ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี “บอส – เรดบูล” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจตายแล้วหนีและอัยการสั่งไม่ฟ้องที่ถูกก่นจากทั้งโลกในเวลานี้ เข้าตำราบ้านไหนมีลูกเต้าประพฤติไม่ดีทำให้วงศ์ตระกูลพลอยเดือดร้อนถูกเกลียดชังจากสังคม และแม้ว่า บอส จะเป็นทายาทในสาย “เรดบูล” แต่ก็ทำให้สาย “กระทิงแดง” ถูกด่าฟรี ด้วยเพราะมีต้นกำเนิดมาจากสายโลหิตเดียวกัน ก่อนกลายเป็นน้ำแยกสาย ไผ่แยกกอในภายหลัง
หากเจ้าสัว “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรกระทิงแดง-เรดบูล มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ คงทุกข์ใจอย่างหนักจากพฤติกรรมของทายาทรุ่นหลานที่ถูกเลี้ยงดูแบบ “พ่อแม่รังแกฉัน” และเมื่อกระทำความผิดก็ยังได้รับโอบอุ้มไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี จนทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเสียหายย่อยยับ เยี่ยงนี้ “เจ้าสัวเฉลียว” ผู้ยึดถือคุณธรรมความสัตย์ซื่อ อ่อมน้อมถ่อมตน ไม่เคยได้ชื่อว่าใช้อิทธิพลและอำนาจเงินตราฟาดหัวใครจะยังคงนอนตายตาหลับไหม
กระแสความเกลียดชังจากสังคมที่ร้อนแรงทำให้เครือญาติบอสในสายกระทิงแดงทนนิ่งเฉยไม่ได้ ถึงกับทำจดหมายเปิดผนึกแสดงความเสียใจและเรียกร้องให้บอส ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำความผิด ขณะที่ก่อนหน้า กลุ่มธุรกิจทีซีพี เจ้าของเครื่องดื่ม “กระทิงแดง” ร่อนหนังสือแจงต่อสังคมว่าบอส ไม่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ แต่ก็ถูกโต้กลับว่าก็คนนามสกุล “อยู่วิทยา” ถือหุ้นอยู่นั่นไง กลายเป็นเรื่องอีรังตุงนัง เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และภาพลักษณ์กลุ่มบริษัทธุรกิจทั้งสายเรดบูลและกระทิงแดงติดลบเพราะหลานบอสหนีคดีแท้ๆ
มาแหวกสาแหรกตระกูล “อยู่วิทยา” กันเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ นายเฉลียว อยู่วิทยา (ล่วงลับไปแล้ว) มีภรรยา 2 คน มีทายาท 11 คน ภรรยาคนแรก คือ นางนกเล็ก สดสี มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ 1. เฉลิม อยู่วิทยา 2. สายพิณ พหลโยธิน 3. ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา 4. อังคณา อยู่วิทยา 5. รัญดา อยู่วิทยา
นายเฉลิม อยู่วิทยา ปัจจุบันดูแลผลิตภัณฑ์ RED BULL ซึ่งผู้เป็นพ่อบุกเบิกร่วมกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ นักธุรกิจชาวออสเตรีย จำหน่ายในยุโรป มาตั้งแต่ปี 2527 รวมทั้งยังก้าวเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ต เป็นผู้สนับสนุนทีมแข่งรถ Red Bull Racing ที่เคยคว้าแชมป์ฟอร์มูลา วัน และสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลเรดบูลรวม 5 แห่ง แถมเป็นผู้สนับสนุนรายการแข่งขันกีฬาประเภทเอ็กซตรีมมากมาย ปัจจุบันนายเฉลิม ถือหุ้นใน Redbull GmbH 51% ถือครองทรัพย์สินมูลค่า 6 แสน 6 หมื่นล้านบาท ร่ำรวยอยู่ในอันดับ 2 จาก 20 คน ในรายชื่อมหาเศรษฐีเมืองไทย
นายเฉลิม สมรสกับ นางดารณี แจ้งเจนกิจ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ วรางคณา อยู่วิทยา, วาริท อยู่วิทยา และ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ผู้ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในเวลานี้
ส่วนภรรยาอีกคนของนายเฉลียว อยู่วิทยา คือ นางภาวนา หลั่งธารา มีลูก 6 คน คือ 1. สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา 2. จิราวัฒน์ อยู่วิทยา 3. ปนัดดา อยู่วิทยา 4. สุปรียา อยู่วิทยา 5. สราวุฒิ อยู่วิทยา 6. นุชรี อยู่วิทยา
รายชื่อผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัททีซีพี ทั้ง 7 คน คือ สายของภรรยาคนที่สอง นางภาวนา หลั่งธารา
สำหรับกลุ่มธุรกิจทีซีพี มีนางภาวนา เป็นประธานกรรมการ และกิจการส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารของนายสราวุธ อยู่วิทยา ลูกชายของนายเฉลียว ที่เกิดกับนางภาวนา
ขณะที่ธุรกิจที่นายเฉลิม อยู่วิทยา พ่อของบอส บริหารอยู่ในประเทศไทย คือ บริษัท สยาม ไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มสปาย ไวน์คูลเลอร์ ไวน์ Monsoon Valley เครื่องดื่มแอปเปิลไซเดอร์ แบรนด์ MOOSE และธุรกิจอื่นๆ ที่นายเฉลิม-นางดารณี อยู่วิทยา เป็นผู้ถือหุ้นอีกกว่าสิบบริษัท
