xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วัดฝีมือบวกปาฏิหาริย์ 7 อรหันต์ ทำแผนฟื้นฟู THAI ต้องรอดสถานเดียว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นรายชื่อ “7 อรหันต์” คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยที่เสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะปลุกชีพบินไทยให้รอดสถานเดียวได้หรือไม่ เพราะงานนี้คล้ายกับจะเป็นไฟต์บังคับคือปล่อยล้มละลายไม่ได้ และ 7 อรหันต์มือระดับพระกาฬจะถอดใจทิ้งภารกิจกลางครันก็ไม่ได้เช่นกัน

ว่ากันตามกระบวนการฟื้นฟูฯ หลังจากที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง รักษาการดีดีการบินไทย ที่เข้ามารับหน้าเสื่อภายหลังนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ดีดีบินไทยคนก่อนลาออกไปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 นั้น เรื่องที่นายชาญศิลป์ ต้องทำก็คือการเสนอรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยให้กับศาลล้มละลายกลางพิจารณาในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ตามนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรก

สำหรับรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “มินิบอร์ด” ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วย 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี เซอร์วิสเซส จำกัด 2.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย 3.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตซีอีโอธนาคารทหารไทย และอดีตประธานสมาคมธนาคารไทย 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และอดีตดีดีการบินไทย และ 7.นายชาญศิลป์ เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย

หากศาลล้มละลายกลาง เห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าว ก็จะมีคำสั่งรับผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอจะมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนที่เปิดเจ้าหนี้เข้ามาแจ้งรายละเอียด และลงรับรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งที่บริษัทและกรมบังคับคดี เพื่อให้ทราบรายชื่อเจ้าหนี้และมูลหนี้ของบริษัท โดยจะกำหนดกรอบเวลายื่นเรื่อง และระยะเวลาทำแผนฟื้นฟูที่ต้องแล้วเสร็จด้วย


“มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ยื่นนั้นจะได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางแน่นอน ซึ่งขั้นตอนจากนั้นก็จะดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร และเดินตามแผน คาดว่าใน 3-5 ปี จะสามารถฟื้นการบินไทยให้กลับมายืนเป็นสายการบินแห่งชาติแบบเต็มภาคภูมิแน่นอน” นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจากศาลฯ ให้เป็นผู้บริหารแผน เนื่องจากกลุ่มเจ้าหนี้มากกว่า 70-80% ให้การสนับสนุนให้การบินไทยบริหารแผน ส่วนเจ้าหนี้ที่ไม่เห็นด้วยให้บริหารแผนมีประมาณ 20-30% เท่านั้น

ตามไทม์ไลน์กระบวนการแผนฟื้นฟูฯ ที่ นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลางของการบินไทย ชี้แจงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา นั้น วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้จะสามารถยื่นคำคัดค้านฟื้นฟูกิจการ จากนั้นศาลเปิดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คาดว่าปลายเดือนสิงหาคม –ต้นเดือนกันยายน 2563 ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ

และกรณีที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประมาณเดือนมกราคม 2564 ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และประมาณปลายเดือน เม.ย.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ประมาณว่าถ้าเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบ และเสนอผู้ทำแผนขึ้นมาแข่งกับบริษัทการบินไทย การแก้ปัญหาการบินไทยจะลากไปยาว ตกประมาณเดือนตุลาคม-พ.ย.2563 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงจะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน ปีหน้าศาลจึงจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ช่วงเดือน เม.ย.2564 กว่าที่ศาลจะพิจารณาและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผน ลากไปกลางปี 2564

โจทย์ใหญ่ของทำแผนฟื้นฟูการบินไทยเป็นงานหินมหาโหด เพราะต้องประเมินสถานการณ์ข้างหน้าให้ออกว่าอุตสาหกรรมการบินของโลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร รายรับและรายจ่ายของบริษัทในอนาคตจะทำได้สักเพียงไหน โครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างการบริหาร ขวัญกำลังใจของพนักงาน และภาระหนี้สินที่มีอยู่จะจัดการอย่างไร โดยต้องไม่ลืมว่าสายการบินหลายแห่งทั่วโลกมีสภาพไม่แตกต่างไปจากการบินไทยที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ล้มละลายกันเป็นทิวแถว โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะหวนกลับคืนสู่สังเวียนการบินได้อีกหรือไม่ และไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาพปกติ

