสภาทุกประการ ทั้งนี้ เพราะเราสำนึกอยู่เสมอว่าเราเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ที่มีระยะเวลาทำหน้าที่ช่วงสั้นๆ ในสภาเพียง 6 ปี ในฐานะข้าราชการการเมือง ซึ่งจะทำงานแบบเช้าชามเย็นชามตามเสียงที่ประชาชนมักต่อว่าข้าราชการ ก็จะไม่เป็นการสมควร
“การที่กรรมาธิการหลายคณะในสภาผู้แทนฯ และสื่อมวลชนบางแห่งได้รับรายงานของ กมธ.สนช.ไปแล้ว ดิฉันและคณะเมื่อได้รับการประสานจากเลขาส่วนตัวท่านประธานรัฐสภา จึงได้รีบมาติดตามขอรับเอกสาร”
“การที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรออกมาตอบโต้ว่า “จะรีบเอาตามใจไม่ได้! กระทั่งวันที่มายื่น นายชวน หลีกภัย ก็ได้มอบหมายให้ ตนมารับหนังสือจากท่าน เพื่อให้เกียรติในฐานะที่เคยเป็น ส.ว.และตนได้รีบนำส่งหนังสือเข้าสู่ระบบงานของสภาทันที โดยมิได้ชักช้าแม้แต่น้อย แต่ต้องเรียนว่าราชการมีระเบียบขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่า ท่านทั้งสองคงจะเข้าใจดี เนื่องจากเคยเป็นอดีต ส.ว.ท่านคงทราบว่าเรื่องเช่นนี้จะรีบเอาตามแต่ใจตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารนี้เป็นของคณะ กมธ.ในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผ่านมาแล้วถึง 6 ปี และปัจจุบันเก็บไว้ในฝั่งของวุฒิสภา แต่ท่านได้ทำหนังสือมายื่นกับทางสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ว่ากัน ท่านอาจไม่ทราบข้อมูล”
“นพ.สุกิจ ยังกล่าวอ้างว่า สภาอำนวยความสะดวกทุกอย่าง และตอบโต้ว่ามีคนยื่นเรื่องเดือดร้อนมากมายไม่ใช่แค่ ส.ว. 2 คน ดิฉันเห็นว่า ท่านที่ปรึกษาก็น่าจะไม่เข้าใจว่าดิฉันและคณะมาขอเอกสารกับประมุขรัฐสภา และที่อำนวยความสะดวกทุกอย่างก็ไม่เป็นความจริง เพราะได้ปัดให้ดิฉันและคณะไปติดตามจากวุฒิสภาเอาเอง สิ่งที่ท่านออกมาตอบโต้ดิฉันและคณะว่า “จะเอารวดเร็วตามใจไม่ได้” นั้น ดิฉันมีความเห็นว่าคนที่เป็นพูดเช่นนี้ ควรไปทำงานอยู่ในระบบราชการประจำที่มีเวลาทำงานอยู่นาน ไม่ต้องเร่งร้อน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับอะไร จนมักถูกมองว่าเป็นพวกเช้าชามเย็นชาม อย่ามาเป็นข้าราชการการเมือง ที่ต้องรู้ว่าเรื่องไหนอยู่ในความสนใจของสาธารณชนที่ควรดำเนินการโดยไม่ชักช้า เพราะการชักช้าแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพ และอาจทำให้เข้าใจได้ว่าไม่เป็นไปตามหลักการบริหารราชการที่ดี หรือไม่
“สำหรับดิฉันไม่ได้ติดใจคำตอบโต้ที่ออกมาทางสาธารณะ แต่เห็นว่า เป็นเรื่องส่วนรวมที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาที่ดิฉันเคยเป็นสมาชิก และภาพลักษณ์ของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องออกมาชี้แจง” น.ส.รสนา ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น