xs
xsm
sm
md
lg

อิสระอัยการเพื่อประโยชน์ใคร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



กรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาหรือบอส และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ทำความเห็นแย้ง และทำให้นายวรยุทธรอดพ้นจากข้อกล่าวหากลายเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น คงจะไม่จบลงง่ายๆ อย่างที่คิดกัน เพราะสังคมทั้งสังคม รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หากผู้มีอำนาจทุกฝ่ายไม่ลุกขึ้นมาจัดการสะสางเรื่องนี้ เชื่อว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงขึ้น และจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทลายความชั่วช้าซึ่งฝังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย และอาจจะสั่นคลอนไปถึงทุกสถาบันของชาติที่เกี่ยวเนื่องกันได้ จึงชอบแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะตั้งกรรมการอิสระขึ้นมา

ตามความเห็นที่สั่งไม่ฟ้องนั้นอ้างเอาว่า มีประจักษ์พยานเพิ่มขึ้น 2 ปาก พยานทั้งสองปากนี้โผล่ขึ้นมาหลังจากเกิดเหตุ 7 ปี คือวันที่ 4 ธันวาคม 2562 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องส่งให้ตำรวจ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 อัยการซึ่งมีความช่ำชองทำไมไม่มีเหตุสงสัยเลยหรือว่า ทำไมพยานทั้งสองปากเพิ่งโผล่มา ไม่สงสัยเลยหรือว่าพยานทั้งสองปากนั้นมีที่มาโดยสุจริตหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่ว่านายวรยุทธนั้นเป็นทายาทกระทิงแดงมหาเศรษฐีระดับโลก

กรณีนี้เดิมอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 โดยมีหนังสือให้นายวรยุทธมาพบพนักงานอัยการเพื่อนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาล แต่ที่ผ่านมานายวรยุทธได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานอัยการ รวมถึงพนักงานสอบสวนของ สน.ทองหล่อรวม 6 ครั้ง

ครั้งสุดท้ายพนักงานอัยการได้แจ้งให้ผู้ต้องหามาพบในวันที่ 30 มีนาคม 2560 แต่นายวรยุทธได้ส่งทนายความมาขอเลื่อนพบอ้างว่าติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ จึงอนุญาตให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 27 เมษายน 2560 จนกระทั่งหนีไปต่างประเทศก่อนถึงวันนัดและก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้องเมื่อหลบหนีไปแล้ว

ถามว่า คดีง่ายๆ แบบนี้ถ้าไม่ใช่เศรษฐีแสนล้าน เป็นชาวบ้านตาสีตาสา อัยการจะปล่อยให้มีการประวิงเวลามายาวนานถึง 5 ปีหรือไม่ แล้วอำนาจอะไรที่ทำได้ ถ้าไม่ใช่กระดาษที่สามารถเนรมิตได้ทุกสิ่งทุกอย่าง

เวลาที่นายวรยุทธประวิงไว้ก่อนที่อัยการจะออกหมายจับนั้นยาวนานถึง 5 ปี นี่ก็สะท้อนถึงการทำงานที่มีพิรุธของอัยการเพราะเป็นคดีไม่ซับซ้อนอะไรเลย รูปคดีแบบนี้ไม่ต้องเรียนกฎหมายมาก็รู้ว่าใครผิด คนชนแม้พยายามหลบหนีก็จับได้จำนนต่อหลักฐาน ไปคารวะศพคนตายเท่ากับยอมรับสารภาพแล้วพ่อจ่ายเงินเยียวยา 3 ล้านผู้เสียหายไม่ติดใจทนายความเก่ง แม้ว่าคดีแบบนี้ถ้าถึงศาลสุดท้ายอาจจะแค่รอลงอาญาก็ตาม

และแม้จะมีโอกาสรอลงอาญาสูง แต่ก็ยังไม่กล้าให้ลูกไปขึ้นศาลให้หนีไปต่างประเทศ อัยการเรียกกี่ครั้งไม่ยอมมาเจตนามันชัดแจ้งว่าหลบหนีให้คนไปร้องกรรมาธิการว่าไม่ผิดแล้วเอามายื่นในสำนวนอัยการก็เสือกเชื่อ ทั้งที่กรรมาธิการไม่ได้มีอำนาจอะไรเพียงแต่ประธานกรรมาธิการชุดนี้นามสกุลวงษ์สุวรรณเท่านั้น พยาน 2 คนโผล่มาหลังผ่านไป 7 ปีก็เสือกเชื่อ

ที่น่าสังเวชก็คือ คดีนี้ทางญาติ ด.ต.วิเชียร เรียกค่าเสียหาย 8 ล้าน แต่ทางนายวรยุทธต้องการจ่าย 2 ล้าน จนต่อรองกันเหลือเพียง 3 ล้าน ทั้งที่ครอบครัวอยู่วิทยามีเงินมหาศาลเป็นเศรษฐีติดอันดับโลก แต่ต่อค่าชีวิตคนเหมือนกับผักปลา

