xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมรัฐบาล มาระเบิดฆ่าพวกเรา?

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



เป็นคำถามที่ประชาชนชาวเลบานอนโกรธแค้นรัฐบาลของตนที่มาจากการเลือกตั้ง เสนอตัวจะเข้ามาแก้ปัญหาให้แก่พวกเขา ทั้งเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดๆ ตามมาด้วยโรคไวรัสร้ายแรงที่ทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา เป็นการซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจชนิดโงหัวไม่ขึ้น

ระเบิดโกดังเก็บสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรท ที่มีปริมาณเกือบ 3 พันตัน ที่ระเบิดติดๆ กันในค่ำวันอังคารที่แล้วในช่วงเลิกงานเย็นพอดี (18.09 น.) มีความรุนแรงเทียบเท่าการเกิดแผ่นดินไหวราวๆ 3.3-4 ริกเตอร์ที่ทำลายอาคารบ้านเรือนที่เป็นตึกสูงๆ ต้องพินาศย่อยยับ ฆ่าประชาชนตายไปอย่างน้อย 200 ราย และที่สูญหายในกองอิฐปรักหักพังเป็นจำนวนหลายพัน ตลอดจนทำให้ประชาชนในรัศมี 10 กิโลเมตรต้องกลายเป็น “คนไร้บ้าน” อย่างน่าอนาถ เพราะตึกรามคอนโดฯ ที่ตนอาศัยอยู่ ถูกแรงอัดจากระเบิดทำให้กระจกแตก ประตูหน้าต่างพังทลาย อาศัยพักพิงไม่ได้อีกต่อไป ต้องมานอนอยู่บนถนนเป็นคนเร่ร่อนอย่างไม่น่าเชื่อ

เวลาผ่านมาได้ 1 อาทิตย์พอดี พร้อมๆ กับประชาชนต้องสูญเสียญาติพี่น้องที่ต้องตายจากถูกบ้านเรือนพังทับหรือกระจกบาด และต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งทางสภากาชาดไทยตั้งโรงพยาบาลสนาม เพราะโรงพยาบาล 3 แห่งใหญ่ก็พังพินาศไปกับแรงระเบิดด้วย

พวกเขาร่ำไห้เดินทางไปขับไล่รัฐบาลที่ทำเนียบและที่สภา โดยไม่มีรมต.หรือนายกฯ ออกมาพบประชาชนแต่อย่างใด ได้แต่ส่งกองทหารมายิงแก๊สน้ำตาและยิงลูกกระสุนยางเพื่อหยุดยั้งความโกรธแค้นของประชาชน

ไซโลเก็บเมล็ดธัญพืชพวกข้าวสาลี (ที่จะมาทำขนมปัง) ก็ถูกแรงระเบิดพังเสียหายไม่มีชิ้นดี

มีแต่คำแถลงของนายกฯ ผ่านทางโทรทัศน์ว่า รัฐบาลไม่ล่วงรู้ถึงสารเคมีอันตรายที่เก็บอยู่ใกล้ท่าเรือใหญ่เป็นจำนวนมาก!

ประชาชนเดินขบวนมาขับไล่ให้รัฐบาลลาออกไปทั้งหมด เพราะเหตุการณ์นี้เกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวสิ้นเชิง จนไม่รู้แม้แต่สารอันตรายเก็บไว้ในใจกลางเมือง เพราะมีการคอร์รัปชันมโหฬารมาตลอดสิบๆ ปี จนสหประชาชาติก็ได้เตือนถึงความยากจนของคนเกือบครึ่งประเทศที่อยู่ใต้เส้นความยากจน, น้ำประปาก็ไหลบ้างหยุดบ้างไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสไฟฟ้าด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลหลายสมัยไม่ได้เอาใจใส่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย มีคนไม่กี่ตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ทำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพวกเจ้าของโรงแรม และอุตสาหกรรมด้านขนส่งทางเรือ เพราะเลบานอนไม่มีที่ดินสำหรับผลิตเกษตรแต่อย่างใด ต้องซื้อหาสินค้าแทบทุกชนิดมาจากต่างประเทศ เพียงแต่มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก และอาคารโบราณที่สะสมแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่เป็นพันๆ ปี ทั้งจากโบสถ์คริสตจักร และอาณาจักรออตโตมัน

ความจริงปีที่แล้ว (2019) ประชาชนก็ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าเงินอ่อน (เพราะมีคนเลบานอนถอนเงินออกไปต่างประเทศจำนวนมาก) และการนำเข้าสินค้าต่างๆ แม้แต่ราคาขนมปังก็เขยิบสูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมาก

การโกงบ้านกินเมืองมีอยู่สูง พอๆ กับเหตุการณ์ Arab Spring ที่เกิดที่ประเทศตูนิเซียปี 2011 ที่นักศึกษาจบใหม่จะหางานทำลำบากเมื่อเศรษฐกิจกำลังหดตัว และความร่ำรวยกระจุก แต่จนกระจาย

