xs
xsm
sm
md
lg

พิษโควิด-19 "การบินไทย" กระอักขาดทุนยับ 94.1% หนี้สินล้นพ้นตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิด-19 พ่นพิษ กดดัน "การบินไทย" เจ็บหนัก รายได้รวมในไตรมาส 2/63 ลดลง 94.1% ลงมาอยู่ที่ 2,492 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 62 ที่มีรายได้ถึง 40,017 ล้านบาท ตลท. ขึ้น SP ห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว เหตุผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อการสอบทานข้อมูลทางการเงิน

กลางดึกของคืนวันที่ 13 สิงหาคม 2563 การบินไทยได้ส่งรายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลประกอบการในงวด 3 เดือน และครึ่งปีแรก ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยในไตรมาสไตรมาส 1/2563 THAI ขาดทุนกว่า 22,676 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของไตรมาส 2/2563 ขาดทุน 5,340 ล้านบาท

โดยต่อมาการบินไทยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 เพื่อยื่นคำร้องขอเข้าสู่แผนฟื้นฟู ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว หรือ Automatic Stay ส่งผลให้สามารถประกอบธุรกรรมได้เพียงบางอย่างเท่านั้น โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค.63

ขณะที่ในส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดล่าสุด ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เหลือเพียง 8,425.50 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงจากงวดปี 2559 ซึ่งมาอยู่กว่า 49,548.92 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 314,044 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท หนี้สินเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว จำนวน 89,157 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า -18,155 ล้านบาท นั่นหมายความว่าปัจจุบันนี้การบินไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 18,155 ล้านบาท หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าอยู่ในสถานะ "หนี้สินล้นพ้นตัว"

ต่อมา ช่วงสายของวันที่ วันที่ 14 ส.ค.63 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้กล่าวถึงงบผลประกอบการและแผนฟื้นฟูกิจการว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศมีความเข้มงวดและจำกัดการเดินทาง ส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก

"สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้การบินไทยจำต้องปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องต่อปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง ตลอดจนถึงมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 การบินไทย และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นในไตรมาสที่ 1 นั้นอยู่ที่ 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท (15.8%) ส่วนบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไตรมาส 2 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรง อีกทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้การบินไทยจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ บริษัทได้มีการปรับรู้แบบตามตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด โดยไตรมาส 2 นี้ได้เปิดให้บริการเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้า และเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ หรือ Charter Flight รวมถึงเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้านเท่านั้น ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเฉลี่ยรวม หรือ ASK ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารหรือ RPK ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารหรือ Cabin Factor เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%

ขณะที่การขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์หรือ Freight Load Factor เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8% เนื่องจากบริษัทหยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษ การให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน ทำให้บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1%

"ในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทฯ ได้มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในสถานการณ์วิกฤต พร้อมทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหารและพนักงาน ได้ร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.63 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท (67.4%) ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท (22.2%)"

ทั้งนี้ ล่าสุด "หุ้นการบินไทย" ได้ถูกพักการซื้อขายเนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงิน โดยหลังจากการบินไทยได้ส่งหนังสือแจ้งงบการเงินเมื่อคืนที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้เช้าวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้นการบินไทยโดยจะมีผลตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเช้าวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยทาง ตลท. ได้ให้เหตุผลของการขึ้น SP หุ้นการบินไทยว่าเนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินของการบินไทยทั้งไตรมาสที่ 1/2563 และ 2/2563

ต่อมา ทางการบินไทยได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า การที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานและรับรองงบการเงินแล้วแต่ที่ยังไม่แสดงความเห็นเพราะยังมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญคือ

ประเด็นที่ 1 "บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน" โดยกลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญจำนวนกว่า 262,223 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุน 18,228 ล้านบาทในงบการเงินรวม โดยผลขาดทุนนี้สะสมมาตั้งแต่งวดบัญชีปี 2556 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนเกินทุน และขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ประเด็นที่ 2 "ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องยุติการบินในสภาวะปกติ" ซึ่งการที่โรคระบาดได้ขยายตัวไปทั่วโลก และเกิดผลกระทบในทุกประเทศ และทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว มาตรการปิดประเทศทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินโดยตรง ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการที่รัฐกำหนด จำเป็นที่จะต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม จากการประกาศคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ทำให้บริษัทสามารถกลับมาให้บริการการบินได้อีกครั้ง โดยได้เปิดให้บริการเที่ยวบินบางเส้นทาง และบางประเภท ในเดือนที่ผ่านมา แต่ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะยังไม่สามารถกลับมาให้บริการโดยปกติ แต่กระนั้นก็ยังได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจการบินเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

ประเด็นที่ 3 "บริษัทเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ" ซึ่งการที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยศาลล้มละลายกลางก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันถัดไป และได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม หรือวันจันทร์ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งทาง บมจ.การบินไทย ได้ให้ข้อสรุปว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อการสอบทานข้อมูลทางการเงิน ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร หรือการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบทานงบการเงินได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนตามสถานการณ์ที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งการเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เป็นกระบวนการปกติของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายสำหรับกิจการที่ยังมีโอกาสที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว




กำลังโหลดความคิดเห็น