อดีตรองโฆษก ปชป.ร่อนจดหมายถึงอัยการ แนะ 18 ส.ค.เช็กบิล “เนตร” ไม่ฟ้อง“บอส” พ่วงไม่อุทธรณ์คดี“โอ๊ค” หวังรื้อคดี ยกคำวินิจฉัย อสส.และเทียบเคียงแนวคำสั่งฎีกา ยันใช้อำนาจแทน อสส.ไม่ได้ เพื่อกู้ศรัทธา ปชช.
วันนี้ (13 ส.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ยื่นเรื่องขอให้อธิบดีดีเอสไอรื้อคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร กรณีฟอกเงินจากการทุจริตสินเชื่อธนาคารกุรงไทย ผ่าน พ.ต.อ.อัครพล บุญโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยขอให้อธิบดีดีเอสไอ ดำเนินการยื่นคำร้องเพิกถอนคำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดที่ทำให้ไม่มีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อ โดยให้เหตุผลว่านายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ผู้ออกคำสั่งชี้ขาดใม่ยื่นอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเห็นแย้งให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ด้วยนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ เพราะนายเนตรไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ เนื่องจากอำนาจการชี้ขาดความเห็นแย้งกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ที่ถือเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งทางกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ และไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ แม้จะปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดก็ตาม ตามคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2533 และเทียบเคียงแนวคำสั่งฎีกาที่ 30/2542 นอกจากนี้ ยังเทียบเคียงได้กับเรื่องการรับรองอุทธรณ์หรือฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจะแยกอำนาจของอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุดระบุไว้แจ้งชัดว่าในชั้นอุทธรณ์มอบหมายให้ลงลายมือชื่อแทนได้แต่ในชั้นฎีกาไม่ระบุไว้เช่นเดียวกับกรณีเรื่องการชี้ขาดความเห็นแย้ง ดังนั้นการสั่งคดีชี้ขาดความเห็นแย้งของนายเนตร รองอัยการสูงสุด ถึงแม้จะอ้างว่าได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะขณะสั่งคดีนายเนตรไม่ใช่อัยการสูงสุด
แต่จนถึงขณะนี้ทราบว่าทาง DSI อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งในระหว่างรอ DSI ตนอยากฝากถึงคณะกรรมการอัยการที่จะมีการพิจารณาประเด็นนายเนตรกลับคำสั่งอัยการสูงสุดจากฟ้องเป็นไม่ฟ้องคดีบอส อยู่วิทยา ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่อย่างไร ก็ขอให้พ่วงประเด็นการสั่งไม่อุทธรณ์คดีโอ๊คพานทองแท้ด้วย เพราะเรื่องนี้ข้อกฎหมายชัดเจนยิ่งกว่า เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่ถือเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งทางกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ และไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ แม้จะปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดก็ตาม โดยมีทั้งคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2533 และเทียบเคียงแนวคำสั่งฎีกาที่ 30/2542 ไว้ให้แล้ว โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอัยการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้พูดประเด็นนี้ไปแล้วหลายครั้งกระทั่งทำหนังสือถึง DSI ด้วยเท่ากับความปรากฏต่อคณะกรรมการอัยการแล้วสมควรที่จะนำเรื่องนี้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน
นี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รื้อคดีโอ๊คกลับเข้าสู่การพิจารณาของศาลในชั้นอุทธรณ์ได้ โดยหากคณะกรรมการอัยการ เห็นด้วยกับข้อกฎหมายที่ตนเสนอมาก็สามารถทำหนังสือถึงศาล ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการสั่งคดีโดยไม่ชอบ แล้วให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแถลงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อขอให้คดีโอ๊คกลับสู่สถานะเดิมตามกระบวนการกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมต่อไปได้
“ผมยืนยันอีกครั้งว่าเปิดประเด็นเรื่องนี้โดยไม่มีอคติหรือมีวาระการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ดำเนินการในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งที่อยากเห็นบรรทัดฐานการสั่งคดีของอัยการไม่ว่าจะเป็นคดีใด เกี่ยวพันกับคนใหญ่คนโตหรือไม่ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายปรากฏชัดว่าอำนาจการชี้ขาดความเห็นแย้งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งอัยการสูงสุด แต่รองอัยการสูงสุดกลับใช้อำนาจแทนเสียเอง จึงถือเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย และยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ตามช่องทางกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการอัยการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะกับแวดวงอัยการเองที่อยู่ในภาวะเสื่อมถอย ต้องรีบกู้ศรัทธาจากประชาชนคืนมาโดยเร็ว” นายเชาว์ระบุ