ที่ผ่านมา หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มลายกลาง ตามกฎหมายล้มละลาย การบินไทย ได้พ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม โดยเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 48% จากนั้น กระบวนการทำแผนฟื้นฟูฯ และการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งไทยและเทศและลูกค้ารายใหญ่ก็ได้ดำเนินการเรื่อยมา ทั้งเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้น้ำมัน โดยเจ้าหนี้มีท่าทีที่ดีและมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ


ล่าสุด ที่นายชาญศิลป์ ขอให้รองฯวิษณุ ช่วยเจรจาก็คือ สัญญาที่การบินไทย ทำกับ 9 หน่วยงานรัฐในช่วงที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ 95 สัญญา เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาการประกอบการในสนามบินที่ทำกับการท่าอากาศยาน สัญญาการนำสินค้าเข้าออกที่ทำกับกรมศุลกากร เป็นต้น

ประเด็นนี้ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง 1 ใน 9 มินิบอร์ด ช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ว่าสัญญาที่ผูกพันกันไว้ตอนที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจทั้ง 95 สัญญา จะขอผ่อนผันเงื่อนไขสัญญาเพื่อให้การบินไทยเดินหน้ากิจการต่อไปได้ตามแผนฟื้นฟูฯ และยังมีสัญญาบางส่วนที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐวิสาหกิจ จะมีการปรับเปลี่ยนและกระทบข้อกฎหมายอย่างไร หรือไม่ ที่สคร.จะเป็นตัวกลางเจรจาหารือในส่วนนี้เพิ่มเติมต่อไป

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในรายละเอียดนั้นยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ด้วยว่าต้องรอศาลฯ พิจารณาเห็นชอบรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฯ เสียก่อน แล้วมาจัดทำแผนฟื้นฟูฯ

อย่างไรก็ตาม การบินไทย ได้ทำกรอบแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น 2 ส่วน คือ หนึ่ง ปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจเจรจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ขอรีไฟแนนซ์หรือปรับโครงสร้างทุนในรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม หาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการหรือต่อยอดธุรกิจ

รวมทั้งแผนฟื้นฟูกิจการอาจกำหนดให้ผู้บริหารแผนทำนิติกรรมสัญญาเพื่อจัดการทรัพย์สินและกิจการเพื่อให้การบินไทยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูลหนี้ที่การบินไทย ระบุในคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท

และ สอง การบริหารจัดการกิจการของการบินไทย เนื่องจากการดำเนินธุรกิจมีต้นทุนสูงไม่เพียงพอต่อรายได้ การบินไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร หน่วยธุรกิจต่างๆ เพื่อความคล่องตัวและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยกเลิกเส้นทางบินกำไรต่ำ


กล่าวโดยสรุปแนวทางบริหารจัดการกิจการที่การบินไทย ยื่นให้ศาลพิจารณาในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หลักๆ คือ ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบินและปรับปรุงฝูงบิน ยกเลิกเส้นทางบินกำไรต่ำ จัดเส้นทางบินให้เหมาะสม, ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน ปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจที่ทำกำไร ตั้งบริษัทย่อย หาพันธมิตรร่วมทุน หาโอกาสธุรกิจใหม่


อีกทั้งยังต้องปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ เช่น ปรับช่องทางขายบัตรโดยสาร เพิ่มช่องทางอินเตอร์เน็ต ปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มการหารายได้ เช่น บริการลูกค้าภาคพื้นแบบครบวงจร ซ่อมและบำรุงอากาศยาน ธุรกิจครัวการบิน และสุดท้าย ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ปรับลดพนักงาน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ ฯลฯ ให้เหมาะสมตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน

