xs
xsm
sm
md
lg

เนตร-เพิ่มพูน ตัวละครเอก “ตร.- อัยการ” ทำไมเงียบ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เนตร นาคสุข และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้ก็ต้องบอกว่าอยู่ภาวะ “เสื่อมแพ็กคู่” สำหรับสองหน่วยงานหลักทางด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจและอัยการในความหมายที่ว่า “เสื่อมศรัทธา” หรือแทบจะไร้ความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิงในสายตาของประชาชน โดยกรณีคดีของนายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ทายาทกลุ่มธุรกิจเครื่องกระทิงแดง-เรดบูล ที่ขับรถหรูชนตำรวจจราจรเสียชีวิต และต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง จนทำให้ความรู้สึกของสังคม “ขาดผึง” ต่อสองหน่วยงานดังกล่าว


ขณะที่ฝ่ายองค์กรตำรวจ มีเรื่อง “บ่อนย่านพระราม 3” ประดังเข้ามาล่าสุด ยิ่งถือว่า “เสื่อมทรุด” ลงไปอีก เรียกว่ากำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “วิกฤตศรัทธา” จนถึงขีดสุดแล้ว ถือว่านี่คือปรากฏการณ์ใน “โลกยุคใหม่” ในยุค “ดิจิทัล” ที่มีการส่งต่อข่าวสารที่รวดเร็วมาก และมีความเสี่ยงอย่างมาก หากเมื่อใดก็ตามที่ทำให้สังคมมองด้วยเคลือบแคลงสงสัย

เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับสองหน่วยงาน คือ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้ความศรัทธาที่มีต่อ“ระบวนการยุติธรรม”ที่มีสองหน่วยงานดังกล่าวรวมอยู่ในนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และกำลังถูกแรงกดดันและเสียงเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูป” กันอย่างขนานใหญ่ หลังจากมีเสียงเรียกร้องกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

แต่คราวนี้เหมือนกับว่าได้จังหวะแบบเหมาะเจาะที่เกิดกรณีคดีของ นายวรายุทธ อยู่วิทยา ที่สังคมมีความมั่นใจว่า การสั่งคดีของทั้งอัยการและตำรวจ มีการกระทำที่ “มิชอบ” อย่างแน่นอน ซึ่งแม้แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย และผู้ที่มีอาวุโสทางสังคมที่ได้รับความเชื่อถือต่างมองไปทางเดียวกันในแบบที่สังคมมองเห็นพิรุธ ประกอบกับมีสิ่งที่เรียกว่า “ไม่ชอบมาพากล” พรั่งพรูออกมาให้เห็นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวลีที่ว่า “คุกมีไว้สำหรับขังคนจน” เท่านั้น ดูมีความเป็นจริงและสะท้อนภาพความไม่ยุติธรรมขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดทันที จนทำให้เกิดเป็นพลังกดดันอันหนักหน่วง ที่พุ่งเข้าใส่สองหน่วยงานนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความไม่พอใจหรือความไม่เชื่อถือสำหรับสองหน่วยงานนี้ที่ยังเกิดขึ้นในแบบ “คงเส้นคงวา”ก็คือ การที่ทั้งตำรวจและอัยการ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง และเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ทางฝ่ายอัยการก็มีการสรุปผลออกมาแล้วว่า การสั่งคดีไม่ฟ้องนายวรายุทธ อยู่วิทยา ของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดทำหน้าที่แทนอัยการสูงสุด นั้นกระทำตามขั้นตอนทางกฎหมายถูกต้องทุกประการ

ขณะเดียวกัน ก็มีการ “โบ้ย” ไปทางตำรวจทำนองว่า มีบางอย่างตกหล่นในสำนวน เช่น เรื่องสารเสพติดโคเคนที่เคยพบในเลือด หรือเรื่องการคำนวณความเร็วของรถที่ถูกระบุว่าเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น พร้อมระบุว่านี่คือ “หลักฐานใหม่” หรือข้อมูลใหม่ที่ต้องเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา ส่งให้ฝ่ายตำรวจพิจารณาสอบสวนเพิ่มเติม และตั้งข้อหากับ นายวรายุทธ ใหม่ เป็นต้น

แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศ หรือภาพลักษณ์สำหรับอัยการดีขึ้นมาเลย ตรงกันข้ามกลับมีเรื่องราวให้ถูกวิจารณ์เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งในเรื่องของข้อมูลใหม่ หรือหลักฐานใหม่ ที่ว่านั้น ก็ถูกแย้งว่าเป็นหลักฐานเก่าที่เคยมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า “ถูกเป่าทิ้งไป” ต่างหากอะไรประมาณนั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ถูกมองว่าเป็นการ “ฟอกนายเนตร นาคสุข” ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของคณะกรรมการสอบสวนของฝ่ายตำรวจ ที่จะต้องมีการสรุปผลออกมาในเร็วๆ นี้ ก็คงต้องออกมาในแนวเดียวกัน นั่นคือ “ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ” และอาจมีติ่งห้อยต่อท้ายไว้หน่อยหนึ่งว่า หากมีหลักฐานใหม่ก็สามารถนำมารื้อฟื้น หรือตั้งข้อหาใหม่ได้อีกประมาณนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากที่“เรื่องแดง”ออกมาหลังจากที่สื่อต่างประเทศรายงานเรื่องอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่เห็นแย้งออกมา ทั้งที่คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด คนสั่งคดีแทนอัยการสูงสุด และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสำนวนคดี กลับไม่เคยออกมาชี้แจงแถลงข่าว หรือเข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ ของสภาผู้แทนฯใดๆ เลย

โดยเฉพาะ นายเนตร นาคสุข ไม่เคยชี้แจงใดๆเลย เหมือนกับกรณีที่สั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่เหมือนกับว่าปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป ซึ่งคดีนี้ก็สร้างความสงสัยไม่ได้แตกต่างกัน

ดังนั้น หากพิจารณาจากคดีของ นายวรายุทธ อยู่วิทยา ที่เกี่ยวข้อทั้งสองหน่วยงาน คือ อัยการและตำรวจ ก็ต้องบอกว่า “ตัวละครสำคัญ” ที่ชาวบ้านยังไม่เคยรับรู้ถึงเหตุผลจากปากคนสองคนก็คือ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดที่ทำหน้าที่ในการสั่งไม่ฟ้อง และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ลงนามไม่มีความเห็นแย้งกับคำสั่งของอัยการดังกล่าว และที่ผ่านมาทั้งสองคนก็ไม่เคยออกมาชี้แจงใดๆ ให้สังคมได้ทราบ มีแต่คนอื่นที่มาแก้ต่างแทนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น