xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ส.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.
1.“ม็อบ มธ.” จาบจ้วงสถาบันฯ ทำร้ายจิตใจคนไทย ด้าน “บิ๊กตู่” ชี้เกินเลยไปมาก ขณะที่ 105 อจ.ให้ท้าย นศ. แสดงความเห็นโดยสุจริต!

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศ (สนท.) แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้จัดชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ลานพญานาค มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งนอกจากมีเวทีปราศรัยแล้ว โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยังได้ตั้งโต๊ะรณรงค์ล่า 5 หมื่นชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เวทีปราศรัยของ สนท.เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นอกจากจะแสงสีตระการตา จนหลายฝ่ายสงสัยว่าใครเป็นผู้สนับสนุนหรือจัดหาให้แล้ว เวทีดังกล่าวยังมีการเรียกร้อง 10 ข้อในลักษณะจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งมีการเชิดชูบุคคลที่เคยต้องคดีหมิ่นสถาบันอย่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ขณะนี้หลบหนีอยู่ต่างประเทศอีกด้วย ร้อนถึงคนไทยทั่วประเทศที่รักและเทิดทูนสถาบันต่างไม่สบายใจ ตำหนิกลุ่มบุคคลที่ใช้เวทีปราศรัยดังกล่าวพาดพิงจาบจ้วงสถาบัน ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินเลยและไม่เหมาะสม พร้อมกันนี้ยังตำหนิผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อนุญาตให้ใช้สถานที่จนมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมตามมา

ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มธ.รังสิต ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงถึงการอนุญาตให้มีการจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดยระบุว่า นักศึกษาทำหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ จึงขอให้แสดงออกในขอบเขตของกฎหมายและหลีกเลี่ยงประเด็นที่ละเอียดอ่อน กระทั่งมาทราบภายหลังว่า มีผู้ปราศรัยบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา มธ.ปราศรัยในทางที่จะเป็นปัญหาได้ “ผมในฐานะรองอธิการบดี ผู้อนุญาต ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น”

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแค่ขออภัยของนายปริญญา ทำให้หลายฝ่ายในสังคมมองว่า การปล่อยให้มีบุคคลปราศรัยจาบจ้วงสถาบันภายในรั้วมหาวิทยาลัย ผู้รับผิดชอบแสดงออกด้วยการขออภัยเท่านั้นหรือ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการชุมนุมที่ มธ.รังสิตว่า เป็นการชุมนุมที่เกินเลยมากๆ ขอถามสื่อมองว่าอย่างไร การทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเกินเลยไปมากๆ จะทำอย่างไร แล้วกฎหมายอยู่ตรงไหน อย่าบอกว่ากฎหมายไปกดทับ มันไม่ใช่ เพราะถ้าละเมิดก็ต้องถูกลงโทษทุกคน ไม่เช่นนั้นกฎหมายก็เสียหาย เจ้าหน้าที่ก็เสียหายว่าไม่ทำงาน ถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายณัฏพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เท่าที่ดูคำพูดจากเวทีดังกล่าว เป็นเรื่องน่ากังวล เป็นการแสดงความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยกหรือตั้งใจทำลายสถาบันหลัก เป็นเรื่องไม่เหมาะสม อันตรายสำหรับประเทศ

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวในที่ประชุม ส.ว.ว่า รู้สึกอึดอัดการชุมนุมที่ มธ.รังสิต มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องเลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล การแก้รัฐธรรมนูญ เกินขอบเขตการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการร่วมกระทำการของผู้ต้องหา 2 คนที่เพิ่งได้รับการประกันตัวมา มีการไลฟ์สดของผู้หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นความยากลำบากในการบริหารจัดการของรัฐบาล ขอเสนอรัฐบาลให้เปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็ว ให้สมาชิก 2 สภาร่วมกันแสดงความเห็นการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนที่เกินขอบเขต ทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดความรุนแรงซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 รัฐสภาควรเป็นเวทีหาทางออกก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ภาค2