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลออกมาอย่างนี้นับว่าเป็นโชคดีของ ด.ต.วิเชียร เพราะถ้ายังไม่ตาย อัยการก็คงสรุปว่าคนผิดคือ ด.ต.วิเชียร คงต้องชดใช้เงินเยียวยานายวรยุทธ และจ่ายเงินค่าซ่อมรถหรูให้นายวรยุทธหลายล้านบาท เพราะสภาพของรถพังยับเยินขัดแย้งกับที่มาเปลี่ยนตามพยาน 2 ปากหลังว่านายวรยุทธขับด้วยความเร็วเพียง 50-60 กม.ต่อชั่วโมง

ที่ประหลาดคืออัยการสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ปกปิดข่าวเก็บไว้ 5 เดือน แล้วส่งให้ตำรวจเงียบๆ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนมีคนคาบไปบอกสื่อต่างชาติถึงยอมรับแต่ไม่ยอมแถลงเห็นผลที่อัยการไม่ฟ้องแล้วตำรวจก็ไม่แย้งจริงๆ ถ้าตำรวจเห็นข้ออ้างเหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วเห็นว่าถึงแย้งไปเห็นสำนวนอัยการแล้วคงหลุดแน่ตำรวจก็ต้องตอบมาให้ชัด นี่เงียบทั้งสองฝ่ายเจตนาปกปิดข่าวเหมือนรับใบสั่งมา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตอกย้ำว่า “คุกมีไว้สำหรับขังคนจน” แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นถ้าจะจุดชนวนต้องไม่ลืมกรณีที่ไม่ยอมอุทธรณ์คดีพานทองแท้ที่อัยการไม่อุทธรณ์ ทั้งที่ผู้พิพากษาท่านหนึ่งทำความเห็นแย้งว่าพานทองแท้ ชินวัตรมีความผิดและที่น่าประหลาดใจคือ คนที่ลงนามทั้งสองคดีแทนอัยการสูงสุดเป็นคนคนเดียวกัน

การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการครั้งนี้สร้างความกังขาให้กับสังคม และมีคำถามถึงความเป็นอิสระของอัยการนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ของอัยการหรือเป็นโทษของประชาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นฉบับแรกที่ได้บัญญัติรับรองความเป็นอิสระของอัยการไว้ในมาตรา 255 และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม” โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 248

แต่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้หรือไม่โดยจรรยาวิชาชีพโดยหน้าที่แล้ว อัยการก็ต้องสั่งการด้วยความเป็นอิสระและสุจริตอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในการออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ให้แก่แผ่นดินด้วยการว่าต่างคดีแพ่ง-คดีปกครอง การเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

คืออย่างไรเสียอัยการต้องมีความอิสระในการทำงาน แต่มีคำถามว่า ด้วยบทบาทหน้าที่ดังกล่าวองค์กรอัยการควรมีความเป็นอิสระและเอกเทศที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหรือไม่ จะเห็นได้ว่า ไม่จำเป็นเลย เพราะแท้จริงแล้วอัยการก็ทำหน้าที่เป็นทนายของหน่วยงานรัฐนั่นเอง ทำไมจึงไม่อยู่กำกับของหน่วยงานใด

สิ่งที่ผมพูดคือ ความอิสระของอัยการต้องมี แต่ความอิสระขององค์กรอัยการควรจะมีไหม

คดีของนายวรยุทธหรือแม้แต่คดีของนายพานทองแท้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคดีที่สร้างความกังขาให้กับสังคม และชัดเจนว่าอัยการพยายามใช้ความเป็นอิสระในการอำพรางการทำงานเพียงแต่มีข่าวรั่วออกมาในคดีนายวรยุทธ ส่วนคดีนายพานทองแท้นั้นจนถึงวันนี้อัยการยังไม่ชี้แจงประชาชนว่าทำไมไม่อุทธรณ์คดี

ดังนั้นทั้งกรณีของนายวรยุทธและนายพานทองแท้นั้นสะท้อนชัดเจนว่า เราวางใจความเป็นอิสระขององค์กรอัยการไม่ได้ ทั้งนี้เราต้องแยกแยะความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ซึ่งควรจะมีอยู่และควรจะต้องมีจิตใต้สำนึกของอัยการ ไม่ว่ากฎหมายจะบัญญัติไว้หรือไม่กับแยกความเป็นอิสระขององค์กรออกจากกัน

มีคำถามว่า นอกจากคดีที่ปรากฏจนสังคมกังขาแล้วมีอีกกี่ร้อยกี่พันคดีที่ควรจะต้องสั่งฟ้อง แต่ไม่สั่งฟ้องจนทำให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นจากการถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยอาศัยความเป็นอิสระขององค์กรเป็นเครื่องอำพราง

วันนี้ชัดเจนแล้วว่า เราวางใจองค์กรอัยการไม่ได้ ต้องถามสังคมว่าเราจะให้องค์กรนี้ลอยนวลเพียงแต่ให้มีคณะกรรมการอัยการกำกับกันเองได้อยู่หรือไม่



ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น