ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ส่องคดีดังยุค “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” นั่ง อสส. กลับความเห็นไม่ฟ้อง “บอส เรดบูล” ไม่ฟ้อง “เจ้าสัวอนันต์” และรอชี้ขาด “วิรัช”
ในยุคที่ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” ขึ้นมานั้งเก้าอี้อัยการสูงสุด (อสส.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา มีคดีดังๆ หลายคดีที่การสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ของอัยการตกเป็นที่กังขาของสังคม
ที่ยังเป็นที่ค้างคาใจที่สุดในตอนนี้ คงไม่มีคดีไหนเกินคดีของ “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม “เรดบูล” ที่ขับรถเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 55
คดีนี้ ลูกชายของ “เฉลิม อยู่วิทยา” ใช้เทคนิคการหลบหนี และขอเลื่อนคดีประกอบกับได้รับเอื้อเฟื้อจากเจ้าหน้าที่ จนหลุดข้อหา เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกำหนด และชนแล้วหนี เพราะคดีหมดอายุความ แต่ก็ยังเหลือข้อหา “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ที่สังคมยังมีความหวังว่า กระบวนการยุติธรรม จะคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต และญาติ รวมทั้งสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กฎหมายได้บ้าง เพราะข้อหานี้ มีอายุความ 15 ปี นับจากวันเกิดเหตุ ถึงผู้ต้องหาจะหลบหนีออกนอกประเทศ ก็ยังพอมีเวลาติดตามตัวมา ขึ้นศาลรับคำพิพากษาโทษได้
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 “เศกสรรค์ บางสมบุญ” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ขณะนั้น ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไปแล้ว หลังจากนั้น แม้ “บอส เรดบูล” ได้ขอความเป็นธรรมหลายครั้ง รวมทั้งร้องไปที่กรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้สอบสวนเพิ่มเติม ในประเด็นว่าไม่ได้ขับรถเร็ว แต่ อสส. ในยุคนั้นก็สั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม และอัยการได้นัดผู้ต้องหาไปพบเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ในวันที่ 27 เม.ย. 60 แต่ผู้ต้องหาเบี้ยวนัด จนถูกออกหมายจับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ในปี 2562 แม้จะการร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง แต่ “พินันพ์ ลักษณ์ศิริ” อัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรม 2 ก็ได้ตีตกคำร้องขอความเป็นธรรมอีก ... แล้วจู่ๆ ในเดือนธันวาคม 2562 ก็มี “พยานกลับชาติมาเกิด” 2 คน โผล่ไปให้การพนักงานสอบสวน ที่ต้องสอบปากคำเพิ่มตามคำสั่งอัยการ เพื่อยืนยันว่า “บอส วรยุทธ” ขับรถเร็วไม่ถึง 80 กม./ชม. แถม “ดาบวิเชียร”เป็นฝ่ายขี่จักรยานยนต์ตัดหน้าซะอีก และกลายเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ที่รับมอบอำนาจมาจาก “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” ออกคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “วรยุทธ อยู่วิทยา” ในข้อหา “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ที่อัยการคนก่อนเคยสั่งฟ้องไปแล้ว ... กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สั่นสะเทือนสถาบันอัยการอยู่ในเวลานี้
อีกคดีที่สังคมยังกังขามาจนวันนี้ ก็คือ กรณีเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 62 อัยการสั่งไม่ฟ้อง เจ้าสัว “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าพ่อวงการบ้านจัดสรรชื่อดัง ร่วมกันกับ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเยี่ยนคลองจั่น ร่วมกันสมคบฟอกเงิน และฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีการซื้อขายที่ดินพัวพันถึงวัดพระธรรมกาย
คดีนี้ เมื่อ พ.ย. 62 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการ โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ ให้ฟ้อง “อนันต์ อัศวโภคิน” ตามข้อกล่าวหาที่ส่งพนักงานอัยการแล้ว ซึ่งต่อมา ได้มีการส่งเรื่องให้ “วงศ์กุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด ชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และในที่สุดก็มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” !!
อีกคดีสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงนักการเมือง และจะเป็นการพิสูจน์ว่า “องค์กรอัยการ” มีความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมหรือไม่ ก็คือคดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสำนวนแรกของคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 62 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล กับพวกรวม 24 คน กรณีทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษา จ.นครราชสีมา
คดีนี้แบ่งเป็น 7 สำนวน สำนวนแรก มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ มีการประชุมนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าว ดำเนินการได้เรียบร้อยดี มีความเห็นสั่งฟ้อง และได้เสนอ อสส.ให้พิจารณาสั่งคดีต่อไป
แต่ก็เป็นที่สังเกตว่า เวลาล่วงเลยมาแล้ว 1 ปีกว่า นับจาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูล และเป็นเวลากว่า 2 เดือน หลังจากคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการ และ ป.ป.ช. มีมติให้ “สั่งฟ้อง” แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า อัยการสูงสุดจะนัดฟังคำสั่งคดีเมื่อไร ทั้งที่สำนวนคดีก็เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว
น่าคิดและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตศรัทธาการสั่งคดี ที่มี Super VIP ทั้งหลายเป็นผู้ต้องหา กับการสังคยนาอัยการ “ยุควงศ์สกุล” จะเป็นอย่างไรต่อไป