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงการชุมนุมที่ มธ.รังสิตว่า มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดเกินกว่าที่จะรับได้ คนไม่กี่คนพยายามชักจูงสังคมไทยไปถึงจุดขัดแย้ง เกินเลยการเรียกร้องยุบสภา ขับไล่ ส.ว.และล้มรัฐธรรมนูญ เป็นการทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 ชัดเจน สร้างการกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ขอเสนอให้ใช้ไม้แข็งกับหัวโจกชุมนุมคือ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนการชุมนุมทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดการสื่อโซเชียลที่นำสิ่งไม่เหมาะสมไปเผยแพร่ ตำรวจต้องถอนประกันนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก “ไมค์ ระยอง” และขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่จะจัดชุมนุม รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่รองอธิการบดี มธ.ออกมาขอโทษไม่เพียงพอ หลังจากนี้ หากมีการชุมนุมในมหาวิทยาลัย อธิการบดีผู้บริหารต้องรับผิดชอบ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังประเทศที่ให้ที่พักพิงผู้ที่ปลุกระดมด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ได้มีกลุ่มอาจารย์ 105 คน จากหลายมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ทำนองหนุนการชุมนุมของม็อบธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดยอ้างว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริต และเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 34

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่หลายฝ่ายในสังคมแสดงความห่วงใยในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกม็อบ มธ.ปราศรัยจาบจ้วง แต่กลุ่ม 105 อาจารย์กลับระบุว่า “การประณามความคิดเห็นแตกต่างว่า เป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้น ไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา การถกเถียงพูดคุยทั้งหมดจะถูกลดทอนคุณค่าว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ก้าวร้าว และสังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม”

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่ม 105 อาจารย์ออกแถลงการณ์สนับสนุนการแสดงออกบนหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาว่า “เป็นเรื่องของท่าน ผมหวังว่าในประเทศไทยเราคงไม่มีนักวิชาการเพียง 105 คน เราจะมีคนเก่งเพียงเท่านี้หรือ เรามีอีกตั้งเป็นพันเป็นหมื่นคน ก็ต้องดูว่า คนเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างไรก็ต้องว่ากันมา แต่ข้อสำคัญต้องไม่ไปก้าวล่วงหรือล่วงละเมิดอะไรต่างๆ ผมว่ามันไม่ใช่ประเทศไทยหรอกแบบนั้น และผมไม่แปลกใจรายชื่อตรงนี้ที่ผมเห็น เพราะแนวความคิดและการขับเคลื่อนของเขาที่ผ่านมามันก็เป็นแบบนี้ แต่มันหมิ่นเหม่เกินไปในขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้”

ขณะที่สภา มธ.นำโดยนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภา มธ.ได้แถลงจุดยืนเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ว่า 1.มธ.ยืนยันจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2.มหาวิทยาลัยยอมรับในสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของนักศึกษาภายใต้ขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอรับไปดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบด้าน เพื่อชี้แจงให้สังคมได้ทราบต่อไป และ 4.มหาวิทยาลัยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อในแนวทางการปรึกษาหารือกันแบบสันติวิธี

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ออกมาหนุนการชุมนุมของนักศึกษาว่า เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ ที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย พร้อมอ้างว่า การจับกุมปราบปรามนักศึกษาจะเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ ส่วนกรณีที่ข้อเรียกร้องของนักศึกษาเลยเถิดไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายธนาธร กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ อาจทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่สบายใจ แต่เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยเหมือนกันว่านี่คือความจริงที่กระอักกระอ่วน ทุกคนตระหนักรู้อยู่แล้ว แต่ไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เอาเรื่องนี้มาพูด นับว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความกล้าหาญมาก

