xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โตไม่สะดุด...แต่ยังไม่สุด “ธปท.” ดัน “สินเชื่อดิจิทัล” ดึงลูกหนี้เข้าระบบ คุมดอกเบี้ยโหด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) หรือการให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ในเมืองไทยแม้เติบโตต่อเนื่องแต่ยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งปัจจัยการเติบโตต้องอาศัยการเข้าถึงข้อมูลและการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลประกอบกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไม่มีข้อมูลเครดิตลูกค้าที่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยง ส่งผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงลูกค้ารายใหม่ที่มีรายได้แน่นอน หรือมีรายการเดินบัญชีที่ชัดเจนเป็นหลัก


 สินเชื่อดิจิทัลมักทำการอนุมัติวงเงินขนาดเล็ก ระยะเวลากู้ยืมแบบสั้น 1-3 เดือน และคิดดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการเงินฉุกเฉินเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือใช้หมุนเวียนในกิจการขนาดเล็ก ทำให้ตลาดสินเชื่อดิจิทัลในไทยมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ประเมินว่า ปี 2563 ตลาดสินเชื่อดิจิทัลทั้งระบบจะมียอดคงค้าง 12,000-12,500 ล้านบาท หรือ 0.2% ของยอดคงค้างสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด 


อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดสินเชื่อดิจิทัลในไทย เนื่องจากมีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ ประกอบกับพฤติกรรมของคนไทยที่มีความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เป็นหลักและมีความคุ้นชินในการใช้แอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์มาในระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังมีการจับคู่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง E-Marketplace หรือ Online Food Delivery รายใหญ่ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารรายย่อยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีได้เปรียบในการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อดิจิทัลไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื้อเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ ได้มากขึ้น จากเดิมประเทศไทยส่วนมากเป็นหนี้นอกระบบเพราะเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในเเบบเดิมของธนาคาร ขณะเดียวกันภาครัฐหันมาให้ความสนใจกับการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ธปท. จะออกกรอบอนุญาตในการทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ ไม่จำกัดว่าต้องมีสลิปต์เงินเดือนอย่างเดียวในการยื่น สามารถใช้หลักฐานอื่นแบบ Alternative Data ซึ่งตอบโจทย์ของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เทคโนโลยีพิสูจน์รายได้ของผู้กู้และนำมาเป็นหลักฐานการเงิน

ทั้งนี้ สินเชื่อดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามที่กล่าวในข้างต้นเป็นสินเชื่อดิจิทัลในบริบททั่วไป ที่มีความแตกต่างกับสินเชื่อดิจิทัลในบริบทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ที่ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านรายได้หรือยอดขาย เพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ อาทิ ข้อมูลชำระค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มผู้เล่นในบริบทนี้ เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อดิจิทัล

ล่าสุด ธปท. เตรียมประกาศใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อดิจิทัลในเดือน ส.ค. 2563 เป็นสินเชื่อประเภทใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นแทนการกู้นอกระบบ

เบื้องต้น กำหนดวงเงินสินเชื่อดิจิทัลที่ 20,000 บาท ระยะเวลาชำาระคืนไม่เกิน 3 เดือนให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายสามารถให้วงเงินสินเชื่อดิจิทัลต่อลูกค้า 1 ราย ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาการชาระคืนสินเชื่อดิจิทัลไม่เกิน 3 เดือนหลังจากที่ลูกค้าเบิกถอนยอดสินเชื่อ
อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการปล่อยสินเชื่อจะทำให้ต้นทุนดำเนินการ (Operating cost) ลดลงได้ รวมทั้งทำให้สามารถพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้ถูกต้องมากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินเชื่อดิจิทัลประเภทใหม่ เช่น พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักฐานเพื่อพิสูจน์รายได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

โดยทาง ธปท. กำหนดเพดานดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ (Effective rate) ของสินเชื่อดิจิทัลที่ 28% ต่อปี สอดคล้องกับความเสี่ยง และไม่เป็นภาระของลูกค้ามากเกินไป โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ปกติพึ่งพาหนี้สินนอกระบบ