หากไล่ดูรูปธรรมของแผนฟื้นฟูฯตามกรอบข้างต้นในช่วงเวลาที่นายชาญศิลป์ เข้ามาเป็นดีดีบินไทย จะเห็นการเริ่มต้นลงมือปรับรื้อใหญ่ เช่น การปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน การตั้งคณะทำงาน “Survival Team” จากตัวแทนทุกหน่วยธุรกิจ 21 หน่วยมาร่วมคิดและรับฟังความเห็นพนักงานเพื่อนำไปผนวกกับแผนฟื้นฟูองค์กรให้การทำงานของฝ่ายบริหารและพนักงานไปในทิศทางเดียวกัน คณะทำงานชุดนี้ จะต้องจัดทำแผนธุรกิจระยะเร่งด่วนและระยะสั้น 4 เดือน (9 ก.ค.-31 ธ.ค.63) เดินหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็น “THE BEST”


นอกจากนั้น ยังแต่งตั้งโยกย้ายสองผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) คือ นางณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล อดีตซีเอฟโอ รวมถึง สุวิมล บัวเลิศ ที่คุมงานด้านบุคลากรและบริหารทั่วไป เข้าสังกัดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยนายชาญศิลป์ ดึงงานด้านทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไปมาดูแลเอง

ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่นายพีระพันธุ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่ารายได้ของ EVP ขนาดลดเงินเดือนลงแล้ว 50% ยังรับเกินกว่า 200,000 บาท/คน ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนและรายได้และสิทธิประโยชน์ของฝ่ายบริหารการบินไทยเป็นเรื่องที่นายชาญศิลป์ เข้ามาผ่าตัดใหญ่ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ให้อยู่ได้

การลงมีดผ่าตัดใหญ่ต่อไปคือการรื้อใหญ่โครงสร้างของสายการพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยการขายตั๋วการบินไทยปี 2562 ที่ผ่านมา การขายตั๋วที่เกิดขึ้นในต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1.35 แสนล้านบาท และรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องเข้าไปปรับเพิ่มการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตและต้องอุดรูรั่ว

ในส่วนของเจ้าหนี้และหุ้นกู้ที่จะต้องเรียกความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟูฯ ดีดีบินไทยคนล่าสุด ได้ประชุมกับตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ของการบินไทยจากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์จำนวน 87 สหกรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงแนวทางการหารายได้และชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน นายชาญศิลป์ ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพิ่มเติมกรณีการผิดชำระหนี้ตามนิติกรรมเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือทางการเงิน และการออกตราสารหนี้ มูลค่ารวม 85,068,828,903 บาท หรือ 33.14% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ตามงบการเงินล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวม 256,665,147,249 บาท และคิดเป็น 34.74% ของหนี้สินรวมของบริษัทที่อยู่ที่ 244,899,441,960 บาท ทั้งนี้ บริษัทได้รับการบอกกล่าวเรียกให้ชำระหนี้ภายใต้หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทและยังมิได้ไถ่ถอนครบทุกชุด และเนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้อยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) และไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ในขณะนี้

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือทางการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) จำนวน 1,001,526,512.57 บาท, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 500,602,739.73 บาท, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จำนวน 11,958,699,651 บาท

ส่วนการผิดชำระหนี้เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ ประกอบด้วย หุ้นกู้ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีหนังถือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลันเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จำนวน 5 ชุด มูลค่ารวม 8,788 ล้านบาท, หุ้นกู้ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีหนังถือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลันเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 จำนวน 12 ชุด มูลค่ารวม15,500 ล้านบาท, หุ้นกู้ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีหนังถือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 จำนวน 2 ชุด มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีหุ้นกู้ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นกู้ที่ออกแต่ละครั้งและยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมด มีหนังสือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 จำนวน 13 ชุดมูลค่ารวม 21,820 ล้านบาท, หุ้นกู้ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นกู้ที่ออกแต่ละครั้งและยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมด มีหนังสือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 จำนวน 10 ชุด มูลค่ารวม 16,500 ล้านบาท และหุ้นกู้ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นกู้ที่ออกแต่ละครั้งและยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมด มีหนังสือแจ้งให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 จำนวน 4 ชุด มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท



แผนฟื้นฟูฯ การบินไทยในอุ้งมือ 7 อรหันต์ จะฝ่าฟันวิกฤตนำการบินไทยกลับขึ้นมายืนแท่นสายการบินแห่งชาติอันดับหนึ่ง ดังที่ “ชาญศิลป์” หมายมั้นปั้นมือได้หรือไม่ ดูเหมือนจะมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ “ต้องทำให้ได้”




กำลังโหลดความคิดเห็น