ทั้งนี้ เริ่มมีการแจ้งความเอาผิดแกนนำม็อบบางคนที่ปราศรัยจาบจ้วงสถาบันบ้างแล้ว เช่น นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมือง จ.ขอนแก่น นำคณะกรรมการองค์กรเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ให้ดำเนินคดีนายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อนสิทธิมนุษยชนจากการขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ มธ.รังสิต ทั้งนี้ นายตุลย์ ขอให้ตำรวจยื่นหนังสือต่อศาลอาญาเพื่อถอนประกันตัวนายอานนท์ เพราะทำผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว และทำผิดซ้ำซาก โดยดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 112 และ 116 เพื่อให้ตัวการและผู้สนับสนุนได้รับโทษอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ยังมีนายสุขสันต์ เวียงจันทร์ เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.เมืองเลย ให้ดำเนินคดีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำเยาวชนปลดแอก และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศ ในความผิดมาตรา 112


2.“เนตร นาคสุข” ชิงลาออกรอง อสส. อ้างเพื่อรักษาภาพพจน์องค์กร ด้านผลสอบ สตช.พบ ตำรวจบกพร่องคดี “บอส อยู่วิทยา” เพียบ!

นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด
ความคืบหน้ากรณีนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทแสนล้านของกระทิงแดง ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กรณีขับรถเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้เห็นแย้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ส่งผลให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระทั่งทางอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็สั่งตั้งคณะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นกัน
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุดเเล้ว ซึ่งเป็นการยื่นก่อนที่นายเนตรจะเกษียนอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ โดยหนังสือที่นายเนตรยื่นลาออก มีการยืนยันถึงการสั่งคดีดังกล่าวว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยถูกต้องถูกระเบียบปฏิบัติและใช้เหตุผลประกอบอันสมควร แต่เนื่องจากสถาบันอัยการโดนกดดันจากสังคม จึงเห็นว่าเพื่อรักษาภาพพจน์ขององค์กร ขอแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก

อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่นายเนตรยื่นหนังสือลาออก อาจเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบกรณีสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เนื่องจากก่อนหน้าที่นายเนตรจะยื่นลาออก 1 วัน (10 ส.ค.) อัยการสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธของนายเนตร ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า อัยการสูงสุดได้อนุมัติการลาออกของนายเนตรแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ ได้สรุปผลสอบเรียบร้อยแล้ว โดย พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้สั่งเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าการไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ 2. ให้ตั้งชุดพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ใหม่ โดยใช้พยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้ใหม่ และ 3. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 นาย ที่เคยเป็นผู้สอบสวนและทำคดีนี้ โดยระบุว่า มีกี่คนที่โดนลงโทษแล้ว และที่ไม่ได้โดนลงโทษว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งบางคนยังมีการเลื่อนตำแหน่งอยู่

ขณะที่ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ในการตรวจสอบได้ไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคดีที่อยู่ในอำนาจชั้นพนักงานสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2555-4 มี.ค.2556 ช่วงที่ 2 ชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2556-20 ม.ค.2563 ในชั้นนี้ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2556 จนทำให้อัยการอาญาใต้ฯ มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมถึง 10 ครั้ง ซึ่งพยานที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมเป็นผู้ให้ปากคำชั้นพนักงานสอบสวน 4 ปาก เป็นพยานเพิ่มเติมชั้นอัยการ 16 ปาก และช่วงที่ 3 การทำความเห็นแย้ง

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลการตรวจสอบความบกพร่องของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่พบความบกพร่อง เนื่องจากการพิจารณาคำแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ แย้งได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าตามที่พนักงานอัยการกล่าวอ้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำความในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือความเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญประกอบเหตุผลการพิจารณา และพิจารณาจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนที่อัยการส่งมาเท่านั้น และแย้งได้เฉพาะประเด็นที่สามารถกลับความเห็นของพนักงานอัยการได้ ไม่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือหยิบยกพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณาได้ เนื่องจากอำนาจการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการยังพบข้อบกพร่องหลายแห่ง จึงจะประมวลเรื่องเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1.นำเรียนข้อบกพร่องทั้งหมดที่พบของตำรวจ และจะตรวจสอบว่ากรณีใดบ้างที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาชี้มูลไปแล้ว กรณีบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการชี้มูลหรือลงทัณฑ์ ทางคณะกรรมการจะเสนอ ผบ.ตร. เพื่อสั่งดำเนินการทางวินัยต่อไป หากพบความผิดทางอาญาจะเสนอให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป

2.คณะกรรมการตรวจพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เช่น รายงานการคำนวณความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญมายืนยันความเร็วของรถที่นายวรยุทธขับ ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และผู้เชี่ยวชาญอื่น ก็ยืนยันที่ความเร็ว 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีที่สามารถพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา เพื่อให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายได้ เห็นควรส่งพยานหลักฐานรายละเอียดข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินการตาม ป.วิอาญามาตรา 147 ต่อไป

3.คณะกรรมการตรวจพบความบกพร่องในการดำเนินคดีเรื่องยาเสพติดให้โทษ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยได้สอบถามเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แล้วพบว่า สารแปลกปลอม ทั้ง 2 ชนิด ที่เกิดในร่างกายนายวรยุทธ เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับโคเคน ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น การใช้ยาอะม็อกซิลีน ไม่ทำให้เกิดสารแปลกปลอมดังกล่าวได้ ซึ่งความผิดการเสพโคเคน มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับ 1 หมื่น ถึง 6 หมื่นบาท และยังมีอายุความอยู่ เห็นควรให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเรื่องนี้ต่อไป ซึ่ง ผบ.ตร.ได้สั่งการว่าจะเข้ามาดูแลการสั่งคดีเรื่องแย้งความเห็นของพนักงานอัยการด้วยเองทุกคดี

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า "ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าจะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด โดยขณะนี้จากการตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนกับการกระทำความผิดตำแหน่งสูงสุดในขณะนั้น คือ ระดับรองผู้บัญชาการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นใคร เพราะตนเองไม่ใช่คณะกรรมการทางด้านวินัย แต่หนึ่งในนั้นมีชื่อของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่จะต้องถูกสอบวินัย และดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับตำรวจทั้ง 14 นาย เป็นพนักงานสอบสวนชุดเก่า 11 นาย และชุดใหม่ 3 นาย ที่เกี่ยวข้อง”

ส่วนกระแสข่าวที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ ได้รับคำสั่งจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถนั้น พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีใครกดดัน พ.ต.อ.ธนสิทธิให้กลับคำให้การ

ด้านนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ส.ค. โดยยืนยันว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ สั่งตามที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาทั้งหมด ไม่มีข้อเท็จจริงนอกสำนวน และว่า เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เพราะได้พิจารณาทั้งสำนวนเดิมที่มีการสั่งคดีไว้อย่างไร ซึ่งครั้งแรกอัยการมีการสั่งฟ้อง ตามความเห็นของ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ที่บันทึกความเร็วไว้ที่ 177 กม./ชม. แต่เมื่อมีการสอบพยานใหม่หลังมีการร้องขอความเป็นธรรม พบว่า ผู้ให้ความเห็นความเร็วรถคนเดิม คือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นั้นมาเปลี่ยนคำให้การว่า ไม่ใช่ 177 กม./ชม. เพราะวิธีคิดไม่ตรงกัน เมื่อคำนวณจากวิธีใหม่ ทำให้ความเร็วเหลือแค่ 79 กม./ ชม. ถือว่าไม่เกินกฎหมายกำหนด

ประกอบกับพยานอื่นมาสนับสนุน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ก็ยืนยันว่า ความเร็วที่คำนวณจากภาพวิดีโอ เร็วแค่เพียง 76 กม./ชม. ไม่ถึง 80 กม./ ชม. รวมทั้งมีพยาน 2 ปากที่ได้จากการสอบสวน ได้แก่ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ให้การว่า ความเร็วของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กม./ชม. และพบว่าผู้ตาย เปลี่ยนเลนกะทันหัน จากซ้ายสุด มาขวาสุด