สรุปว่า นายเฉลียว อยู่วิทยา แบ่งมรดกเป็น 2 ส่วน กระทิงแดงในประเทศไทยซึ่งบริหารในนามกลุ่มธุรกิจ TCP ยกให้ลูกสายนางภาวนา หลั่งธารา ภรรยาคนที่ 2 ส่วน Redbull ในต่างประเทศยกให้นายเฉลิม อยู่วิทยา ลูกชายคนโตของนางนกเล็ก สดสี ภรรยาคนแรก
แต่กระแสที่จุดติดกันในโลกโซเซียล ก็คือ #SaynoToRedbull หรือแบนกระทิงแดง ทำให้ค่ายกระทิงแดง และทายาทของตระกูล “อยู่วิทยา” ในสายของภรรยาคนที่สองและภรรยาคนแรกของนายเฉลียวด้วยนั้น เดือดร้อนถูกกระแสสังคมบอยคอตไปด้วย
จดหมายเปิดผนึกของตระกูลอยู่วิทยา นอกจากทายาทที่เกิดจากนางภาวนา จะมากันครบแล้ว ยังมีพี่น้องที่เกิดจากนางนกเล็ก ลงชื่ออยู่ด้วย คือ สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา) และศักดิ์ชาย อยู่วิทยา สรุปง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นพี่น้องลูกหลานต่างแม่แต่มาจากพ่อหรือปู่-ตาที่ชื่อ “เฉลียว” เหมือนกัน และได้รับเดือดร้อนจากการถูกสังคมประณามหยามเหยียดไม่ต่างกัน
ตามจดหมายเปิดผนึกจากพี่น้องอยู่วิทยา ระบุว่า จากกรณีข่าวของคุณวรยุทธ อยู่วิทยา พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูง ที่ข่าวของบุคคลในครอบครัวได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พวกเราไม่อาจจะปฏิเสธความสัมพันธ์ของการเป็น “อยู่วิทยา” คนหนึ่งของคุณวรยุทธได้ อย่างไรก็ตาม พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาก็ขอเรียนให้ทุกท่านทราบด้วยความจริงใจว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันเกิดเหตุครอบครัวคุณวรยุทธ ไม่ได้หารือหรือบอกเล่าการตัดสินใจหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับพี่น้องเลย
และพวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของคุณวรยุทธ ที่เราติดตามจากข่าว แต่พี่น้องก็ไม่เคยออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ด้วยเพราะให้เกียรติครอบครัวของคุณวรยุทธ และคาดหวังว่าครอบครัวของคุณวรยุทธ จะทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด แต่ในวันนี้กระแสทางลบที่มากระทบกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีมากจนเกินกว่าจะแบกรับเหมือนทุกครั้งได้ทำให้เราจำเป็นต้องออกจดหมายฉบับนี้
พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยืนยันว่า พวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย และยึดมั่น ในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน พี่น้องทุกคนขอเรียกร้อง ให้คุณวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจ ให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชน ให้เร็วที่สุด และดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม
พี่น้องทุกคนขอแสดงจุดยืนของครอบครัวอยู่วิทยา จุดยืนที่พวกเรายึดถือและปฏิบัติมาตลอด คือการเดินตามปณิธาน และคำสอนของ คุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้เป็นพ่อและเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิต ที่สอนให้พวกเรายึดมั่นในการกตัญญูต่อแผ่นดิน โดยพี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมไทย ตามวิถีและปณิธานที่คุณเฉลียวได้วางไว้ต่อไป
ด้วยความเคารพ และเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสูงสุด ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ลงชื่อ พี่น้องอยู่วิทยา สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา), ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา นุชรี อยู่วิทยา
การขอความเข้าใจและเห็นใจจากสังคมของพี่น้องอยู่วิทยาคราวนี้ เรียกได้ว่า “เป็นงาน” มากกว่าคราวที่กลุ่มบริษัท TCP ออกมาปฏิเสธว่าบอสไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับกลุ่มบริษัททีซีพี ซึ่งแม้ว่าข้อเท็จจริงในแง่ผู้ถือหุ้นจะเป็นแช่นนั้น แต่ความที่เป็น “อยู่วิทยา” จึงทำให้ตัดยังไงก็ตัดไม่ขาด
จากแหวกสาแหรก “อยู่วิทยา” มาดูกันต่อว่า เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา สร้างอาณาจักรกระทิงแดงและเรดบูล จากเสื่อผืนหมอนใบไต่เต้าไปสู่อาณาจักรธุรกิจข้ามชาติหลายแสนล้านได้อย่างไร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ออนไลน์ เขียนถึง “6 ทศวรรษ อาณาจักร “กระทิงแดง” เผยแพร่เดือนกรกฎาคม 2020 เอาไว้ว่า อาณาจักรธุรกิจแสนล้านของตระกูลอยู่วิทยา เริ่มต้นเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เมื่อ “เฉลียว อยู่วิทยา” เซลล์ขายยาตัดสินใจตั้งบริษัทขายยา หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2499 โดยเช่าตึกในซอยรามบุตรี ถนนข้าวสาร เป็นที่ตั้งบริษัท และคิดค้นสูตรยาให้โรงงานผลิตยาในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต เช่น เอ็นโดทาลีน (แก้ท้องเสีย) อลูแม็ก (แก้ปวดท้อง)