** จับตาท่าที “อัยการสูงสุด” หากเซ็นอนุมัติให้ “เนตร” ลาออก ก็หมดสิทธิ์สอบวินัย...แต่ถูกสอบอาญาคงหนีไม่พ้น !!
การลาออกของ รองอัยการสูงสุด “เนตร นาคสุข” จากแรงกดดันทุกทิศที่พุ่งเข้ามา อันเนื่องมาจากกรรณี “สั่งไม่ฟ้อง” คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งเจ้าตัวให้เหตุผลในหนังสือยื่นลาออกว่า... เนื่องจากสถาบันอัยการโดนกดดันจากสังคม เห็นว่าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร จึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
แต่ประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ตามมา คือ เป็นการแสดง “สปิริต” เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร... หรือลาออกเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา เพราะตามรูปการณ์แล้ว เมื่อสังคมเห็นว่าการสั่งคดีมีเงื่อนงำ มี “มลทิน” เชื่อว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางวินัย หรืออาญา ตามมาแน่ หรืออาจจะเป็นทั้งสองอย่าง
เรื่องนี้ “อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้ยก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ 2553 มาตรา 58 ที่บัญญัติในเรื่องการลาออก มาอธิบายความว่า ...ข้าราชการอัยการผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการ ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง เพื่อให้อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณา เมื่ออัยการสูงสุดสั่งอนุญาตแล้ว ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ จะยับยั้งการลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันขอลาออกก็ได้
ในกรณีของ “เนตร” ซึ่งเป็นรองอัยการสูงสุด ก็ต้องยื่นลาออกต่ออัยการสูงสุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้เซ็นคำสั่งออนุมัติการลาออกของ “เนตร” หรือยัง หรือมีคำสั่งอย่างไร “อนุญาต” หรือ “ยับยั้ง”... ถ้ามีคำสั่งอนุญาตให้ “เนตร” ลาออก ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการสอบวินัยได้ เพราะเป็นการลาออกก่อนที่จะมีการเริ่มต้นกระบวนการสอบวินัย ... แต่ถ้ายังอยู่ในระหว่างการยับยั้ง แล้วมีการเริ่มกระบวนการทางวินัย แบบนี้ถึงสอบวินัยได้ ...วันนี้ผู้ที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” จึงขึ้นอยู่กับอัยการสูงสุดเพียงผู้เดียว !!
แต่ต้องไม่ลืมว่าแม้จะพ้น “บ่วงวินัย” แต่การ “ติดบ่วงอาญา” นั้นน่ากลัวกว่ากันเยอะ... เพราะไม่ว่าการลาออกจะมีผลแล้วหรือไม่ แต่ “คณะกรรมการสอบดุลพินิจในการสั่งคดี” ที่มีการตั้งขึ้นมาหลายคณะ รวมทั้งชุดของ “วิชา มหาคุณ” ยังต้องดำเนินต่อไป... หากมีผลสรุปออกมาว่าเป็นการ “สั่งคดีโดยมิชอบ” แล้วละก็ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกเอาผิดทางอาญาตามมาแน่นอน
เพราะคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบนั้น ต้องเคลียร์เรื่องข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วยังต้องเคลียร์ปมสำคัญที่สังคมสงสัย คือ “มีผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้อง ในขั้นตอนที่จะนำไปสู่การสั่งคดีหรือไม่ ... เนื่องจากคดีนี้มีการสั่งฟ้องไปแล้ว เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว แต่ทาง “บอส” ก็ยังยื่นร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ซึ่งทางหนึ่งก็หวังจะเป็นการประวิงเวลา “ถ่วงคดี” ขณะเดียวกัน ก็หวังผลให้มีการรื้อสำนวน สั่งสอบสวนเพิ่มเติม หาช่องพลิกคดี จนอัยการสูงสุดต้องสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งฟ้องคดีที่สิ้นสุด เด็ดขาดแล้ว
แต่ทาง “บอส” ก็ไม่ละความพยายาม ยังไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมายฯ สนช. จนในที่สุด กมธ.กฎหมายฯ สนช. ก็มีรายงานผลสรุปไปถึงอัยการสูงสุดคนใหม่ ทำให้มีการส่งเรื่องกลับไปให้ตำรวจ ทำสำนวนมาใหม่ สอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด... ซึ่งในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ. กฎหมายฯ สนช.นี้ ก็มี “ตัวละคร” ที่ถูกขุดขึ้นมาแฉถึงสายสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับตระกูลอยู่วิทยา รวมทั้ง “พยานกลับชาติมาเกิด” ปากสำคัญที่เป็นเงื่อนงำนำไปสู่การพลิกคดีด้วย
นี่ยังไม่นับรวมถึงประเด็นข้อกฎหมาย ที่คนในวงการยุติธรรมเห็นว่า คดีนี้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้สั่งฟ้องไปแล้ว อสส.เห็นชอบให้คำสั่งฟ้องคดีเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดไปแล้ว... การมารื้อฟื้นสำนวน กลับคำสั่งคดีของ “เนตร นาคสุข” จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย !!
ก็คงต้องรอผลการสอบสวนคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ ว่าจะมีผลสรุปออกมาอย่างไร และจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการตั้งกรรมการสอบเอาผิดอาญา “เนตร นาคสุข” หรือไม่ คงเห็นกันได้ในเวลาไม่นานเกินรอ !!