xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสูงสุด อำนาจอธิปไตยที่ 4

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



เราท่องจำกันมานานว่า อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย ประกอบด้วย 3 อำนาจคือ อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี และ อำนาจตุลาการคือ ศาล

สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน พิจารณาสั่งคดีขึ้นสู่ศาล และต่อสู้คดีในนามของรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐ ตามหลักนิติรัฐ

ในทางทฤษฎี อัยการสูงสุดอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติ คือ คณะกรรมการอัยการ เสนอชื่อผู้สมควรเป็นอัยการสูงสุด ให้วุฒิสภาเห็นชอบ

ในทางปฏิบัติ อัยการสูงสุดมีอิสระเต็มที่ในการสั่งคดี จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะอุทธรณ์ ฎีกา หรือไม่ คำสั่งของอัยการถือเป็นเด็ดขาด หลายๆ ครั้งก็ดูเหมือนจะมีอำนาจทางอ้อมเหนืออำนาจตุลาการด้วยซ้ำ เพราะถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ดังกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส กระทิงแดง” คดีไปไม่ถึงศาล เพราะถูกอัยการ “ตัดตอน” เสียก่อน

แม้กระทั่ง เมื่อคดีไปถึงศาลแล้ว อัยการก็ยังสามารถกำหนดได้ว่า จะให้คดีจบที่ศาลไหน ดังกรณีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถูก กรมสรรพากรกล่าวหาว่า หลบเลี่ยงการเสียภาษีหุ้นชินคอร์ป ศาลชั้นต้นตัดสินว่า มีความผิดลงโทษจำคุกคนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน และลดโทษนายบรรณพจน์ เหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท โทษจำให้รอลงอาญา ซึ่งอธิบดีศาลอุทธรณ์ในขณะนั้น ทำความเห็นแย้งว่า โทษเบาเกินไป เมื่อเทียบกับความผิดฐานโกงภาษีมูลค่า 273 ล้านบาท แต่อัยการสูงสุดตัดสินใจปิดคดี ไม่ยื่นฎีกาให้ถึงที่สุด

หรือคดีลูกชายคุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ถูกฟ้องคดีฟอกเงิน สินเชื่อแบงก์กรุงไทย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ยังเหลืออีก 2 ศาลที่อัยการจะสู้คดีได้ แต่กลับตัดโอกาสศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่ให้พิจารณาคดีนี้ ด้วยการไม่อุทธรณ์

คดีบอส กระทิงแดง แม้แต่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่มีโอกาสได้พิจารณาคดีเลย เพราะอัยการใช้อำนาจ “กึ่งตุลาการ” พิพากษาเองว่า พยานใหม่ซึ่งมาให้การหลังเกิดเหตุไปแล้ว 5 ปี น่าเชื่อถือกว่า พยานที่เป็นพนักงานสอบสวนที่ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ และพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไปตรวจที่เกิดเหตุทันที และการขับรถชนคนตาย ไม่เป็นความผิด เพราะขับไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงตัดสินว่า บอส ไม่ผิด ตัดอำนาจตุลาการออกไปจากคดีนี้ อย่างไม่เกรงใจ

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ จึงดูเหมือนว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจที่จะกำหนดว่า จะให้อำนาจตุลาการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีมากน้อยเพียงใด เป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มีอยู่จริง ใช้ได้ผลในกรณีบอส กระทิงแดง คือ เป็น มือที่มองไม่เห็นที่บงการกรรมาธิการ สนช. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินการไปในทิศทางที่ทำให้การสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ของอัยการเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย

ความเป็นอิสระของอัยการสูงสุด ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี ให้ปลอดจากอำนาจนักการเมือง และข้าราชการ ก่อนหน้านี้ นานมาแล้ว อัยการเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ปี 2534 อัยการพ้นจากการอยู่ใต้อำนาจกระทรวงมหาดไทย มาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้มีอิสระในการสั่งคดี มาถึงปี 2553 เกิดสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับใครเลย ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีคณะกรรมการอัยการเป็นองค์กรด้านการบริหารงานบุคคล มีอำนาจแต่งตั้งอัยการสูงสุด ส่งให้วุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบ

องค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ 15 คน ต้องเป็นหรือเคยเป็นอัยการถึง 13 คน อีก 2 คนไม่เคยเป็นอัยการก็ได้ แต่ต้องให้อัยการเลือก คือ ประธาน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของอัยการ รองประธานต้องเป็นอัยการสูงสุด และกรรมการต้องเป็นรองอัยการสูงสุด 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนซึ่งต้องเป็นหรือเคยเป็นอัยการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนไม่ต้องเป็นอัยการก็ได้ แต่ต้องให้อัยการเลือก

คณะกรรมการอัยการ จึงเป็นอาณาจักรของอัยการ 100% อัยการเลือกคนที่เป็นประธานเป็นกรรมการจากอัยการด้วยกันเอง เหมือนกับคณะกรรมการตุลาการของผู้พิพากษาซึ่งศาลเลือกกันเอง

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่ออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา แม้โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายเลย ขอเพียงรู้ผิดชอบชั่วดี ที่เห็นพ้องต้องกันว่า ขับรถชนคนตาย ต้องมีความผิด จะขับด้วยความเร็วเท่าไรก็แล้วแต่ แต่อัยการบอกว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จะเข้าใจได้ทันทีว่า การตัดสินใจของอัยการไม่เป็นอิสระ แต่โดยข้อกฎหมาย ไม่สามารถทำอะไรกับอัยการสูงสุดได้เลย เพราะคำสั่งของอัยการถือเป็นเด็ดขาด หากได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จำใจดูอัยการลอยนวลไปต่อหน้าต่อตา พร้อมกับบอส อยู่วิทยา

อัยการใช้เวลา 4 ปีกว่า ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องบอส ถูกต้องตามกฎหมาย นับตั้งแต่ เดือนมีนาคมปี 2559 ที่ พ.ต.ต.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็ว พลิกคำให้การให้ จากตอนแรกที่ระบุว่า บอสขับรถด้วยความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เปลี่ยนเป็น 79.23 กิโลเมตร/ชั่วโมง และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน บอส มอบหมายให้ทนายยื่นคำร้อง ขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย สนช.

ตลอดระยะเวลา 4 ปีนี้ ประชาชนถูกหลอกว่า คดีนี้ล่าช้าเพราะบอสหนีไปต่างประเทศ จับตัวมาขึ้นศาลไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว เป็น 4 ปีที่มีการทำคดีอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการทำคดีเพื่อไม่สั่งฟ้องบอส อยู่วิทยา ที่ต้องใช้เวลาวางแผน สั่งการเพื่อให้คำสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ของเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด และความเห็นไม่แย้งของพล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใครเอาผิดได้

อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ หวังว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น มีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ เป็นประธาน มีคณบดีคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่งร่วมเป็นกรรมการ จะชี้เบาะแสร่องรอยอาชญากร ผู้ก่ออาชญากรรมซ้อนอาชญากรรมให้สังคมได้รับรู้


กำลังโหลดความคิดเห็น