xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับพิรุธอัยการ...ดุลพินิจบกพร่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ที่แถลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี กรณีไม่ฟ้องคดี “บอส กระทิงแดง” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ในส่วนของอัยการ ตามคำสั่งของ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา

แทนที่จำทำให้สังคมคลายความเคลือบแคลง กลับถูก “จับโป๊ะ” มากขึ้นไป ด้วยคำชี้แจงของอัยการที่ยืนยันว่า คำสั่งไม่ฟ้องคดีของ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดนั้นถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

อีกทั้งเหตุผล 7 ข้อของอัยการที่อรรถาธิบายว่า เหตุใดจึงสั่งไม่ฟ้อง “เสี่ยบอส” ก็ถูกตอกกลับอย่างง่ายดาย ยังไม่รวมถึงเรื่องที่อัยการไม่พูดถึงอีกต่างหาก

เริ่มตั้งแต่การอ้างข้อกฎหมายว่า “คดีต้องมีพยานหลักฐานพอฟ้อง” ที่เป็นการชี้แจงแบบ “กำปั้นทุบดิน” เพราะเป็นหลักการทั่วไปของกระบวนการยุติธรรม แล้วยังประจานความบกพร่องของ “ดุลพินิจ” ของอัยการผู้มีอำนาจด้วย

เพราะตามรูปการณ์ ประจักษ์พยาน ที่ไม่รวม “2 พยานภายหลัง” นั้น ไม่ใครก็ใครต้องบอกว่า “พอฟ้อง” ทั้งสิ้น ยังไม่รวมกรณีไม่ฟ้อง “เมาขณะขับ” เพราะเห็นว่า “เมาหลังขับ” หรือการเห็นพ้องกับทางตำรวจในส่วน “โคเคน” ที่หายไปจากสำนวน เพราะเข้าใจว่าเป็น “ยารักษาฟัน” อีก

เช่นเดียวกับกรณีที่ตำรวจเห็นไม่สั่งฟ้องเพราะมีการขับรถโดยที่ไม่ประมาท โดยที่ความเร็วนั้นไม่ถึง 170 กม./ชม. เป็นแค่ 70 - 80 กม./ชม. จนหลงลืมอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรค 4 บัญญัติว่า

“การกระทำโดยประมาทได้แก่การกระทำผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจจะใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอหรือไม่ เมื่อมันเป็นเช่นนี้ จากหลักกฎหมายเห็นว่าถ้ามีเจตนาก็ไม่ผิดฐานประมาท แต่จะผิดฐานประมาทต้อง หนึ่ง ไม่มีเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอหรือไม่”

เอาผิดก็ได้ ไม่เอาผิดก็ได้ อยู่ที่ดุลพินิจ

ตรงกับที่ “เดอะตุ๋ย” พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ออกมาชี้ช่องว่า มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องโทษมีความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาท

ไม่ว่าจะขับช้า หรือเร็วก็ตาม ถ้าไปทำใครตาย ย่อมมีความผิดฐานขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้

แทนที่จะว่ากันตามตัวบทกฎหมาย กลับไปให้น้ำหนักับ “พยานระลึกชาติ” อย่าง จารุชาติ มาดทอง ที่เพิ่งเสียชีวิตไป กับ “เสธ.ต้อย” พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ที่ทำให้ “ดาบวิเชียร” ผู้วายชนม์ กลายเป็นผู้ต้องหาประมาทร่วม

จนมีคนประชดว่า ดีที่ “ดาบวิเชียร” เสียชีวิตไปแล้ว ไม่เช่นนั้นคงต้องมาชดใช้ค่าซ่อมรถหรู เหตุเพราะขี่รถโดยประมาท ไปปาดหน้ารถเฟอรารี

ข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากอัยการที่เป็น “ทนายแผ่นดิน” ก็เรื่องที่ว่า คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำของผู้ต้องหา ที่เหมือนหลงลืมสภาพศพของ “ดาบวิเชียร” ที่ถูกลากไป 200 เมตร เสียชีวิตคาที่

ต่อมาอัยการยังบอกด้วยว่าเหตุที่ต้องบรรจุ “พยานระลึกชาติ” เข้าไปในสำนวน เพราะ กมธ.กฎหมาย ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สรุปเรื่องส่งมา ทั้งที่อัยการสูงสุดขณะนั้นยุติเรื่องขอความเป็นธรรมและสั่งฟ้องตามอัยการกรุงเทพใต้ไปแล้ว กลายเป็นว่า “ความอิสระ” ของอัยการ ที่กระทั่งนายกรัฐมนตรียังสั่งไม่ได้ กลับถูก กมธ.สนช.ที่มี “คนนามสกุลใหญ่” เป็นประธานครอบงำได้อย่างง่ายดาย

เอาเข้าสำนวนไม่ว่า แล้วยังเชื่อคนง่าย “พยานระลึกชาติ” ว่าอย่างไรก็เห็นตามนั้น มิได้ทวงถามประจักษ์พยานว่า 2 พยานที่ว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่อย่างไร แล้ว 2 พยานมาด้วยกันได้อย่างไร

เภายหลังคำชี้แจงจากคณะกรรมการของอัยการ ทำให้เรื่องราวน่าจะบันเทิงขึ้นทันที เมื่อ “กากี่นั้ง” อย่าง อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด ทำบันทึกข้อความถึง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เกี่ยวกับการแถลงข่าวดังกล่าว โดยชำแหละเป็นข้อๆว่า

1. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งที่ไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง

คำสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคำสั่งโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ในกรณีที่เดิมพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้ว แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม ให้เสนอตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดีให้เสนออัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่ง

2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48 (การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 กำหนดว่า “คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งกรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ 6 วรรคท้าย หรือข้อ 128 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี

3. กรณีตามคดีนี้ได้ความว่า ในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของ วรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลังที่มีประเด็นพิจารณาถึงคำให้การ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย อัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อนไม่น่าจะกระทำได้ และจะมีผลการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ ทำให้คำสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้องไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้

5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว จึงมีนัยสำคัญที่ควรพิจารณาว่าเกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่ หากเป็นผลต้องถือว่าคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่ง ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่ายังมิได้ถูกกลับ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่

6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว ดังนั้นพนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีกก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทนไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าว หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งใด คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง อัยการสูงสุดก็มีอำนาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมหรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคำสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ตามดุลพินิจที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสำนวน

“แต่ตราชูจะเอียงนั้นอยู่ที่คนชั่งตราชู ตรงนี้จึงต้องไปดูตรงบุคลากรว่าได้สั่งคดีตามกฎหมายและระเบียบถูกต้องโดยชอบหรือไม่ เพราะดุลพินิจในการสั่งคดีนั้น จะต้องชี้แจงให้ชัดว่าเป็นอย่างไร ถ้าสั่งโดยชอบก็หมดปัญหา แต่ถ้าสั่งโดยไม่ชอบก็จะต้องดูเรื่องวินัย ผมในฐานะ ประธาน ก.อ.ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว ในสำนวนนี้ประชาชนยังเข้าใจผิดจากคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องตามที่ทราบกันตามที่ปรากฏ เพราะในมาตราการสั่งคดีนั้น สำคัญที่ว่าถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือไม่ อยากให้ไปดูข่าวที่ตนนำเสนอถึงอัยการสูงสุด แล้วจะทราบว่าคดีนี้ยังไม่จบ” คือคำประกาศของ “อรรถพล” ที่คงไม่กัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย

ป่านนี้อัยการบางคนอาจรำพึง Winter in coming หน้าหนาวมาเร็วกว่าที่คิด!


กำลังโหลดความคิดเห็น