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้วิเคราะห์สินเชื่อ ผู้ประกอบการต้องแบ่งแยกลูกหนี้ตามความเสี่ยง และสะท้อนประโยชน์กลับให้แก่ลูกค้าในรูปแบบวงเงินหรืออัตราดอกเบี้ย ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมใดๆ สำหรับ กรณีลูกค้าไถ่ถอนสินเชื่อดิจิทัลก่อนกำหนดทั้งจำนวนหรือบางส่วน (ห้ามเก็บ Prepayment fee)

นายอิทธิกร พ่วงโกศล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านบทความเรื่อง “Digital Lending ทางเลือกของโอกาส” เกี่ยวกับพัฒนาการของสินเชื่อดิจิทัล สร้างให้เกิดการสร้างบริการที่ถือเป็นทางเลือกของโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน(Financial Inclusion ) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.mgronline.com ความว่า

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบการกู้ยืมเงิน (Lending) ได้ถูกพัฒนาไปมาก การประเมินความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้โดยดั้งเดิมนั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มักพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความสามารถในการชำระหนี้ (Ability to Repay) และความตั้งใจในการชำระหนี้ (Willingness to Repay) ซึ่งล้วนถูกสะท้อนมาจาก Credit Score ที่เป็นคะแนนจากการพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลต่างๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา หน้าที่การงาน ประวัติการขอสินเชื่อ และพฤติกรรมการชำระเงินคืนในอดีต ทั้งนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่ง อาจมีเกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของแต่ละปัจจัยที่จะให้ความสำคัญ

อ้างอิงจากผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ธปท. พบว่าปัจจุบันในเมืองไทยมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ฝาก กู้ โอน และชำระเงิน ได้อย่างครบถ้วน (Unserved and Underserved) เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 40 ของคนทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 27.6 ล้านคน และหากเจาะลึกลงไปถึงบริการกู้เงิน จะพบว่าคนจำนวนกว่าร้อยละ 25 หรือประมาณ 17 ล้านคนของทั้งประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่ให้บริการโดยสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร และมีหน่วยงานภาครัฐควบคุมดูแลได้

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนเกือบครึ่งของประเทศกำลังถูกคัดออกจากระบบการให้บริการทางการเงิน ซึ่งมีสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นการขาดความรู้ทางการเงิน มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ประจำสม่ำเสมอ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินได้ คำถามที่สำคัญคือ คนเกือบครึ่งประเทศที่ถูกคัดออกไปนั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีคุณสมบัติจริงๆ หรือไม่ และเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถได้รับทางเลือกของโอกาส ที่จะเข้าถึงบริการทางการเงินได้

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความพยายามในการสร้างให้เกิด Financial Inclusion หรือการสร้างบริการที่ถือเป็นทางเลือกของโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบถ้วนและทั่วถึง ซึ่งสำหรับบริการการขอกู้สินเชื่อนั้น จากการรวบรวมกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พบว่า มี 2 ปัจจัยที่สามารถสร้างให้เกิด Financial Inclusion นั้นได้แก่ การประเมินเครดิตของผู้กู้โดยการใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่ประกอบการพิจารณา (Information-based Lending) ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของแนวทาง Information-based Lending คือ การใช้คะแนนเครดิตทางเลือก (Alternative Credit Score) ที่มีแนวคิดมาจากการใช้ข้อมูลพฤติกรรมทางสังคมเป็น ตัวประเมินความเสี่ยงของผู้ขอกู้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมบน Social Media หรือพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ วิเคราะห์พฤติกรรมเรียนรู้โดยสร้างแบบจำลองข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมา (Machine Learning ) ที่จะช่วยให้ประเมินผู้กู้ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

และการสร้างช่องทางออนไลน์สำหรับ การให้บริการขอกู้สินเชื่อ (Digital Lending) ที่เอื้อให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และโปร่งใส ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดการสร้างบริการที่ถือเป็นทางเลือกของโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบถ้วน โดยรูปแบบของ Digital Lending ทั่วโลกในปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างกฎระเบียบข้อบังคับในแต่ละแห่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น