ส่วนประเด็นที่นายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง และทำให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมใหม่ จนต้องสั่งไม่ฟ้องนั้น นายเนตรยืนยันว่า ตามระเบียบอัยการไม่มีกำหนดว่าจะร้องได้กี่ครั้ง เพราะเป็นสิทธิของผู้ร้องทั้งฝ่ายผู้ต้องหา และผู้เสียหาย และการพิจารณาให้ความเป็นธรรมนายวรยุทธนั้น ก็มีการพิจารณามาเป็นลำดับชั้น ซึ่งกรณีนี้ ทางสำนักงานกฤษฎีกาของสำนักงานอัยการ เสนอมาว่า เห็นควรพิจารณาให้ความเป็นธรรม

นายเนตร กล่าวด้วยว่า ตนได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมาจริง เพราะตนเป็นคนสั่งคดีนี้ และสังคมก็กดดันสถาบันของตน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกคน ตนจึงขอลาออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ที่ตนทำหน้าที่รับราชการเป็นอัยการอยู่ในองค์กรนี้มาแล้ว 40 ปี

3.“ในหลวง” ทรงมีพระราชดำรัสให้ รมต.ใหม่ ทำสิ่งที่ถูก ให้ประชาชนมีความสุข!



เมื่อวันที่ 12 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ออกพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ความว่า ขอถือโอกาสนี้ให้พรด้วยความปรารถนาดีให้ทุกท่านได้มีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา ตลอดจนมีพลังในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำปฏิญาณ ทั้งนี้ เพื่อความสุขของประชาชน ความสุขของส่วนรวม ประชาชนส่วนรวม ภาพรวม และความเรียบร้อย สงบสุข ตลอดจนความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่ท่านจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ขอให้โชคดีและมีกำลังใจ ก็ขอให้กำลังใจ และทำในสิ่งที่ถูกก็แล้วกัน

4.กมธ.สภาฯ เตรียมสอบปมอนุ กมธ.งบฯ ปี 64 รีดเงิน 5 ล้าน แลกไม่ตัดงบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล!


นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จากกรณีที่ได้เกิดประเด็นขึ้นในรัฐสภา กรณีคณะอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่เห็นชอบงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พยายามซักถามกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำให้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถึงกับแฉกลางที่ประชุมว่า มีอนุกรรมาธิการบางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการผ่านงบประมาณให้
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า มอบให้ กมธ.กิจการสภาฯ ไปพิจารณา ยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอีก หากพบมีการกระทำจริง ต้องเอาผิด ได้สั่งการเลขาธิการสภาฯ ให้ความร่วมมือเต็มที่ ถ้าอธิบดีพูดคงยืนยันได้ แต่ต้องสอบให้ชัดเจนว่าคือใคร ต้องดูว่า กมธ.กิจการสภาฯ จะหาข้อมูลได้เพียงใด และรายงานให้สภาฯ ทราบ

เมื่อถามว่า กรณีนี้ถูกวิจารณ์ว่า ทำกันเป็นกิจการโรงงานสภาฯ นายชวน ตอบว่า หากข้าราชการผู้ใหญ่กล้าพูด ควรขยายผลเพื่อสกัดพฤติกรรมคนเหล่านี้ มองว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ อย่าเหมารวม ส.ส.ทั้งหมด หากอธิบดีเปิดเผยว่าเป็นใคร และ ป.ป.ช.ดำเนินการจริงจัง จะเป็นประโยชน์

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ประจำปี 2564 กล่าวว่า ในส่วนราชการอาจเข้าใจผิด อนุ กมธ.ใน กมธ.งบฯ ไม่ได้มีอำนาจอะไร มีหน้าที่เพียงตรวจความเหมาะสมของงบฯ ท้ายที่สุดแล้วต้องผ่าน กมธ.ชุดใหญ่ ส่วนใครจะไปทำอะไรอย่างไร ต้องดูว่าเป็นการไปคุยกันส่วนตัวหรืออะไรอย่างไรหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อเท็จจริง จะมาพูดว่าเกิดอะไรขึ้น คงไม่เหมาะไม่ควร