ต่อมา เฉลียวตั้งโรงงานผลิตยาที่ตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ชื่อ บริษัท ที.ซี.มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และพัฒนายาตัวใหม่ วางขายภายใต้ชื่อ “ทีซี มัยซิน” ทั้งยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้ฝีหนอง ยาหยอดหู ยาหยอดตา
เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ช่วงปี 2511-2520 หจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล ย้ายโรงงานผลิตยาจากตรอกสาเก มาตั้งที่ถนนเอกชัย เขตบางบอน และเริ่มขยายกลุ่มสินค้าจาก “ยา” สู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ โดยเริ่มต้นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ “แท็ตทู” และคิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ” (100 CC) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กระทิงแดงคู่” ทำให้ผู้บริโภคเรียกขานกันติดปากว่า “เครื่องดื่มกระทิงแดง” และเกิด “เครื่องดื่มกระทิงแดง” (1500 CC) ในเวลาต่อมา
เฉลียว ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบถึงลูกถึงคนผ่านแคมเปญ “กระทิงแดง ซู่ซ่า ซู่ซ่า” ทั้งลด แลก แจกแถม มีกิจกรรมรับแลกฝา แลกเสื้อกระทิงแดง กระทิงแดงเม็ด สบู่ แฟ๊บ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทย ที่คิดและทำกิจกรรมในรูปแบบนี้ รวมทั้งการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ จนกระทิงแดงติดตลาดอย่างรวดเร็ว
จากความสำเร็จของ “เครื่องดื่มกระทิงแดง” ในประเทศไทย ทำให้เจ้าพ่อชูกำลังเห็นโอกาสเจาะตลาดต่างประเทศและเริ่มนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย ทั้งในตลาดเอเชียและยุโรป
ปี 2521 เริ่มต้นทศวรรษที่ 3 เฉลียวตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ยี่ห้อ “เรดบูล (Red Bull)” ต่อมาจับมือกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ นักธุรกิจชาวออสเตรีย ตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ในประเทศออสเตรีย โดยเฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ดีทริช 49% วางจำหน่าย “เรดบลู” ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกัน บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่พร้อมดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า “สปอนเซอร์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้น ที่ไม่ต้องนำเกลือแร่แบบซองมาผสมน้ำ
ปี 2531 เข้าสู่ทศวรรษที่ 4 เฉลียว เร่งเดินหน้าบุกตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย โดยจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายและทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ
ปี 2539 ตั้งบริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด นำนวัตกรรมตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากประเทศญี่ปุ่น มาติดตั้งตามโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมา ในปี 2541 ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จากเขตบางบอน กรุงเทพฯ ไปยังอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่ และช่วงระหว่างปี 2541-2550 ถือเป็นทศวรรษที่ 5 ที่ “กระทิงแดง” รุกขยายตลาดเครื่องดื่มอย่างกว้างขวาง มีสินค้ามากขึ้น จนต้องเปิดตัวบริษัท เดอเบล จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร
ปี 2555-2560 ช่วงเปลี่ยนผ่านขบวนการต่างๆ จากยุคเจเนอเรชั่น 1 สู่เจน 2 ที่มีพี่น้อง 2 แม่ รวมกัน 11 คน จากเดิม เฉลิม อยู่วิทยา ลูกชายคนโตของเฉลียวกับภรรยาคนแรก นางนกเล็ก สดศรี เป็นประธานบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ดฯ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดูแลตลาดในภาคพื้นยุโรป เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด และอีกกว่า 20 บริษัทในเครือ ขณะที่ทายาทคนอื่นๆ ดูแลธุรกิจต่างๆ ในเครือ