ประกอบกับโครงสร้างประชากรที่มี 3 กลุ่มศาสนาใหญ่ๆ คือ คริสเตียน (ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยโรมัน และหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสได้สิทธิปกครองเลบานอน-ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) และมุสลิมที่แบ่งเป็น 2 ค่ายคือ สุหนี่ และชีอะห์ และเคยเกิดสงครามกลางเมืองมาแล้วยุคทศวรรษ 1975-1990 เพราะความไม่ลงรอยกันของกลุ่มศาสนาต่างๆ นี้

หลังสงครามกลางเมือง ได้มีการบูรณะบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ โดยมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งได้มีการเลือกตั้งตลอดมา แต่หลังเลือกตั้งก็มีแต่รัฐบาลที่หิวโหยตักตวงโกงบ้านกินเมืองอย่างหนัก และการแบ่งสรรอำนาจใน 3 กลุ่มศาสนาที่ให้ปธน.เป็นคนคริสเตียน, นายกฯ จะเป็นนิกายสุหนี่ โดยมีประธานสภาเป็นคนชีอะห์ ซึ่งทำให้มีการปล่อยปละละเลยการบริหารประเทศจนไม่มีเอกภาพ จนทำให้เกิดการโกงกินบ้านเมืองอย่างหนัก

ระเบิดรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นในเย็นวันอังคาร แต่รัฐบาลไม่ออกมาให้กำลังใจประชาชนที่สูญเสียชีวิต, และบ้านเรือนของตน มีแต่ปธน.มาครงของฝรั่งเศส (อดีตเจ้าอาณานิคม) เดินทางเพื่อนำความช่วยเหลือมาให้...ประชาชนชาวเลบานอนบอกกับปธน.มาครง ว่า อย่าให้เงินช่วยเหลือและสิ่งของประทังชีวิตต่างๆ ตกอยู่ในมือรัฐบาล เพราะมันจะไม่ไปถึงประชาชน ขออย่าให้ส่งผ่านรัฐบาลที่มีแต่คอร์รัปชัน ซึ่งมาครงก็ให้สัญญาว่า จะไม่ยอมให้เช็คเปล่าแก่รัฐบาล จะส่งความช่วยเหลือผ่านทางสภากาชาดหรือเอ็นจีโอเท่านั้น เป็นการหักหน้ารัฐบาล

นายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดผ่านหน้าจอทีวีเรื่องการคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาใหญ่สุดของประเทศ เขาบอกว่า เรื่องโกงกินนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ในรัฐบาลก่อนหน้าเขาหลายชุด และหมักหมมมานาน รวมทั้งสารเคมีที่แอบซุกอยู่กลางใจเมืองนี้เกิดขึ้นมาตั้ง 6 ปีที่แล้ว ประหนึ่งว่ารัฐบาลเขาไม่ผิด

เขาบอกว่า เขาได้รับเลือกตั้งเข้ามา ด้วยความตั้งใจปราบคอร์รัปชัน แต่ทำไม่ได้เลย เพราะมีกลุ่มชนชั้นปกครองที่กีดกันทุกๆ อย่าง ไม่ให้เกิดการบริหารที่โปร่งใสได้ เขาโยนความผิดไปยังกลุ่มชนชั้นปกครองและอภิสิทธิชน ทั้งๆ ที่เขาอยู่มาจะครบ 1 ปีแล้ว ซึ่งถ้าเขาฝ่าเหล่าชนชั้นขี้โกงเหล่านี้ไม่ได้ เขาก็ควรจะลาออกไปซะ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ประชาชนเดินขบวนเรียกร้องหลังเกิดระเบิดกลางเมือง

หญิงและชายชาวเลบานอนที่กลายเป็น “คนไร้บ้าน” ออกมาเดินประท้วงเต็มท้องถนน ต่างตะโกนว่าจะไม่ทนอีกต่อไป เพราะประชาชนถูกปล้นภาษีอย่างไม่มีความเกรงใจใดๆ (น้ำและไฟ-ดับๆ เปิดๆ และโครงการสาธารณูปโภคมีการโกงกินและผูกขาด จนคุณภาพการบริการไม่ดียิ่ง) แล้วรัฐบาลยังปล่อยให้ระเบิดมาฆ่าพวกเขาอีก ประชาชนไม่เหลือความหวังใดๆ; เสียทั้งบ้าน, ทั้งงาน, ทั้งชีวิต ต้องการการปฏิรูปแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน, ไม่เอาระบบปัจจุบันอีกต่อไป

วันที่ 7 หลังระเบิด นายกรัฐมนตรีต้องประกาศลาออกทั้งครม. เพราะมีแรงกดดันรมต. 3-4 คนให้ลาออกเพื่อไม่ให้ครม.ครบองค์

นายกฯ ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งครม.ต่อปธน. แต่ปธน.ก็ขอให้ครม.ชุดนี้รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ในสภาฯ เดิม ซึ่งประชาชนก็ยังเดินหน้าประท้วงรัฐสภาต่อ เพื่อให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่โดยเร็ววัน

ประชาชนกำลังเดินหน้ากดดันให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

ฮัสซัน ดิอาบ นายกรัฐมนตรีรักษาการของเลบานอน


กำลังโหลดความคิดเห็น