xs
xsm
sm
md
lg

บันทึก Save อัยการของประธาน ก.อ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะทำงานทีมอัยการแถลงผลตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” ณ ห้องประชุม สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563
"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

กรณีรองอัยการสูงสุด นายเนตร นาคสุข มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถึงตอนนี้น่าจะมีข้อสรุปเบื้องต้นได้แล้วว่า นายเนตร นาคสุข สั่งไม่ฟ้อง โดยมิชอบ

ที่มาของข้อสรุปนี้ก็คือ บันทึกข้อความฉบับที่ 2 ของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม หลังจากได้ฟังการแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงาน ตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ

บันทึกประธาน ก.อ.ระบุว่า การที่รองอัยการสูงสุด คือนายเนตร ไปเอาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมที่นายวรายุทธ ไปร้องกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาพิจารณาใหม่ และสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธนั้น น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เหตุผลก็คือ หลังจากอัยการเจ้าของสำนวน และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องนายวราวุธ เมื่อปี 2556 แล้ว นายวรยุทธ ได้ร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งผ่านช่องทางต่างๆ ครั้งหลังสุดคือ ผ่านกรรมาธิการกฎหมาย สนช.ในประเด็นเรื่องความเร็วของรถที่รองศาสตราจารย์ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มาให้การต่อ กรรมาธิการ ซึ่งอัยการสูงสุดในขณะนั้น คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธแล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หากจะมีคำสั่งให้ความเป็นธรรมใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้อง เป็นสั่งไม่ฟ้อง ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่ง

“การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อนไม่น่าจะกระทำได้ และจะมีผลการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ ทำให้คำสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้องไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้”

บันทึกของประธานคณะกรรมการอัยการนี้ หักล้างสวนทางกับผลการตรวจสอบคณะทำงานของอัยการสูงสุดโดยสิ้นเชิง โดยคณะทำงานฯ เห็นว่า “การสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว”

ผลการตรวจสอบดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นเรื่อง “อัยการอุ้มอัยการ” ช่วยเหลือกันเอง ไม่ให้รับผิด ขณะเดียวกัน ก็โยนความผิดไปให้ตำรวจ ด้วยการอ้างว่า ในสำนวนที่ตำรวจส่งมาให้อัยการพิจารณานั้น ไม่มีประเด็นเรื่องการตรวจพบสารโคเคนในตัวนายวรยุทธ และเรื่องคำให้การของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคำนวณความเร็วรถของนายวรยุทธได้ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของอัยการ มีเพียงคำให้การของพยานที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังว่า นายวรยุทธ ขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเหตุให้รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง

คณะกรรมการอัยการ เป็นองค์กรสูงสุดของอัยการ เป็นผู้คัดเลือกอัยการสูงสุด และแต่งตั้งอัยการในระดับบริหาร เดิมประธานคณะกรรมการอัยการ คือ อัยการสูงสุดที่เป็นประธาน ก.อ.โดยตำแหน่ง ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561) มีผลบังคับใช้วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กำหนดให้ประธานคณะกรรมการอัยการมาจากการเลือกตั้ง ของอัยการทั่วประเทศ

นายอรรถพล ซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุดคนที่ 11 ระหว่าง พ.ศ. 2556-2557 เป็นประธานคณะกรรมการอัยการคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของอัยการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562

นายอรรถพล ย้ำในท้ายบันทึกที่มีถึงอัยการสูงสุด ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ จึงใคร่ขอนำความเห็นของข้าพเจ้าตามบันทึกนี้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย”


อย่างน้อยที่สุด บันทึกนี้ ก็พอจะช่วยกู้หน้าองค์กรอัยการได้บ้างว่า ไม่ใช่องค์กรอิสระที่มีอิสระทำตามอำเภอใจ อุ้มกันเอง ช่วยเหลือพวกเดียวกันให้พ้นผิด โดยอ้างกฎระเบียบที่คนทั่วไปเข้าใจยาก เป็นเกราะคุ้มกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น