ส่วน สราวุฒิ อยู่วิทยา ลูกชายของเฉลียวกับภรรยาคนที่สอง ภาวนา หลั่งธารา รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เน้นเจาะตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยมีทายาทคนอื่นๆ กระจายดูแลธุรกิจต่างๆ ในเครือ
แต่เมื่อจังหวะเวลาบวกกับการแข่งขันในสงครามธุรกิจเครื่องดื่ม กลุ่มกระทิงแดงไม่ได้ต้องการเติบโตเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” จึงมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ภายใต้ชื่อใหม่ “TCP” เพื่อผลักดันทุกแบรนด์ในเครือทั้ง 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน ได้แก่ กระทิงแดง กระทิงแดง G2 และกระทิงแดง G3 เรดบูลเอ็กซ์ตร้า และเรดดี้, กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ สปอนเซอร์ และไลฟ์บายสปอนเซอร์, กลุ่มเครื่องดื่มฟังชันนัล แมนซั่ม และแมนซั่มฟรุตโซดา, กลุ่มชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้ เพียวริคุ และริคุ กลุ่มผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน ซันสแนค และซันสแนคแซ่บ และกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นรส (Flavor) หรือหัวเชื้อผลิตเครื่องดื่มเรดบูลและกระทิงแดงที่มีจำหน่ายทั่วโลก
ปี 2560 กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงเปิดแถลงข่าวใหญ่หลังสิ้น “เฉลียว อยู่วิทยา” เจ้าพ่อธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” กว่า 5 ปี (เฉลียว เสียชีวิต 17 มีนาคม 2555) เปิดโครงสร้างใหม่ในยุคเจนใหม่ โดย สราวุฒิ อยู่วิทยา ก้าวขึ้นมานั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีนางภาวนา เป็นประธานบริษัท และลูกๆ ทั้ง 6 คนถือหุ้น คือ สุทธิรัตน์ จิรวัฒน์ ปนัดดา สุปรียา สราวุฒิ และนุชรี โดยดึง 4 บริษัทเข้ามาบริหาร
กลุ่ม TCP ประกอบด้วย บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวของกลุ่ม, บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม, บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และบริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม และรับจ้างจัดจำหน่ายให้แบรนด์อื่นๆ
บริษัทวางแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2561-2565) ใช้เม็ดเงินรวม 10,000 ล้านบาท ใน 3 ส่วน คือ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า ขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าเครื่องดื่มกว้างขวางและหลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัยมากขึ้น รวมทั้งวางแผนเปิดสำนักงานแห่งใหม่ หรือโรงงานแห่งใหม่ในประเทศต่างๆ อย่างน้อยปีละ 1 แห่งใน 1 ประเทศ เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นเฮาส์แบรนด์ ผลิตสินค้าและสร้างแบรนด์ที่ทรงพลัง การมีสำนักงานในประเทศต่างๆ จะช่วยให้เข้าใจความต้องการ ความชอบ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศดียิ่งขึ้น
ตามแผนทั้งหมด สราวุฒิ ตั้งเป้าผลักดันสินค้าทุกแบรนด์เติบโต เพื่อเร่งสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มเป็น 80% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท และสร้างตลาดในประเทศ รักษาระดับยอดขายอยู่ที่ 40% โดยสินค้าส่งออกมีทั้งกระทิงแดง แมนซั่ม และสปอนเซอร์ ซึ่ง 2 รายการหลังสัดส่วนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชูกำลัง
ส่วนแบรนด์ Red bull เกิดขึ้นจากการร่วมหุ้นระหว่างนายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Mr.Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย จัดตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นในประเทศออสเตรีย เพื่อทำตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉลียวและครอบครัวถือหุ้นสัดส่วน 51% ส่วน ดีทริช ถือหุ้น 49% เริ่มทำตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2530 จนบัดนี้ ทำให้แบรนด์ Red Bull กลายเป็นสินค้า European Brand ทำตลาดไปทั่วโลกถึง 171 ประเทศ
อาจกล่าวได้ว่า แบรนด์กระทิงแดงและ Red Bull แยกกันบริหารอย่างเด็ดขาดหลังจากการเสียชีวิตของเจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา แต่เมื่อเกิดคดีบอสขับรถชนตำรวจแล้วหนี อัยการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ว่า “อยู่วิทยา” สายไหน ต่างอยู่ไม่เป็นสุข เพราะคดีของ “หลานบอส” เป็นต้นเหตุโดยแท้