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ทส.ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลรายงานข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานที่มีอยู่มา ตนจะรวบรวมเสนอ รมว.ทส. เพื่อส่งต่อไปยัง กมธ.งบฯ 64 อธิบดีส่งรายงานมาให้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ตนเห็นเนื้อหาเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องลับ และเป็นกระบวนการสอบสวน มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ตนกำชับอธิบดีว่า หลักฐานต้องเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ ส่วนตัวไม่อยากไปสรุปว่า ใครถูกหรือผิด แต่ที่อธิบดีชี้แจงมา มีข้อมูลระดับหนึ่ง และอธิบดีต้องรับผิดชอบในข้อมูล เรื่องนี้มีคนเกี่ยวข้องอยู่ 2-3 คน หากสภาฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จะให้อธิบดีไปชี้แจง

ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดโปงกลางที่ประชุมคณะอนุ กมธ.แผนบูรณาการ 2 ว่า มีอนุ กมธ.รายหนึ่งเรียกรับเงิน 5 ล้านแลกกับการผ่านงบฯ ว่า เป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างมาก จึงต้องค้นหาความจริงให้กระจ่างว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร มีตัวละครใดเกี่ยวข้องบ้าง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างของตัวเองหรือไม่ ในการประชุมคณะ กมธ.จะขอมติที่ประชุมเพื่อสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้และเรียกนายศักดามาชี้แจงในสัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน

5.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก “เปรมชัย” 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีซุกปืนไรเฟิล!


นายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 66 ปี อดีตประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 66 ปี อดีตประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ พ.ศ. 2490
คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2561 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 จำเลยกระทำผิดกฎหมายด้วยการมีอาวุธปืนยาวไรเฟิล 3 กระบอก และปืนแก๊ป 1 กระบอกไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายในบ้านพัก ซ.ศูนย์วิจัย 3 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. โดยนายเปรมชัยให้การรับสารภาพ

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทให้จำคุก 1 ปี ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยยังมีโทษคดีอาญาจำคุกอีก 2 คดี ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จึงไม่อาจรอการลงโทษได้ หลังจากนั้น จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยศาลตีราคาประกัน 2 แสนบาท โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษด้วย

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน อาวุธปืนมีหลายกระบอก ได้ปืนมาคนละครั้งคราวนั้น ศาลเห็นว่า โจทก์ไม่มีการกล่าวอ้างในคำฟ้องตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย อีกทั้งโจทก์ไม่บรรยายว่า อาวุธแต่ละกระบอกได้มาอย่างไร และการตรวจยึดอาวุธปืนได้ในคราวเดียวกัน ฟังไม่ได้ว่า เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ส่วนที่โจทก์ขออุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นวางโทษไว้เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เป็นอาวุธของบิดาที่ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งลูกจ้างได้ขนย้ายเอามาวางไว้ในบ้านโดยจำเลยไม่ทราบ ศาลเห็นว่าขัดกับคำรับสารภาพ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้น จำเลยมีอาวุธ 5 กระบอก บางส่วนใช้ล่าสัตว์ หากมีการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม หรือกระทำความผิดล่าสัตว์ จะยากแก่การติดตามหาผู้กระทำผิด ถือเป็นเรื่องร้ายแรง และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าป่วยร้ายแรงนั้น ในเรือนจำมีโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีแพทย์ให้การรักษาอยู่แล้ว หากมีอาการร้ายแรงอาจส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

หลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายเปรมชัยได้ยื่นขอประกันตัว โดยเพิ่มหลักทรัพย์อีก 3 แสนบาท รวมกับหลักทรัพย์เดิมเป็น 5 แสนบาท ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 5 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น